แผนทำลายชาติ-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

พักเรื่องการเมืองวนในอ่างสักวัน

มาดูเรื่องที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีวานนี้ (๙  พฤศจิกายน) เพราะจะเป็นประโยชน์กว่ากันเยอะครับ

ที่ประชุม ครม. รับทราบสาระสำคัญร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ.๒๕๖๖-๒๕๗๐) ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ

ร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ เป็นแผนระดับที่ ๒ เป็นกลไกในการถ่ายทอดยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ

ระบุทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่ควรให้ความสำคัญในระยะ ๕ ปี ภายใต้หลักการและแนวคิดสำคัญ ๔ ประการ คือ 

๑) หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

๒) แนวคิด “ล้มแล้วลุกไว” (Resilience) มุ่งเน้นการลดความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลง และการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสเพื่อสร้างการเติบโตที่มีคุณภาพและยั่งยืน

๓) เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ

และ ๔) โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) รวมทั้งคำนึงถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ด้วย

วัตถุประสงค์ของร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๓ คือ เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยสู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน”

มีเป้าหมายหลักที่ต้องการบรรลุผล ๕ ประการ คือ

๑.การปรับโครงการสร้างผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม

๒.การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่

๓.การมุ่งสู่สังคมโอกาสและความเป็นธรรม

๔.การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน

และ ๕.การเสริมสร้างความสามารถของประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่

กำหนด ๑๓ หมุดหมายของการพัฒนา เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ที่ชัดเจนใน ๔ มิติ ดังนี้

๑.มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย ประกอบด้วย ๖ หมุดหมาย คือ

๑) ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง

๒) ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน

๓) ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน

๔) ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง

๕) ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค

๖) ไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของอาเซียน

๒.มิติโอกาสและความเสมอภาค ทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบด้วย ๓ หมุดหมาย คือ

๑) ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้

๒) ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน

๓) ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลงและคนไทยทุกคน มีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม

๓.มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ๒ หมุดหมาย คือ

๑) ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ

๒) ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบ จากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

๔.มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ ประกอบด้วย ๒ หมุดหมาย คือ

๑) ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต

๒) ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน

ทั้งหมดนี้คือแผนแม่บท ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๓ นี้ เป็นการกำหนดทิศทาง และประเด็นการพัฒนาที่ประเทศควรให้ความสำคัญ

เป็นการดำเนินการในระยะ ๕ ปีที่สองของยุทธศาสตร์ชาติ

ก็ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๘๐) ที่คนรุ่นใหม่บอกว่า ไม่ต้องการเพราะเป็นความคิดของคนรุ่นเก่า คร่ำครึ นั่นแหละครับ

เป้าหมายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๓ เชื่อมโยงกับ ยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ใช่เรื่องล้าหลัง หรือคนแก่คิดไม่เป็นอย่างที่ พยายามโจมตีกันในหมู่คนรุ่นใหม่บางกลุ่ม

เพราะเป็นการมองไปข้างหน้า ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน

มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น

ยกตัวอย่างด้านการเกษตร แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ มีเป้าหมายดังนี้

GDP สาขาเกษตรเติบโต ร้อยละ ๙.๕ ต่อปี

รายได้สุทธิต่อครัวเรือนเกษตรกร ไม่ต่ำกว่า ๕๓๗,๐๐๐ บาทต่อครัวเรือน เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๓

พื้นที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืน เพิ่มขึ้นเป็น ๑๐ ล้านไร่ เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๓

พื้นที่เพาะปลูกพืชที่ไม่เหมาะสมลดลงร้อยละ ๑๐ เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๓

ภาคเกษตรมีผลิตภาพการผลิตรวม (TFP) เฉลี่ยร้อยละ ๑.๕  เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๓

มีตลาดกลางสินค้าเกษตรภูมิภาคในภาคเหนือ ๒ แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒ แห่ง ภาคใต้ ๒ แห่ง ภาคกลาง ๑ แห่ง และภาคตะวันออก ๑ แห่ง เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๓

ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศอย่างน้อย ๔๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๓

ระบบชลประทานมีประสิทธิภาพ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๕ เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๓

ครับ…นี่คือแผน ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่การบริหารจัดการของรัฐบาล และการปฏิบัติของผู้นำแผนไปฏิบัติ

แต่มันคือแผนพัฒนาประเทศ

เป็นที่น่าประหลาดใจ ก่อนนี้มีการปลุกกระแส ให้เกลียดชังยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี เพียงเพราะให้กำเนิดโดยรัฐบาล คสช.

นักการเมืองบางกลุ่มไม่พอใจ เพราะยุทธศาสตร์ชาติ มีผลให้รัฐบาลหน้าที่มาจากการเลือกตั้งต้องแถลงนโยบาย และเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีให้สอดคล้องกับตัวยุทธศาสตร์ชาติ

จึงมองว่า กรอบที่ยุทธศาสตร์ชาติกำหนดไว้ จะสำคัญกว่านโยบายของพรรคการเมืองที่ประชาชนเป็นผู้เลือกมา

การปลุกระดมด้วยเนื้อหาฉาบฉวย สามารถดึงคนรุ่นใหม่เป็นแนวร่วมได้ โดยที่ส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมด ไม่เคยดูเนื้อหาว่ายุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี พูดถึงอะไร แนวทางเป็นอย่างไร

“ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เคยพูดไว้ว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี มีไว้เพื่อฉีก”

มีวิธีเดียวที่จะพ้นกับดักนี้ได้คือ พวกเขาต้องชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย

นั่นคือภาพหลอนที่เขียนกันมา

แต่วันนี้ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๓ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ พูดถึงอนาคตของประเทศ ซึ่งก็คืออนาคตของคนรุ่นใหม่

มองไปถึงการปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม

ให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก

ให้ GDP สาขาเกษตรเติบโต ร้อยละ ๙.๕ ต่อปี

ให้รายได้สุทธิต่อครัวเรือนเกษตรกร ไม่ต่ำกว่า ๕๓๗,๐๐๐ บาทต่อครัวเรือน

นี่คือสิ่งที่อยากจะทำลายกันอย่างนั้นหรือ?

การไม่เอายุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี จะมีเหตุผลอะไรรองรับ

นอกจากอยากทำลายชาติ


Written By
More from pp
ประชาธิปัตย์ พร้อม เตรียม 15 ขุนพล อภิปรายซักฟอกนโยบายรัฐบาล ชี้ หลายนโยบายไม่ตรงปก
“จุรินทร์” เผย “ประชาธิปัตย์” เตรียม 15 ขุนพล อภิปรายซักฟอกนโยบายรัฐบาล ครบ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม เน้น...
Read More
0 replies on “แผนทำลายชาติ-ผักกาดหอม”