26 มีนาคม 2567 รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ ม.บูรพา ให้ความเห็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารในพรรคภูมิใจไทย ที่ดันคนรุ่นใหม่ขึ้นมาทำงานในตำแหน่งสำคัญแบบเกือบยกแผง ว่า
แน่นอนว่า ยังถูกบางฝ่ายมองว่า เรื่องนี้ ไม่น่าตื่นเต้น เพราะคนที่เข้ามาก็ลูกหลานบ้านใหญ่แทบทั้งนั้น แต่ส่วนตัวมองว่า คำวิจารณ์แบบนี้ ทางพรรคต้องคิดไว้แล้ว ว่าโดนแน่ แต่เขามองไกลกว่านั้น ซึ่ง จากประสบการณ์ด้านรัฐศาสตร์ มีข้อสังเกตุว่า
1. การให้บทบาทกับลูกหลานบ้านใหญ่ มันเป็นการต่อยอดจุดแข็งที่มีมาแต่เดิม อาทิ ระบบการดูแลพื้นที่ ซึ่งมีมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย รุ่นพ่อ รุ่นแม่ มารุ่นลูก ก็ได้ใช้ประโยชน์ตรงนี้อย่างเต็มที่ เป็นการยึดกุมความได้เปรียบในทางการเมืองระยะยาวของพรรคภูมิใจไทย 2.เป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างตระกูลการเมืองทั้งหลาย
3.กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ กก.บห.พรรคชุดใหม่ ของพรรคภูมิใจไทย คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจทางการเมืองจริง มีประสบการณ์ทั้งในพื้นที่ ประสบการณ์การตรงจากครอบครัว เข้าใจการเมืองในความเป็นจริง และ มีโอกาสทำงานในการเมืองระดับชาติในตำแหน่งแห่งที่ต่างๆ มาก่อน แตกต่างจากคนรุ่นใหม่ในหลายพรรคที่สนใจการเมืองแต่ไม่มีโอกาส ไม่มีประสบการณ์
4. กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ กก.บห.พรรคชุดใหม่ ของพรรคภูมิใจไทย นอกจากมีต้นทุนทางการเมืองจากการเป็นทายาทตระกูลการเมืองบ้านใหญ่ พบว่าทั้งหมดที่เข้ามาเป็นกรรมการบริหารมีประวัติการศึกษาในระดับสูง มีโปรไฟล์ ภาพลักษณ์ที่ดี เป็นต้นทุนสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ ภาพจำใหม่ทางการเมืองของพรรค
“แน่นอนว่าพรรคภูมิใจไทย มีความพยายามในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ในยุคที่ความเป็นสมัยใหม่ ความคิด แบบสมัยใหม่ แทรกซึมเข้ามาในสังคม การเปลี่ยนแปลงของพรรคภูมิใจไทย เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองอื่นประมาทไม่ได้ นี่คือ การผสมผสาน ใหม่ เก่า เข้าด้วยกัน เอาจุดแข็ง และจุดเด่นของพรรคมาบวกกัน ทั้งนี้ ความท้าทายต่อมา คือ NEW GEN ภูมิใจไทย จะขับเคลื่อนพรรคไปในทิศทางไหน จะผสมผสาน คนรุ่นหนึ่ง กับคนรุ่นหนึ่งอย่างไร และจะดำเนินนโยบายเชิงอุดมการณ์อย่างไร ตรงนี้ เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม”