เปลว สีเงิน
เอาละ….
เรื่อง “ทนายถุงขนม” มาถึงประเด็นสุดท้ายที่เราจะคุยกัน
คือประเด็น “จริยธรรม”!
ในคำสั่งศาลฎีกาที่ให้จำคุก “นายพิชิต ชื่นบาน” กับพวกคนละ ๖ เดือน ฐาน “ละเมิดอำนาจศาล”
ในคำสั่งศาลนั้น มีความตอนหนึ่งว่า
“….น่าจะมีมูลความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๔ หรือความผิดอื่นต่อเจ้าพนักงาน
การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม เป็นการกระทำที่อุกอาจ ท้าทาย และเกิดขึ้นที่ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลยุติธรรมชั้นสูงสุดของประเทศ
ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม ประกอบอาชีพทนายความ และที่ปรึกษากฎหมาย ย่อมตระหนักดีว่า ……….. การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันศาลยุติธรรม
และจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือและความศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในอำนาจตุลาการ จึงเห็นสมควรลงโทษในสถานหนัก เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป…..”
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๔ ความว่า
“ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่า จะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด แก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล
เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
แต่ประเด็น “ตามมาตรา ๑๔๔” นี้ ไปไม่ถึงศาลอาญา
เมื่อไปแจ้งความให้ดำเนินคดี ปรากฏว่า ตำรวจและอัยการ “ตัดจบ” ด้วยการ “สั่งไม่ฟ้อง”!
เอาหละ …….
ถึง ความผิดด้านติดสินบนถูก “ฆ่าตัดตอน” ในทางคดีอาญา แต่ในทางจริยธรรม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐
(๔)ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(๕)ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามมาตรฐานท่างจริยธรรมอย่างร้ายแรง
เพียง ๒ ใน ๘ ข้อ ด้านคุณสมบัติที่คนจะเป็นรัฐมนตรีต้องมี ตามมาตรา ๑๖๐ นี้
ก็เพียงพอทำให้ “นายพิชิต ชื่นบาน” ต้องได้รับการตรวจสอบ พิจารณาวินิจฉัย จาก กกต.,จากสภา,และจากศาลรัฐธรรมนูญแล้วว่า
ตามคำสั่ง “ศาลฎีกา” ที่ระบุว่า………
“การกระทำอุกอาจ ท้าทาย ของนายพิชิต ชื่นบาน กับพวกที่ศาลฎีกา ซึ่งเป็น “ศาลยุติธรรมชั้นสูงสุดของ” ประเทศ นั้น
ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ “สถาบันศาลยุติธรรม” ส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือและความศรัทธา ในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในอำนาจตุลาการ”
ซึ่งนั่น เป็น……… พฤติกรรมไร้ซึ่ง “มาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง” หรือไม่?
ขณะนี้ ทราบว่ามีคณะบุคคล, บุคคล ยื่นเรื่องผ่านคณะตรวจการแผ่นดิน ผ่านกกต.ให้ตรวจสอบตามลำดับชั้นและขั้นตอนแล้ว
นายพิชิตเองก็ดี พรรคเพื่อไทยก็ดี รวมทั้งนายเศรษฐา คงพิจารณาแล้ว มั่นใจแล้ว ว่าพฤติกรรม “ถุงขนมบนศาล” นั้น
“ไม่ผิดจริยธรรมร้ายแรง”
ไม่ทำให้ “นายพิชิต ชื่นบาน” ขาดคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี
จึงกล้าตั้งเป็นรัฐมนตรี!
อย่างนั้น ก็ต้องดูกันต่อ และนายเศรษฐาเอง ในฐานะเป็นคนแต่งตั้งนายพิชิต ก็ต้องพร้อมรับผลที่ตัวเองต้องรับ ตามข้อ ๑๑ ใน ประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๔ ด้วย ที่ระบุให้นายกฯ เป็นผู้ “รับผลกรรม” ตามประมวล
จริยธรรมนี้
หมายถึง ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายพิชิต “ผิดจริยธรรมร้ายแรง”
ไม่เพียงนายพิชิตต้องไปคนเดียว
คนแต่งตั้งคือ “นายกฯ” ก็ต้องไปด้วย!
ต้องถูกเพิกถอน “สิทธิสมัครรับเลือก” ตั้งตลอดชีวิต อาจถูกเพิกถอน “สิทธิเลือกตั้ง” ด้วยก็ได้ ไม่เกิน ๑๐ ปี
แต่จะไม่มีสิทธิ “ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ใดๆ ได้!
ก็บอกให้รู้ล่วงหน้าไว้ จะได้ไม่ต้องไปร้องทีหลังว่า…ก็ผมไม่รู้นี่ครับ!
“ถุงขนมบนศาล” มันผิดจริยธรรมตรงไหน?
บางคน อาจ “ด้านถาม” แต่ผม “ไม่ด้านตอบ”
เอางี้…นายพิชิตเป็นทนาย
ใครจะเป็นทนายว่าความได้ ต้องตีทะเบียน และมีใบอนุญาตเป็นทนายจาก “สภาทนายความ”
เมื่อนายพิชิตถูกสั่งจำคุก ๖ เดือน ฐานทำตัวไม่เรียบร้อย “ด้วยถุงขนม” บนศาล
กันยายน ๒๕๕๒……..
กรรมการมรรยาท “สภาทนายความ” ประชุม โดย “นายสิทธิโชค ศรีเจริญ” เป็นประธาน
๑๓ จากจำนวน ๑๕ คน ลงมติ
นายพิชิต ชื่นบาน, น.ส.ศุภศรี ศรีสวัสดิ์ เสมียนทนายความ, นายธนา ตันศิริ ผู้ประสานงานคดีนายทักษิณและคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์
กระทําผิด “ข้อบังคับสภาทนายความ” ว่าด้วย “มรรยาททนายความ” พ.ศ.๒๕๒๙ จำนวน ๒ ข้อ ดังนี้
ข้อ ๖ ที่ไม่เคารพยําเกรงอํานาจศาลหรือกระทําการใดอันเป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา
ข้อ ๑๘ ที่ประกอบอาชีพดำเนินธุรกิจหรือประพฤติตน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือเป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนายความ
คณะกรรมการมรรยาท จึงมีมติ ๙ ต่อ ๓ เสียง ให้ลงโทษหนักสุด ตามพ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.๒๕๒๘ ด้วยการ
“ลบชื่อทนายความ” ทั้งสาม ออกจาก “ทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ”
ซึ่งทั้งสามไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความได้เป็นเวลา ๕ ปี
เลย ๕ ปีไปแล้ว เป็นสิบปี นายพิชิตยื่นขอตีตั๋วทนายใหม่ ครั้งแล้ว-ครั้งเล่า จนถึงวันนี้ สภาทนายก็ยังไม่รับตีตั๋วทนายให้!
“มรรยาท-จรรยาบรรณ” ต่างกับ “จริยธรรม” ตรงไหน?
“จริยธรรม-มรรยาท-จรรยาบรรณ”
ต่างเพียงคำเรียก แต่การกระทำมันก็ “ตัวเดียวกัน” นั่นแหละ!
พฤติกรรม “ถุงขนมบนศาล” นอกจากขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๐ (๔)(๕)แล้ว
ยังขัด “มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ที่ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาและคณะรัฐมนตรีด้วย
ทั้งหมวด ๑ และหมวด ๒ ซึ่งถือว่า “ร้ายแรง”
หมวด ๑ มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์
ข้อ ๗ ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน
ข้อ ๘ ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็น หรือยินยอม ให้ผู้อื่นใช้ตําแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
หมวด ๒ มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก
ข้อ ๑๑ ไม่กระทําการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
ข้อ ๑๒ ยึดมั่นหลักนิติธรรมและประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน
นี่…ในมุมมองด้านจริยธรรมผ่านบรรทัดกฎหมายตามทัศนะผมนะ ไม่ใช่การ “ชี้ผิด-ชี้ถูก”
นอกจาก “มาตรฐานจริยธรรม” ซึ่งจะส่งผลต่อนายพิชิตในตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว
ก็อย่างที่บอกแต่ต้น นายกฯเศรษฐา คนแต่งตั้ง ก็ต้องรับผิดชอบตาม “ประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง” ในข้อ ๑๑ ด้วย!
แค่นี้ “หลับตา” ก็พอเห็นแล้วกระมังว่า….
นายพิชิต ด้วยจริยธรรมถุงขนมบนศาล มีคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรีได้หรือไม่?
เอาหละ …….
คุยเรื่องถุงขนมมา ๓ วัน ผมก็จะตั้งคำถามกับท่านว่า
คนให้ถุงขนม “ก็รู้แล้วว่าใคร
ก็ขอถามว่า…แล้วรู้มั้ย ว่าใครเป็น “เจ้าของขนม ๒ ล้าน” ในถุงนั้น?
เขียนคำตอบใส่ซอง แล้วจ่าหน้าซองสั้นๆ แค่ว่า
ส่ง “เจ้าของคอก” แค่นี้ รับรองถึง!
เปลว สีเงิน
๔ พฤษภาคม ๒๕๖๗