19 กรกฎาคม 2567 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และ โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ได้ให้นโยบายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย รวมถึงหน่วยงานภายใต้การกำกับในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเชิงรุก
ล่าสุด กระทรวงมหาดไทย ได้คิกออฟนำร่องโครงการตรวจคัดกรองสารเสพติดในบุคลากรของหน่วยงาน “มหาดไทยสีขาว สร้างพื้นที่ปลอดภัย หยุดยั้งยาเสพติด Safe zone no drugs” โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 67 ซึ่งการตรวจในบุคลากรกลุ่มแรกๆ จะเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจและเตรียมความพร้อมกำลังคนที่จะไปเป็นผู้ดำเนินการตรวจสารเสพติดบุคลากรมหาดไทยทั่วประเทศ และของหน่วยงานอื่นๆ ที่จะเข้ารับการตรวจโดยความสมัครใจ
สำหรับการสมัครใจตรวจปัสสาวะเพื่อคัดกรองสารเสพติด เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่กระทรวงมหาดไทยประกาศจะต่อสู้กับยาเสพติดอย่างเข้มข้นที่ประกอบด้วยหลายมาตรการ ซึ่งหากในการคัดกรองนั้นพบว่าเป็นผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ก็จะนำสู่กระบวนการบำบัดรักษา แต่หากเป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ก็จะได้รับการยอมรับและเกิดเป็นสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่หน่วยงานต่อไป
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า พร้อมกับการดำเนินการภายในแล้วระยะต่อไปจะเป็นการขยายไปยังหน่วยงานอื่นด้วย โดยเร็วๆ นี้ กระทรวงมหาดไทยจะทำความตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ 2 กระทรวงใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับบุคลากร เยาวชน นักศึกษาจำนวนมากคือ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เพื่อดำเนินการคัดกรองสารเสพติดภาคสมัครใจ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง จะสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่ซึ่งผ่านการคัดกรอง แสดงความบริสุทธิ์ใจ โปร่งใสแล้วเข้าสนับสนุนการตรวจของแต่ละหน่วยงานตามกรอบอำนาจหน้าที่
“มหาดไทย ศึกษาฯ และ อว. เราได้หารือและเห็นพ้องร่วมกัน ว่าขณะนี้ยาเสพติดเป็นภัยอันตราย ส่งผลร้ายกับการพัฒนาและความมั่นคงประเทศ นอกจากการปราบปรามแล้วต้องใช้มาตรการป้องกันเข้าไปจัดการ สร้างภูมิคุ้มกันลดจำนวนผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด โดยเฉพาะผู้เสพหน้าใหม่ หรือ New Face ซึ่งเป็นเด็ก เยาวชนในระบบการศึกษา และการทำ MOU กับทั้ง 2 หน่วยงานที่ดูแลสถานศึกษาไม่ว่าจะเป็น โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัยจะทำให้ดำเนินมาตรการนี้ได้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือตาม MOU นอกจากทุกหน่วยงานจะสนับสนุนบุคลากรให้เข้าร่วมการตรวจคัดกรองสารเสพติดภาคสมัครใจแล้ว ยังจะดำเนินการด้านอื่นๆ อาทิ การประกาศนโยบายสร้างภูมิคุ้มกัน และการป้องกันการเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม สร้างความตระหนักต่อโทษภัยของยาเสพติด ส่งเสริมบทบาทความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการแก้ไขปัญหาในทุกมิติ