“ไซนัสอักเสบเรื้อรัง” อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

หากมีอาการคัดจมูกไม่หาย น้ำมูกข้นสีเขียวหรือสีเหลือง ไอติดต่อกันหลายสัปดาห์ ปวดหัว ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไซนัสอักเสบ ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ หากไม่รีบมารักษาอาจทำให้เป็นโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมาได้

นายแพทย์บรรณวัชร ตันติคุณ โสต ศอ นาสิกแพทย์เฉพาะทางด้านโรคจมูกและภูมิแพ้ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า โรคไซนัสอักเสบเป็นโรคที่เกิดการอักเสบติดเชื้อของโพรงอากาศในจมูก ซึ่งปกติโพรงไซนัสจะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 คู่ ได้แก่ บริเวณหน้าผาก บริเวณระหว่างหัวตา บริเวณโหนกแก้มข้างจมูก และบริเวณฐานกะโหลก โดยการอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้กับไซนัสทุกตำแหน่ง

ไซนัสอักเสบจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดาหรือโรคภูมิแพ้ แต่จะมีอาการรุนแรงและยาวนานมากกว่า เช่น คัดจมูก น้ำมูกข้นเขียวหรือเหลือง , เสมหะไหลลงคอ กระตุ้นให้เกิดการไอบ่อย, หายใจมีกลิ่นเหม็น, ปวดหัว หรือปวดขมับ หรือปวดบริเวณรอบๆ จมูกหรือหัวคิ้ว และหน้าผาก, ในบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีไข้สูง ตาบวมอักเสบ เป็นต้น

ไซนัสอักเสบ แบ่งเป็น 3 ชนิด ดังนี้

1.ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (Acute Sinusitis) เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ทำให้เกิดการอักเสบ มีเสมหะมากขึ้น คัดจมูก จะมีอาการไม่เกิน 4 สัปดาห์

2.ไซนัสอักเสบชนิดกึ่งเฉียบพลัน (Subacute) คือ โรคไซนัสอักเสบที่มีอาการตั้งแต่ 4 ถึง 12 สัปดาห์

3.ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (chronic sinusitis) เป็นการอักเสบเรื้อรังที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อ โดยจะมีอาการเรื้อรังมานานกว่า 12 สัปดาห์ มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้

สาเหตุการเกิดโรคไซนัสอักเสบมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น เกิดขึ้นหลังจากอาการไข้หวัด เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุด โดยเฉพาะในรายที่เป็นหวัดแล้วไม่พักผ่อนอย่างเพียงพอ, โรคภูมิแพ้ ทำให้เยื่อบุภายในช่องจมูกและไซนัสบวม เป็นๆ หายๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน, ความผิดปกติในช่องจมูก เช่น ผนังกั้นจมูกคด หรือ กระดูกที่ผนังด้านข้างโพรงจมูกมีขนาดใหญ่มาก จนไปอุดตันรูเปิดของไซนัส และโรคริดสีดวงจมูก หรือเนื้องอกในโพรงจมูก

ภาวะแทรกซ้อนจากไซนัสอักเสบ

มีผลทางตา ทำให้เนื้อเยื่อรอบๆ ตาอักเสบ เช่น ตาบวม เจ็บตา กลอกตาแล้วเจ็บ มองเห็นภาพซ้อนหรือ เห็นภาพไม่ชัด เป็นต้น
ทางสมอง โดยมีอาการปวดหัว มีอาการคลื่นไส้อาเจียน มองเห็นภาพซ้อนหรือ เห็นภาพไม่ชัด กล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมกับไข้สูง
มีผลต่อเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง เกิดการอักเสบในหูชั้นกลางทำให้หูอื้อ เยื่อบุลำคออักเสบ กล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง
การวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบ แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย การส่องกล้องตรวจโพรงจมูกและไซนัส ส่วนในกรณีที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังที่ต้องทำการผ่าตัด หรือในผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อน อาจจำเป็นต้องมีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยการทำ CT สแกนหรือเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัย หรือบอกความรุนแรงของโรค

การรักษาไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ส่วนใหญ่มักจะรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ ยาลดบวมของเยื่อจมูก โดยแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะระยะเวลาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและชนิดของเชื้อก่อโรค ส่วนไซนัสอักเสบเรื้อรังแพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยสเตียรอยด์พ่นจมูกหรือใช้น้ำเกลือล้างจมูก แต่ถ้ารักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันการผ่าตัดไซนัส นิยมผ่าตัดผ่านทางจมูกโดยใช้กล้อง Endoscope ทำให้แพทย์เห็นบริเวณผ่าตัดได้ชัดเจน สามารถตัดเนื้อเยื่อที่อักเสบออก เนื่องจากเป็นการผ่าตัดผ่านรูจมูกจึงไม่มีแผลผ่าตัดที่ผิวหนัง และเป็นวิธีการรักษาที่ปลอดภัย ทำให้ผู้ป่วยเลือดออกน้อย เจ็บแผลน้อย สามารถหายใจทางจมูกได้ดี ฟื้นตัวเร็ว

ทั้งนี้การดูแลตัวเองเมื่อเป็นไซนัสอักเสบ ต้องเริ่มจากการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังสม่ำเสมอ งดการสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มน้ำวันละ7-8 แก้ว หลีกเลี่ยงฝุ่นและพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิฉับพลัน เช่น จากร้อนมากไปเย็นจัดในทันทีทันใด หากมีอาการมากขึ้นควรรีบพบแพทย์ รับประทานยา และติดตามการรักษาสม่ำเสมอ

Written By
More from pp
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ อสมท ส่งเสริมการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
นายผาติยุทธ ใจสว่าง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานผลิตภัณฑ์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และ ดร.ธนกร ศรีสุขใส...
Read More
0 replies on ““ไซนัสอักเสบเรื้อรัง” อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง”