รมช.พณ. นภินทร ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดงานกิจกรรม “กรมการค้าภายในเชื่อมโยงการรับซื้อมังคุด @ นครศรีธรรมราช”
นำห้างค้าส่ง-ค้าปลีก ผู้รวบรวม ผู้ส่งออก โรงงานแปรรูป สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ผู้ประกอบการท้องถิ่น 16 ราย ร่วมทำสัญญาซื้อมังคุดล่วงหน้าจากเกษตรกร กว่า 40 กลุ่ม 7 จังหวัด 21 อำเภอ 30 ตำบล ปริมาณกว่า 31,000 ตัน สร้างความมั่นใจให้เกษตรกร ผลผลิตมีที่ขาย และได้ราคาดี
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2567 ณ วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ตำบลทอนหงส์ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า
ได้รับมอบหมายจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นประธานการจัดกิจกรรม “กรมการค้าภายในเชื่อมโยงการรับซื้อมังคุด @นครศรีธรรมราช”
โดยนำผู้ประกอบการ 16 ราย มาทำสัญญาซื้อขายมังคุดกับสถาบันเกษตรเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดในจังหวัดนครศรีธรรมราช ชุมพร สุราษฎร์ธานี พังงา และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส
โดยนายนภินทรฯ กล่าวว่า “ผมยินดีมากที่ได้กลับลงมาภาคใต้อีกครั้ง โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช ผมเองก็เป็นลูกหลานชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ผูกพันกับคนใต้ ยินดีที่ได้มาจัดกิจกรรมเชื่อมโยงการรับซื้อมังคุดในวันนี้
ด้วยกระทรวงพาณิชย์มีความห่วงใยเกษตรกร โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรของประเทศไทย ซึ่งภาคใต้เองมีสินค้าหลายอย่างที่เป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญไม่ว่าจะเป็น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน พืชผักผลไม้ ในส่วนของราคายางนั้นคงไม่ต้องเป็นห่วง ถือว่าราคานั้นไปได้ดี
แต่อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์ก็ให้ความสำคัญ โดยเราหาตลาดต่างประเทศเพิ่มเติม และเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการแปรรูป เช่น ชิ้นส่วนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อดึงราคายางพาราไม่ให้ตก
ในขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ก็ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ปาล์มน้ำมัน ซึ่งปัญหาคือ ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งทำให้ผลผลิตปาล์มสุขไว แต่ผลข้างในยังไม่สุก ทำให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันของผลปาล์มลดลง กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายใน ก็ลงมาพูดคุยกับเกษตรกร ลานเท โรงสกัด ซึ่งทำให้เกษตรกรพอใจ
ในส่วนของผลไม้ภาคใต้มีหลากหลายชนิด กระทรวงพาณิชย์ ก็มีหลายมาตรการเพื่อดึงราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะผลไม้ โดยเราจะดึงปริมาณส่วนเกินของผลผลิต โดยใช้มาตรการต่างๆ อย่างเหมาะสม อย่างเช่น ทุเรียน ปัจจุบันราคาขึ้นไป 170 – 180 บาทต่อกิโลกรัม
ซึ่งจากที่ผมเดินทางไปยังประเทศเวียดนามและประเทศจีนเพื่อดูแลเรื่องของการขนส่งทุเรียนไปยังประเทศจีน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งผลทำให้ผลผลิตทุเรียนของประเทศไทย เข้าสู่ประเทศจีนได้เร็วขึ้น และเป็นที่น่าดีใจของเกษตรกรไทยที่ตลาดที่สำคัญในประเทศจีน มีผลผลิตทุเรียนของประเทศไทยเป็นหลัก และเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคในจีนอย่างมาก
ในส่วนของมังคุด ปริมาณ 320,000 ตัน ถือว่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ส่วนที่เพิ่ม เป็นผลผลิตในภาคตะวันออก ส่วนของภาคใต้ปริมาณ 141,000 ตัน คิดเป็นประมาณ 46% ถือว่าไม่ได้มากกว่าปีที่แล้ว และในภาพรวมจังหวัดนครศรีธรรมราช มีผลผลิตเพิ่มขึ้น 5% กระทรวงพาณิชย์จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ราคามังคุดไม่ตก
สิ่งแรกคือเราดึงห้างค้าปลีก-ค้าส่ง ใหญ่ ๆ มาทำข้อตกลงซื้อขายมังคุดล่วงหน้า จำนวน 32,000 ตัน หรือประมาณ 22% ของปริมาณมังคุดภาคใต้ที่ออก ซึ่งเทียบกับปีที่แล้วเราทำอยู่เพียง 27,000 ตันปีนี้เราเพิ่มขึ้น 6% เพราะเราคาดการณ์ว่าอย่างไรก็ต้องดึงราคาให้สูงขึ้น และเราจะทำลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง
และที่สำคัญไม่เพียงแต่ทำข้อตกลงดังกล่าว เรายังมีกิจกรรมในการดูดซับผลผลิตและเพิ่มการบริโภคด้วยการนำรถโมบายสินค้าเพื่อนำมังคุดของชาวสวนในพื้นที่ไปยังผู้บริโภค และยังมีการนำกล่องใส่ผลไม้เพื่อขนส่ง จาก 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน จำนวน 120,000 ใบ
โดยเฉพาะในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 35,000 ใบ และขนส่งฟรีไปยังถึงมือผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคได้รับมังคุดที่สด แต่หากปริมาณมังคุดออกมาเยอะกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้ราคาตกต่ำ จึงจะเปิดจุดรับซื้อ ซึ่งที่คาดการณ์ไว้คืออำเภอฉวาง โดยจะดึงผู้รวบรวมมาตั้งจุดรวบรวมโดยเฉพาะชาวสวนรายย่อยเป็นหลัก และถัดมาอยู่ที่อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช
นอกจากนี้ นายนภินทร ยังกล่าวต่อว่า “กระทรวงพาณิชย์เองจะเร่งดำเนินการเพื่อให้มังคุดส่งออก มีราคาต่อกิโลกรัมไม่น้อยกว่า 65 – 70 บาท ส่วนมังคุดตกเกรด ลูกเล็ก ลูกดำ ให้พี่น้องเกษตรกรได้ขายในราคาไม่น้อยกว่า 30 บาท ต่อกิโลกรัม ความห่วงใยของกระทรวงพาณิชย์ที่มีความผูกพันพี่น้องเกษตรกรและเป็นหน้าที่ของเรา
และนอกจากนี้ ยังมีส่วนงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เป็นกำลังสำคัญ ได้แก่ กระทรวงแรงงานโดย เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ท่านอารี ไกรนรา ที่ช่วยเหลือดูแลพี่น้องเกษตรกรมาโดยตลอด โดยเฉพาะราคาผลผลิตสินค้าเกษตร และส่วนราชการ กลุ่มพันธมิตรต่างๆ
อย่างวันนี้ มีพันธมิตรที่สำคัญของกระทรวงพาณิชย์ ได้แก่ ผู้ประกอบการที่เข้ามาทำสัญญาซื้อขาย ในครั้งนี้ จำนวน 16 ราย ประกอบด้วย ห้างค้าส่ง-ค้าปลีก ได้แก่ Tops, Go Wholesale, The Mall, Makro, Lotus และ Big C ผู้รวบรวม ได้แก่ บจก.วาย โช ฟรุ๊ต, บจก.เอฟแอลเอ็น กู๊ดส์, ผู้ส่งออก ได้แก่ บจก.มาตา เทรดดิ้ง, บจก.เอ็มที ฟรุ๊ตแลนด์ และบจก.มิสเตอร์ฟรุ๊ตตี้
โรงงานแปรรูป ได้แก่ บจก.สตูดิโอ จี บาร์ และบจก.นานาฟรุ๊ต และยังมีผู้ประกอบการท้องถิ่น ได้แก่ บจก.สุชาตินครโกลเบิล ฟรุ๊ต, บจก.นครไทยผลไม้ 88 และคีรีวง OTOP นครศรีธรรมราช
นอกเหนือจากการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแล้ว สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ได้แก่ PT, PTT, Bangchak, Shell และซัสโก้ กว่า 1,111 สาขา จะเข้ามาช่วยในการกระจายผลผลิตอีกว่า 2,000 ตัน
นอกจากนี้ เพื่อนำมังคุดจากเกษตรกร ส่งถึงมือผู้บริโภคโดยตรง เราได้รับความร่วมมือจาก บริษัท ไปรษณีย์ไทย สำหรับจัดส่งผลไม้ให้กับทางตัวแทนจังหวัดข้างต้น เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับเกษตรกร เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกรในการจำหน่ายผลไม้“
“ผมขอขอบคุณทุกภาคส่วน ทั้งส่วนราชการและเอกชนที่ให้ความร่วมมืออย่างดีมาโดยตลอด ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่พี่น้องเกษตรที่จะได้ขายผลผลิตของตัวเองได้มีราคาที่ดี เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของครอบครัวและตัวเกษตรกรเอง ผมในนามกระทรวงพาณิชย์ขอยืนยันว่าพวกเราจะไม่ทิ้งเกษตรกร และพร้อมจะแก้ไขปัญหา อย่างเช่นการมาในวันนี้
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้พี่น้องเกษตรกรชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการขายมังคุดได้ราคาดีในปีนี้” นายนภินทร กล่าวทิ้งท้าย