ผักกาดหอม
ให้มันรู้ซะมั่ง!
พรรคเพื่อไทยจัดแถวเรียงลำดับไหล่กันเรียบร้อยแล้ว
ช่างน่ายินดี ไม่มีการแตกแถวแม้แต่น้อย
นักโทษคดีโกงยืนหัวแถวแบบนี้ ก็อย่าไปคาดหวังว่ารัฐบาลเศรษฐา จะสร้างผลงานปราบคอร์รัปชันให้เห็น
ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี พรรคเพื่อไทย วานนี้ (๕ เมษายน) บรรยากาศสุดคึกคัก ไม่ใช่เพราะแกนนำพรรคเข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียง
แต่เพราะมีการเปิดวีดิทัศน์ “นักโทษชายทักษิณ” ให้โอวาท สส.และรัฐมนตรีของพรรค
ไม่ต่างเจ้าของบริษัทให้โอวาทสักเท่าไหร่ สมุนหัวแถวยันหางแถว นั่งฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ
ภาพออกมา “นักโทษชายทักษิณ” อยู่บนสุดของพีระมิดพรรคเพื่อไทย
เรียงลำดับกันเช่นนี้แล้ว คงไม่ต้องถามว่า แล้ว “เศรษฐา ทวีสิน” อยู่ตรงไหน
เศรษฐาคิด เพื่อไทยไม่ได้ทำ
แต่ทักษิณคิด เพื่อไทยไม่กล้าหือ
เนื้อหาการพูดของ “นักโทษชายทักษิณ” ฟังผ่านๆ แบบไม่ต้องคิดอะไรก็ยังจับใจความได้ว่า กำลังกำกับทิศทางของพรรคเพื่อไทย
“…พรรคเพื่อไทยถูกกล่าวหาว่าเป็นพรรคอนุรักษนิยมใหม่ เรื่องนี้บอกได้เลยว่าไม่ได้อยู่ในดีเอ็นเอของพรรคเพื่อไทยหรือไทยรักไทย แต่พรรคเพื่อไทยจริงๆ สร้างมาจากไทยรักไทย เป็นพรรคที่รีฟอร์มหรือเป็นพรรคผู้นำในการเปลี่ยนแปลง
ถ้าจำได้พรรคไทยรักไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระบบประกันสุขภาพ การเอาเงินจากเมืองหลวงกลับไปสู่ชนบท กระจายเงินออกไป และเรื่องการดูแลสินค้าเกษตร ทุกเรื่องเป็นเรื่องใหม่หมดที่ไทยรักไทยทำ และพรรคเพื่อไทยก็ทำมาต่อเนื่อง…”
จริงอยู่ครับ รัฐบาลระบอบทักษิณสำเร็จเรื่อง ๓๐ บาทรักษาทุกโรค แต่ก็สร้างความฉิบหายหลายเรื่อง โดยเฉพาะการคอร์รัปชัน
เป็นที่มาของตรรกะนรก โกงไม่เป็นไรขอให้แบ่งกัน
แต่ก็ติดใจตรงที่ “นักโทษชายทักษิณ” ไม่ยอมให้พรรคเพื่อไทย ถูกเรียกว่าพรรคอนุรักษนิยมใหม่ (Neo-Conservative) แต่ก็ไม่บอกว่า เป็นอนุรักษนิยม หรือ เสรีนิยม (Liberal)
บอกเพียงว่าสร้างมาจากพรรคไทยรักไทย
คงเป็นคำสั่งจาก “นายใหญ่” ว่าห้ามเปลี่ยนเจตนารมณ์พรรค
นี่ก็แล้วใหญ่ เพราะที่มาของพรรคไทยรักไทยได้สร้างความอัปลักษณ์ให้การเมืองไทยอย่างมากมาย
มีทั้งดูด สส.ยกก๊วน ซื้อยกพรรค
ใช้วิธีดึงตัวนักการเมืองหน้าเก่าจากพรรคต่างๆ เข้าร่วม จนเต็มไปด้วยมุ้งการเมือง
ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มพลังธรรม พลังไทย กลุ่มวังน้ำเย็น กลุ่มพรรคความหวังใหม่ กลุ่มพรรคชาติพัฒนา กลุ่มพรรคชาติไทย กลุ่มพรรคกิจสังคม รวมถึงกลุ่มพรรคประชาธิปัตย์
แต่ก็ไม่ใช่แนวคิดใหม่ เพราะในอดีตนั้นได้เกิดอภิมหาพรรคการเมืองมาก่อนแล้ว
ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงระบอบเผด็จการ คณาธิปไตย ครองเมือง
เช่นพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์
พรรคชาติสังคมและพรรคสหภูมิของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในช่วงปลายทศวรรษ ๒๔๙๐ ต่อเนื่องกับต้นทศวรรษ ๒๕๐๐
พรรคสหประชาไทยของกลุ่มถนอม ประภาส ในช่วงต้นทศวรรษ ๒๕๑๐
พรรคสามัคคีธรรมของคณะรัฐประหาร รสช. ในช่วงปี ๒๕๓๔-๒๕๓๕
หรือแม้กระทั่งพรรคพลังประชารัฐก็ใช้โมเดลดังกล่าวนี้ในการสร้างพรรคการเมือง
ฉะนั้นหากจะอ้างอิงว่าพรรคเพื่อไทย สร้างมาจากพรรคไทยรักไทย ก็แสดงว่าจะต้องมีอุดมการณ์เดียวกัน ไม่ใช่ทั้งอนุรักษนิยม หรือเสรีนิยม
แต่เป็นเผด็จการในระบอบประชาธิปไตย
เบื้องหน้าขายสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม โปร่งใส ตรวจสอบได้
แต่เบื้องหลังเผด็จการเต็มรูปแบบ ปกครอง ชี้นิ้วโดยคนคนเดียว และสืบอำนาจทางสายเลือด
นี่หรือเปล่าที่ “นักโทษชายทักษิณ” และ “อุ๊งอิ๊ง” ไม่อยากให้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคอนุรักษนิยมใหม่
การเป็นพรรคอนุรักษนิยมใหม่ ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร เพราะเป็นการวิวัฒจากพรรคอนุรักษนิยม กำลังดำเนินอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก
อนุรักษนิยม หรือ “กลุ่มเอียงขวา” มีทัศนคติหรือค่านิยมที่สำคัญคือ “ของเดิมดี มีค่ารักษาไว้” มุ่งรักษาความเชื่อและคุณค่าแบบเก่า เช่น ประเพณีนิยม ศีลธรรมอันดีงาม กระทั่งอุดมการณ์ทางการเมืองที่สืบทอดมายาวนาน
ปัจจุบันพรรคอนุรักษนิยมเริ่มกลับมามีบทบาทในหลายประเทศทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย พรรคที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมส่วนใหญ่ ผูกโยงกับ สำนึกรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าล้าหลัง เข้าไม่ถึงคนรุ่นใหม่
ฝั่งตรงข้ามอนุรักษนิยม คือเสรีนิยม
พรรคที่มีแนวคิดเสรีนิยม ให้ความสำคัญกับ สิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม รัฐจะเข้าไปใช้อำนาจแทรกแซงไม่ได้ ทุกคนใช้เสรีภาพได้อย่างเต็มที่
พรรคก้าวไกลถูกมองว่าเป็นพรรคเสรีนิยม
แต่อาจไม่ตรงข้อเท็จจริงนัก เพราะพรรคก้าวไกลมีพฤติกรรมซ้ายตกขอบมาโดยตลอด
ว่าไปแล้วเรื่อง สิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม ก็มีอยู่ในกลุ่มอนุรักษนิยม แต่ไม่สุดโต่ง
ต่างกับพรรคก้าวไกล เป็นพรรคเสรีนิยมสุดโต่ง ที่พยายามลบล้างของเก่าที่มี ปล่อยเสรีภาพฟรีจนละเมิดผู้อื่น
มีการแสดงความคิดเห็นที่รุนแรง
วิจารณ์ประเด็นอ่อนไหวเช่นศาสนา ความเชื่อ ด้วยความก้าวร้าว จนกลายเป็นการก่อปัญหาความขัดแย้งในสังคม
ฉะนั้นหากพรรคเพื่อไทย ถูกเรียกว่าพรรคอนุรักษนิยมใหม่ ก็ควรจะดีใจเสียด้วยซ้ำ
ดูดีกว่าเผด็จการในประชาธิปไตยเป็นไหนๆ
พรรคอนุรักษนิยมใหม่ เปิดกว้างกว่า พรรคอนุรักษนิยมพอควร
ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย
การเปลี่ยนแปลงในการถืออำนาจทางการเมือง
อำนาจทางเศรษฐกิจ
การยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชน
ซึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคเป็นอยู่
ที่จริงไม่ต้องเหนียม เพราะ “พรรครีพับลิกัน” ของสหรัฐฯ ก็มีความเป็นพรรคอนุรักษนิยมอยู่
อังกฤษมีพรรคคอนเซอร์เวทีฟ มีอุดมการณ์และนโยบายที่ค่อนข้าง คำนึงถึงชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ งานการเมืองเน้นนโยบายที่คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก แต่ยังพยายามคงไว้ ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีของอังกฤษ ให้มากที่สุด ซึ่งถือเป็นพรรคอนุรักษนิยมใหม่
ก็คล้ายๆ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ฯลฯ
แล้วทำไม “นักโทษชายทักษิณ” ถึงไม่อยากให้ พรรคเพื่อไทยเป็น
คิดอะไรอยู่ในใจ
หรือไม่คิดจะผูกโยงกับ สำนึกรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์