สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC พร้อมด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) หาแนวทางความร่วมมือเพื่อส่งเสริมงานวิจัย พัฒนากำลังคน และผลักดันงานวิจัยด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ลดความสูญเสียจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่มีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี
พร้อมตกลงจับมือทำโครงการ Thailand Grand Challenge ในหัวข้อการป้องกันภัยหลอกลวงออนไลน์ ที่จะนำผลวิจัยไปสู่การใช้งานจริง โดยมีเป้าหมายระยะ 3 – 5 ปี คือการลดความสูญเสียจากการถูกหลอกลวงทางไซเบอร์และลดการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศให้ได้มากที่สุด
นายศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC เปิดเผยว่า PDPC พร้อมด้วย วช. และ สกมช. ร่วมกันหารือความร่วมมือด้านการส่งเสริมการและสนับสนุนการพฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมกรรมด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อแก้ปัญหาสำคัญของประเทศที่ประชาชนโดนหลอกลวงทางไซเบอร์ โดยในแต่ละปีมีความเสียหายจากอาชญากรรมทางไซเบอร์เป็นมูลค่ามากกว่า 30,000 ล้านบาท
ปัจจุบันประเทศไทยยังพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เช่น แอปพลิเคชันระบุหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่รู้จักและกรองสายที่น่าสงสัยด้วยระบบ ai อัจฉริยะ หรือแอปพลิเคชันในการเข้ารหัสข้อมูลเพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหล ซึ่งนักวิจัยไทยก็มีความสามารถในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ขึ้นมาเองได้ และอาจจะพัฒนาให้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดใช้ฟรี นอกจากเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเทคโนโลยีต่างประเทศแล้ว ประชาชนยังสามารถมั่นใจได้ว่าไม่ไดเป็นแอปหลอกลวงดูดข้อมูลส่วนบุคคลหรือดูดเงิน นอกจากนี้ PDPC ยังมีกพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐ เพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Government Platform for PDPA Compliance: GPPC) ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
นายศิวรักษ์ กล่าวอีกว่า ในการหารือกันระหว่าง 3 หน่วยงานครั้งนี้ ยังได้หาแนวทางในการร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมงานวิจัย พัฒนากำลังคน และผลักดันงานวิจัยด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยทั้งสามหน่วยงานได้มีข้อตกลงที่จะเริ่มโครงการ Thailand Grand Challenge ในหัวข้อการป้องกันภัยหลอกลวงออนไลน์ โดยมีเป้าหมายระยะ 3 – 5 ปี คือลดการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลและลดความสูญเสียจากการถูกหลอกลวงออนไลน์ให้ได้มากที่สุด ด้วยการสนับสนุนให้มีการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้งานจริงในการช่วยป้องกันภัยหลอกลวงออนไลน์ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรและส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยออนไลน์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้แก่ประชาชนทุกภาคส่วนต่อไป