๓๐ล้านต้องให้คุ้ม – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

พูดกันเยอะ เรื่องเช่าเหมาลำ ๓๐ ล้านบาท

นายกฯ เศรษฐาขนคณะร่วม๕๐ คนไปประชุมยูเอ็นที่นิวยอร์ก คุ้มหรือเปล่า?

คำตอบอาจไม่ใช่จำนวนเงิน แต่อยู่ที่เนื้องานว่า ไปแล้วนำเสนออะไรไปบ้าง และกลับมาแล้วได้อะไรมาบ้าง

เดินไปก็อาจไม่ได้ความหากไปแล้ว หาสาระอะไรไม่ได้

หรือใช้เงินพันล้าน แต่กลับมาแล้วสามารถต่อยอดสร้างมูลค่าใหกับประเทศ นับหมื่นล้านแสนล้าน

ฉะนั้นประเด็นใช้งบประมาณแผ่นดินเช่าเหมาลำเครื่องบินเพื่อเดินทางไปประชุมของนายกฯและคณะ จึงมีหลายมิติให้วิพากษ์วิจารณ์

หากเปรียบเทียบกับการเดินทางไปประชุมยูเอ็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วงดำรงตำแหน่งในระยะเวลา ๘ ปีที่ผ่านมา มีความต่างกันพอสมควร และเป็นความต่างที่ถือเป็นมาตรฐาน ที่นายกรัฐมนตรีคนถัดๆ ไปควรยึดเอาเป็นแบบอย่าง

ยกตัวอย่างการเดินทางไปประชุมยูเอ็นเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๘ ถือเป็นการเดินทางร่วมประชุมนานาชาติครั้งแรกๆ ของ พล.อประยุทธ์ หลังทำการรัฐประหาร

ครั้งนั้นมีเสียงเชียร์ให้อเมริกาจับ พล.อ.ประยุทธ์ โทษฐาน ปล้นอำนาจจากคนไทยเสียด้วยซ้ำ

จึงเป็นการเดินทางที่ถูกจับตามอบจากหลายฝ่าย

นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ในวันนั้นไม่ได้เช่าเหมาลำการบินไทย เพราะต้องการประหยัดงบประมาณ

แต่ใช้วิธีเดินทางแบบปกติที่คนทั่วไปทำกัน

คือไปโดยสายการบินปกติ

พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมคณะชุดเล็กๆ ออกเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ด้วยเที่ยวบินของสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG 642 เวลา ๒๓.๕๐ น. ตามเวลาในประเทศไทย

ไม่ได้บินรวดเดียวเพราะเครื่องการบินไทยบินไม่ถึง ต้องต่อเครื่องที่ท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ ประเทศญี่ปุ่น

ไปนั่งรอ ๓ ชั่วโมงเพื่อเปลี่ยนเป็นสายการบินเอเอ็นเอ แอร์นิปปอนแอร์เวยส์ ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติจอห์น เอฟ เคนเนดี นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ก็ทุลักทุเลพอควร

แต่ประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้อื้อ

ก็ใช่ว่าการที่นายกฯเศรษฐา เหมาลำการบินไทย ๓๐ ล้านบาท จะผิดเมื่อเทียบกับพล.อ.ประยุทธ์

เพราะในสถานการณ์ที่แตกต่างอาจไม่จำเป็นต้องทำอะไรเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว

เพียงแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยโจมตีรัฐบาลประยุทธ์อย่างหนักว่า ทำเศรษฐกิจพัง ประชาชนยากจนมากขึ้น คนรวยก็รวยเอา

นายกฯ เศรษฐาก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนรวยที่รวยมากขึ้นในยุครัฐบาลประยุทธ์บริหารประเทศ

นี่เอง…เมื่อพรรคเพื่อไทยเข้าบริหารประเทศ ก็ควรตระหนักว่าการที่ตัวเองเชื่อว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์สร้างความวิบัติให้กับเศรษฐกิจชาตินั้น ก็ควรบริหารประเทศให้เข้ากับสถานการณ์ที่ตัวเองเชื่อ

๑ การประชุมที่ต้องสูญงบประมาณแผ่นดินสูงถึง ๓๐ ล้านบาท มันสมควรหรือไม่

หรือแท้ที่จริงแล้ว เศรษฐกิจประเทศมิได้ป่นปี้เหมือนอย่างที่พรรคเพื่อไทยเข้าใจเมื่อครั้งตัวเองเป็นฝ่ายค้าน

ถึงได้ไม่ต้องเสียดายงบประมาณแผ่นดิน เพราะ ๓๐ ล้านบาท กับการหอบหิ้วไปร่วม ๕๐ ชีวิตถือว่าคุ้มค่ากับสิ่งที่จะได้มา

หากนายกฯ เศรษฐา ใช้โอกาสนี้ชักชวนบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกมาลงทุนในไทย สามารถสร้างเงินสร้างงานได้มหาศาล ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลุงทุนนวัตกรรมใหม่ๆของโลกได้ อย่าว่าแต่ ๓๐ ล้านเลยครับ

๑๐๐ ล้านก็ถือว่าคุ้ม

แต่งานแรกของนายกฯเศรษฐา ก็ถูกหาว่าก็อปปี้เสียแล้ว

จากถ้อยแถลง ของนายกฯ เศรษฐา ในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี ค.ศ. 2023 (Sustainable Development Goals (SDG) Summit 2023) โฆษกชัย วัชรงค์ สรุปสาระสำคัญ ตามนี้

“…นายกรัฐมนตรีมองว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน จำเป็นต้องมีแนวทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งประเทศไทยได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนโยบายเศรษฐกิจ BCG มาเป็นแนวทางเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยพร้อมประกาศความมุ่งมั่นระดับประเทศเพื่อขับเคลื่อน SDGs รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนี้

๑.ไทยประกาศความมุ่งมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave no one behind) ผ่านหลักการไปให้ถึงและช่วยเหลือกลุ่มที่รั้งท้ายก่อน (reaching those furthest behind first) รวมทั้งลดความยากจนในคนทุกช่วงวัยภายในปี ค.ศ. 2027

๒.ไทยประกาศความมุ่งมั่นในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศสำหรับประชากรทุกคนในประเทศ รวมถึงให้ความสำคัญกับสิทธิด้านสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยมีมาตรการที่สำคัญ ๆ เช่น การตั้งเป้าหมายที่จะให้ครัวเรือนที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนที่ยากจนหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล (Health impoverishment) ต้องมีจำนวนลดลงไม่เกิน 0.25% ภายในปี ค.ศ 2027

๓. ไทยประกาศความมุ่งมั่นที่จะผลักดันร่วมมือกับหุ้นส่วนความร่วมมือทุกระดับ ในการดำเนินการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงบริการพลังงานสมัยใหม่ (modern energy services) ในราคาที่เหมาะสมและมีความน่าเชื่อถือภายในปี ค.ศ 2030นายกฯ หวังว่า การประกาศความมุ่งมั่นของไทยในเรื่องดังกล่าวจะสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่พร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายในการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เพื่อประชาชนและโลกที่ดีขึ้นต่อไป…”

กลับไปดูคำกล่าวเปิดประชุมกลุ่ม ๗๗ “SEP in Business: A G-77 Forum on the Implementation of the Sustainable Development Goals ” ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการประชุมที่จัดขึ้นต่อยอดจากการประชุม “G77 Bangkok Roundtable on Sufficiency Economy: an Approach to Implementing the Sustainable Development Goals

เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๙ ของพลเอก ประยุทธ์ จากการสรุปของโฆษกรัฐบาลในขณะนั้น

“…เน้นความสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะความร่วมมือกับภาคเอกชน ในการส่งเสริมการบรรลุ SDGs ซึ่งต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย นอกจากนี้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์แนวทางการพัฒนาของไทยตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งภาคธุรกิจสามารถนำไปใช้เป็นกรอบในการตัดสินใจเพื่อการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน โดยเน้นย้ำว่าเศรษฐกิจพอเพียงมิได้ขัดกับหลักการแสวงกำไร แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อส่วนรวม ส่งเสริมทุนนิยมที่มีความรับผิดชอบ โดยยกตัวอย่างวิสัยทัศน์ของรัฐบาล “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” การปฏิรูประบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจสู่โมเดล “ประเทศไทย 4.0” เพื่อหลุดพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาลไทย ซึ่งขับเคลื่อนโดยพลังกลไก “ประชารัฐ”…”

ครับ…คร่าวๆ วันนี้ เหมาลำ ๓๐ ล้านไปพูดที่นิวยอร์ก ยังไม่ต่างกับพูดที่กรุงเทพฯ มากนัก

ก็หวังว่าวันเวลาที่เหลือ จะต่อยอด ๓๐ ล้านบาท เป็นพันเป็นหมื่นเป็นแสนล้านในอนาคต

ถึงวันนั้นจะมีแต่คนสรรเสริญ

หาไม่แล้วก็รับแต่คำสาปแช่ง

Written By
More from pp
กรมการจัดหางาน ยัน ส่งคนงานเก็บผลไม้ฟินแลนด์ – สวีเดน โปร่งใส
19 กุมภาพันธ์ 2566 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยถึงการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 ของนายจรัส คุ้มไข่น้ำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชลบุรี...
Read More
0 replies on “๓๐ล้านต้องให้คุ้ม – ผักกาดหอม”