นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า จากกรณีเจ้าหน้าที่ของ ทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันให้ความช่วยเหลือ “มาเรียม” พะยูนน้อยหลงฝูง จนเกิดกระแสการอนุรักษ์พะยูน สัตว์ทะเล รวมถึงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในหมู่คนไทยอย่างแพร่หลาย ขณะที่ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันเจ้าหน้าที่ยังได้ให้ความช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก เช่น พะยูนหลงฝูง “ยามีล”, เต่าทะเลบาดเจ็บ และ “โฮป” ลูกวาฬหัวทุยแคระ ซึ่งถูกพบเกยตื้นพื้นที่บริเวณชายหาดบ้านในไร่ ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา
ดังนั้น ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงได้มีการลงพื้นที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อติดตามสถานการณ์สัตว์ทะเลหายาก และความคืบหน้าการฟื้นฟูสัตว์ทะเลที่ได้รับความช่วยเหลือ
สำหรับลูกพะยูน “มาเรียม” นั้น อายุประมาณ 6 เดือน – 1 ปี ถูกพบพลัดหลงจากแม่มาเกยตื้นในพื้นที่ ต.คลองม่วง อ.เมือง จ.กระบี่ ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2562 โดยขณะนี้ได้รับการดูแลอยู่ที่บริเวณแหล่งหญ้าทะเล ใกล้เขาบาตูปูเต๊ะ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งล่าสุดมาเรียมถูกพะยูนตัวผู้ไล่บริเวณแหลมปันหยัง ซึ่งเป็นช่วงน้ำลง และช่วงนี้อยู่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ทำให้มาเรียมเกิดอาการตกใจจนตัวสั่น หรือ ช็อก 2 วันที่ผ่านมา มาเรียมไม่กินนม และกินหญ้านิดหน่อย เมื่อคืนวันที่ 10 ส.ค.เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น สัตวแพทย์ต้องฉีดยากระตุ้นหัวใจทำให้อาการมาเรียมในตอนนี้อยู่ในภาวะที่ต้องเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง ท่านรัฐมนตรีว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงได้มีการสั่งให้ระดมทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลมาเรียมอย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้มาเรียมมีอาการทรงตัวแล้ว สำหรับแนวทางการดูแลมาเรียม คือ 1) บ่อสำหรับดูแลชั่วคราว แต่เรายังไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปยังจุดนั้นได้เนื่องจากจะต้องดูแลให้อาการคงที่มากที่สุดแล้วค่อยเคลื่อนย้ายมาเรียมได้ ถ้าหากอาการยังไม่ดีขึ้นเราจะทำการย้ายไปยังส่วนที่ 2 คือ วิทยาลัยราชมงคลในจ.ตรัง และส่วนที่ 3 คือศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน ที่เป็นบ่อใหญ่และมีความพร้อมมากพอสมควร ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมช่วยเหลือและให้กำลังใจมาเรียมกันอย่างใกล้ชิด
สำหรับลูกพะยูน “ยามีล” อายุประมาณ 3 เดือน ถูกพบพลัดหลงจากแม่มาเกยตื้นบริเวณบ้านบ่อม่วง ต.ทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ในสภาพอ่อนแรงและมีรอยแผลฉกรรจ์ตามร่างกายกว่า 50% จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ทำให้ไม่สามารถส่งไปอนุบาลในพื้นที่เปิดได้เหมือนกรณีของ “มาเรียม” โดยเจ้าหน้าที่ได้เคลื่อนย้าย “ยามีล” มาดูแลที่บ่อเลี้ยงในระบบปิดของ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ศวทม.) จ.ภูเก็ต
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ดูแลทั้งด้านโภชนาการด้วยการให้นม อาหารเสริม และหญ้าทะเลในปริมาณที่เหมาะสม รวมทั้งมีรักษาบาดแผลและตรวจวัดสุขภาพ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ การหายใจ การทำงานของทางเดินอาหาร และการขับถ่าย โดยปัจจุบันพบว่า สุขภาพทั่วไปแข็งแรงขึ้น ความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ในระดับปกติ รอยด่างขาวบนร่างกายซึ่งเกิดจากภาวะความเครียดลดลง การขับถ่ายและการหายใจปกติ สามารถว่ายน้ำได้ดี อย่างไรก็ตามยังคงต้องได้รับการดูแลและสังเกตการณ์ในระบบปิดต่อไปอีกระยะ ก่อนพิจารณาแนวทางการฟื้นฟูในลำดับต่อไป
ส่วนกรณีลูกวาฬหัวทุยแคระ “โฮป” เจ้าหน้าที่ได้เข้าให้การช่วยเหลือเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 หลังได้รับแจ้งพบวาฬหัวทุย 2 ตัว มาเกยตื้นบริเวณชายหาดบ้านในไร่ ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา จึงเข้าให้ความช่วยเหลือ แต่เมื่อไปถึงพบว่าเสียชีวิตไปแล้ว 1 ตัว เป็นวาฬเพศเมียความยาว 2.40 เมตร หนัก 150 กก. ส่วนอีกตัวคือ “โฮป” คาดว่าเป็นลูกของตัวที่เสียชีวิต เป็นวาฬเพศผู้ความยาว 110 ซ.ม. หนัก 15 กก. จึงได้ทำการเคลื่อนย้ายมาอนุบาลที่ ศวทม.ภูเก็ต
ทั้งนี้ จากระยะเวลาสิบกว่าวันที่ได้ทำการอนุบาล เบื้องต้นพบว่า “โฮป” อยู่ในสภาพร่างกายที่อ่อนแรงมาก ความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ในระดับที่ถือว่าผอมกว่าปกติ พบรอยแผลถลอกที่เกิดจากการเกยตื้นหลายแห่งบริเวณส่วนหัวและลำตัว ไม่พบการอุจาระ แต่ยังสามารถปัสสาวะได้ตามปกติ ซึ่งแนวทางการรักษาที่วางไว้ในเบื้องต้น คือ การให้นมทดแทนในปริมาณความเข้มข้น 25% พร้อมทั้งให้วิตามินและอาหารเสริมพลังงาน รวมทั้งมีการให้ยารักษาตามอาการ เช่น การให้ยาปฏิชีวนะรักษาอาการอักเสบ ยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน และการแก้ภาวะขาดน้ำ ซึ่งในภาพรวมมีแนวโน้มของอาการที่ดีขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิดต่อไป” อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าว