ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ยังไม่สามารถสรุปผลวิจัยความเสี่ยงของการถ่ายทอดเชื้อทางโลหิตบริจาคในชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายอย่างชัดเจนได้ เนื่องจากอาสาสมัครเข้าร่วมวิจัยน้อยกว่าเป้าหมาย จำเป็นต้องหาแนวทางศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนและเชื่อถือได้ทางวิชาการสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของโลหิตบริจาค
รศ.พญ.ดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ตระหนักถึงหลักการความเท่าเทียมกันของมนุษย์และมาตรฐานสากลในการคัดเลือกผู้บริจาคโลหิตที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริจาคและผู้ป่วยที่รับโลหิตเป็นสำคัญ ในอุบัติการณ์ของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (Men who have sex with Men, MSM) เพื่อนำมาพัฒนาเกณฑ์การคัดเลือกผู้บริจาคโลหิตของประเทศ เพิ่มโอกาสให้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายมีโลหิตที่ปลอดภัยเข้ามาเป็นผู้บริจาคโลหิตได้ โดยไม่ส่งผลกระทบกับผู้ป่วยที่รับโลหิต
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ จึงได้หารือร่วมกับ นายกสมาคมและเลขาธิการสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เพื่อหาแนวทางวิจัยสถานการณ์ในประเทศร่วมกัน โดยเปิดรับอาสาสมัคร คือชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายที่มีคู่จากทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2566 – 15 กันยายน 2566 โดยตั้งเป้าหมายกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,250 คน
ทั้งนี้ มีผู้สมัครเข้าร่วมวิจัยทั้งหมด 192 คน แต่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ เพียง 73 คน มีอายุระหว่าง 19 – 46 ปี แต่เนื่องจากการมีจำนวนอาสาสมัครน้อยกว่าที่กำหนดไว้มาก คือ 73 คนเมื่อเทียบกับ จำนวน 1,250 คนที่กำหนดไว้ จึงไม่สามารถสรุปผลอย่างชัดเจนและเพียงพอเพื่อมาพัฒนาเกณฑ์การคัดเลือกให้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย เป็นผู้บริจาคโลหิตได้ จำเป็นต้องหาแนวทางศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนและเชื่อถือได้ในเชิงวิชาการ ให้มีความมั่นใจในความปลอดภัยของผู้รับโลหิตต่อไป
ติดตามรายละเอียดผลการวิจัยทั้งหมดได้ที่ : https://shorturl.at/jyBJO หรือเฟซบุ๊กศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย