อย่าปล่อยให้การนอนกรน กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่รบกวนคุณภาพการนอน และส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายอันตรายถึงชีวิต เพราะผู้ที่มีภาวะนอนกรนมีความเสี่ยงในการหยุดหายใจขณะหลับ ปัจจุบันภาวะนอนกรนสามารถรักษาได้ เพื่อให้การนอนหลับมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายแพทย์อภิรักษ์ จันทร์เพ็ง อายุรแพทย์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า ภาวะนอนกรน มักเกิดจากทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบ ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกโครงหน้าที่เล็ก หรือความผิดปกติของเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณจมูก ลิ้น เพดานอ่อน จนถึงต่อมทอนซิล ซึ่งในขณะที่เรานอนหลับสนิท กล้ามเนื้อต่าง ๆ จะหย่อนลงมาปิดกั้นทางเดินหายใจ และเมื่อลมหายใจผ่านเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวจะเกิดการสั่นสะเทือนและทำให้เกิดเป็นเสียงกรนดังขึ้น ทั้งนี้ หากอาการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบนรุนแรงจนอุดกั้นลมหายใจทั้งหมด จะส่งผลให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “หยุดหายใจขณะหลับ”
อาการที่บ่งบอกว่าอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
นอนกรนดังมากเป็นประจำ
นอนหลับไม่เต็มอิ่ม ตื่นบ่อยระหว่างคืนแล้วหลับต่อได้ยาก
ตื่นขึ้นปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน
มีผู้อื่นสังเกตเห็นว่าหายใจไม่สม่ำเสมอหรือมีเสียงกรนดังแต่หยุดเป็นช่วงๆขณะหลับ
นอนกัดฟันหรือขากระตุกขณะหลับ
รู้สึกไม่สดชื่นหลังตื่นนอน ปวดมึนศีรษะหรือปากคอแห้งหลังตื่นนอน
ง่วงนอนมากผิดปกติในระหว่างวัน
มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย อารมณ์ไม่ดี หลงลืม
ผู้ที่มีอาการดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี มีภาวะน้ำหนักตัวเกินหรือภาวะอ้วน มีโรคความดันโลหิตสูง มีรอบคอที่ใหญ่ และเป็นเพศชาย จัดว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
ปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยตรวจวินิจฉัยการนอนหลับ (Sleep Test) เพื่อวินิจฉัยว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ สามารถบอกความรุนแรงได้ว่ามีระดับความรุนแรงมากน้อยเพียงใด การหยุดหายใจสัมพันธ์กับระดับการนอนหรือท่าทางหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีการตรวจวัดค่าต่างๆขณะหลับ ได้แก่ การตรวจวัดคลื่นสมองและระดับการนอนหลับ, การตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ, การตรวจวัดความอิ่มตัวของระดับออกซิเจนในเลือดแดง, การตรวจวัดลมหายใจ, ตรวจเสียงกรน รวมไปถึงตรวจดูการนอนกัดฟันและขากระตุกขณะหลับ
ด้าน แพทย์หญิงนิธิภัทร ฉายะโอภาส โสต ศอ นาสิกแพทย์ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่าในส่วนของการรักษา จะพิจารณาจากความผิดปกติของภาวะนอนกรน หากไม่พบการหยุดหายใจหรือหายใจแผ่วร่วมด้วย จะแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ เช่น ลดน้ำหนัก เปลี่ยนพฤติกรรมการนอน หลีกเลี่ยงการนอนหงายเพราะจะทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจได้ง่าย ส่วนในรายที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ แพทย์อาจพิจาณาใช้วิธีการรักษาดังต่อไปนี้
การใช้ยา ขึ้นอยู่กับสาเหตุของช่องคอที่ตีบตันว่าสามารถใช้ยาในการรักษาได้หรือไม่ เช่น หากผู้ป่วยมีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) แพทย์อาจเลือกใช้ฮอร์โมนไทรอกซินในการรักษา เป็นต้น
การใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก หรือเครื่องช่วยหายใจ CPAP : เป็นวิธีการักษามาตรฐานที่มีประสิทธิภาพสูงถึง 90 – 99% โดยเครื่องจะเป่าลมผ่านทางช่องจมูกและหรือทางปาก เพื่อให้มีความดันลมแรงพอที่จะเปิดช่องคอซึ่งเป็นทางเดินหายใจส่วนต้นได้ตลอดเวลาขณะนอนหลับ แต่ข้อจำกัดคือผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกอึดอัดในขณะใช้เครื่อง
การใช้เครื่องมือทันตกรรม : การใส่เครื่องมือลักษณะคล้ายฟันยางหรือเครื่องดัดฟันเพื่อดึงขากรรไกรล่างให้ยื่นออกเพื่อช่วยเปิดทางเดินหายใจในกรณีลิ้นตกไปอุดกั้นทางเดินหายใจ วิธีนี้ได้ผลดีในรายที่เป็นไม่รุนแรง
การผ่าตัด ซึ่งมีทั้งการผ่าตัดหรือการจี้ด้วยคลื่นวิทยุเพื่อลดขนาดเยื่อบุจมูกที่บวม, การผ่าตัดเพื่อดัดผนังกั้นช่องจมูกในรายที่คดมาก รวมไปถึงการผ่าตัดริดสีดวงจมูกหรือไซนัสอักเสบ, การผ่าตัดต่อมทอนซิล, การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อนและลิ้นไก่, การผ่าตัดบริเวณโคนลิ้น และการผ่าตัดเลื่อนกรามและขากรรไกรทั้งบนล่างมาด้านหน้า (Maxillomandibular Advancement: MMA) เป็นการผ่าตัดที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบัน เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง
การนอนกรน อาจเป็นสัญญาณเตือนสุขภาพอย่างหนึ่ง หากมีภาวะนอนกรนแนะนำให้เข้ามาพบแพทย์เพื่อจะได้ค้นหาสาเหตุ ภาวะแทรกซ้อน และความผิดปกติที่เกิดจากการนอนกรน เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับ รวมถึงจะได้รับการรักษาที่เหมาะสมและกลับไปมีคุณภาพการนอนที่ดีดังเดิม