เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย, พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ, พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก, เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ., กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นำโดยนายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และเภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติกรณีตรวจระดมตรวจค้นคลินิกทั่วประเทศ 8 จุด ลักลอบใช้ยาไม่มีทะเบียน และผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง แต่นำไปใช้ผิดประเภทโดยการนำมาฉีด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต และใช้บุคลากรที่ไม่ได้รับอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมทำการรักษาประชาชน
พฤติการณ์ สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ขอให้ทำการตรวจสอบสถานพยาบาลที่มีการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ โฆษณาเครื่องสำอางที่บรรจุในภาชนะบรรจุรูปแบบแอมพูล/ไวแอล (ขวดแก้ว) มีการนำไปใช้ผิดวิธี/ผิดวัตถุประสงค์ในคลินิกเสริมความงาม
โดยอวดอ้างสรรพคุณช่วยในการทำงานของสมอง หัวใจและหลอดเลือด การหายใจ การนอนหลับ การซ่อมแซมของ DNA ปฏิกิริยาอนุมูลอิสระต่าง ๆ ในร่างกาย ป้องกันการชราภาพและระบบภูมิคุ้มกัน เหมาะกับทุกคนที่อยากดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อให้มีอายุขัยและคุณภาพชีวิตที่ดีและยาวนาน โดยเฉพาะบางกลุ่ม เช่น คนที่ทำงานหนัก เวลาพักผ่อนน้อย กลุ่มนอนหลับยาก มีปัญหาด้านระบบประสาท ระบบหัวใจ โรคเบาหวาน อันมีลักษณะการใช้เช่นเดียวกับยารักษาโรค
ซึ่งหากฉีดเข้าสู่ร่างกายและเข้าสู่กระแสเลือด อาจมีอันตรายต่อร่างกาย ด้วยเครื่องสำอางดังกล่าวไม่ได้ผ่านการรับรองการฆ่าเชื้อ และผลิตในเชิงการแพทย์ อีกทั้งไม่พบว่าเป็นเครื่องสำอางที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานแพทย์ของรัฐ คลินิกบางแห่งใช้หมอเถื่อนในการตรวจรักษา จึงประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. เพื่อทำการตรวจสอบ
เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ทำการสืบสวนตรวจสอบ พบมีสถานพยาบาลชื่อดังหลายแห่ง มีการโฆษณานำเครื่องสำอางมาฉีดให้กับผู้มารับบริการ โดยอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง จนนำมาสู่การร่วมปฏิบัติระดมกวาดล้างสถานพยาบาลที่ทำผิดกฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ รวม 8 จุด ดังนี้
1. สถานพยาบาลเสริมความงาม ตั้งอยู่บริเวณซอยลาดพร้าว 94 แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 ขณะเข้าตรวจสอบพบว่ากำลังให้บริการฉีดเครื่องสำอางให้กับประชาชนที่มารับบริการ ตรวจสอบพบผู้ที่ให้บริการฉีดยา ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม จึงดำเนินการดังนี้
1.1 จับกุม นางสาว ศิราวรรณ (สงวนนามสกุล) อายุ 27 ปี ผู้ให้บริการฉีดยา ในข้อกล่าวหา ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับอนุญาต โดย นางสาว ศิราวรรณฯ รับว่าตนเองจบหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล มาทำงานคลินิกนี้ได้ประมาณ 8 เดือน รับเงินเดือนเดือนละ 15,000 บาท นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้แจ้งข้อหาผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ฐาน “เป็นผู้ดำเนินการไม่ควบคุมและดูแลมิให้ผู้ประกอบวิชาชีพผิดไปจากสาขา ชั้น หรือแผน ที่ได้รับอนุญาตได้แจ้งไว้ในการขอรับใบอนุญาต หรือมิให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพ ทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล เพิ่มเติมอีกด้วย
1.2 ตรวจยึด ผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง แต่นำไปใช้ผิดประเภทโดยการนำมาฉีด จำนวน 1 รายการ ยาแผนปัจจุบัน 4 รายการ เครื่องมือแพทย์ 1 รายการ รวมของกลาง จำนวน 6 รายการ มูลค่าของกลางประมาณ 200,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี
2. สถานพยาบาลเสริมความงาม ตั้งอยู่บริเวณซอยโยธินพัฒนา แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 ขณะเข้าตรวจสอบพบว่ากำลังให้บริการฉีดเครื่องสำอางให้กับประชาชนที่มารับบริการ และพบบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วของเครื่องสำอางดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ตรวจสอบพบผู้ที่ให้บริการฉีดยา ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม จึงดำเนินการดังนี้
2.1 จับกุม นางสาว สุวนันท์ (สงวนนามสกุล) อายุ 29 ปี ผู้ให้บริการฉีดยา ในข้อกล่าวหา ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับอนุญาต โดยนางสาว สุวนันท์ รับว่า ตนเองจบหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล ปกติจะเป็นผู้ช่วยแพทย์ ยกเว้นวันที่แพทย์ไม่เข้ามาที่คลินิก ตนเองก็จะเป็นผู้ฉีดยาให้กับผู้มารับบริการ ทำงานที่คลินิกแห่งนี้ได้ประมาณ 1 ปี รับเงินเดือน เดือนละ 18,000 บาท
2.2 ตรวจยึด ผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง แต่นำไปใช้ผิดประเภทโดยการนำมาฉีด จำนวน 6 รายการ ยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา 5 รายการ ยาแผนปัจจุบัน 5 รายการ เวชระเบียนผู้มารับบริการโดยใช้เครื่องสำอางฉีด จำนวน 35 ฉบับ เอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้อง (ป้ายโฆษณา แผ่นพับ โบว์ชัวร์) จำนวน12 รายการ รวมของกลาง จำนวน 64 รายการ มูลค่าของกลางประมาณ 300,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี
3. สถานพยาบาลเสริมความงามตั้งอยู่บริเวณ ถนนรัชดาภิเษก แขวงรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 ตรวจยึด ยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 12 รายการ ผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง แต่นำไปใช้ผิดประเภทโดยการนำมาฉีด จำนวน 3 รายการ แผ่นพับ ป้ายโฆษณา จำนวน 2 รายการ รวมของกลาง 17 รายการ มูลค่าของกลางประมาณ 200,000 บาท นำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี
4. สถานพยาบาลเสริมความงาม ในพื้นที่ถนนสุขุมวิท แขวงวัฒนา เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 จากการตรวจสอบสถานพยาบาลดังกล่าว เปิดดำเนินการโดยยังไม่ได้รับอนุญาต (คลินิกเถื่อน) ขณะเข้าตรวจสอบพบว่ากำลังให้บริการฉีดยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยาให้กับประชาชนที่มารับบริการ ตรวจสอบพบผู้ที่ให้บริการฉีดยา ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม จึงดำเนินการดังนี้
4.1 จับกุม นางสาว วิภารัตน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 26 ปี ในข้อกล่าวหา ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต ดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับอนุญาต โดย นางสาว วิภารัตน์ฯ รับว่าตนเองจบหลักสูตรพยาบาล มาทำงานที่คลินิกแห่งนี้ได้ประมาณ 1 เดือน รับเงินเดือน เดือนละ 25,000 บาท
4.2 ตรวจยึด ยาที่ยังมิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 5 รายการ ยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 6 รายการ เวชภัณฑ์ จำนวน 8 รายการ เวชระเบียนผู้มารับบริการ จำนวน 45 ราย รวมของกลาง 63 รายการ มูลค่าประมาณ 200,000 บาท นำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี
5. สถานพยาบาลเสริมความงาม ในพื้นที่ถนนสุขาภิบาล 2 แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ตรวจยึด ผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง แต่นำไปใช้ผิดประเภทโดยการนำมาฉีด ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับประชาชน จำนวน 9 รายการ ยาที่ไม่มีทะเบียนตำรับยา จำนวน 5 รายการ เครื่องมือแพทย์ จำนวน 1 รายการ เวชระเบียนผู้มารับบริการ จำนวน 11 ฉบับ แผ่นพับ ป้ายโฆษณา จำนวน 6 รายการ รวมของกลาง จำนวน 31 รายการ มูลค่าประมาณ 400,000 บาท นำส่ง พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี
6. สถานพยาบาลเสริมความงาม ในพื้นที่ถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึด ผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง แต่นำไปใช้ผิดประเภทโดยการนำมาฉีด ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับประชาชน จำนวน 1 รายการ ยาที่ไม่มีทะเบียนตำรับยา จำนวน 2 รายการ เครื่องมือแพทย์ จำนวน 1 รายการ รวมของกลาง จำนวน 4 รายการ มูลค่าประมาณ 200,000 บาท นำส่ง พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี
7.สถานพยาบาลเสริมความงาม ตั้งอยู่บริเวณหมู่ที่ 5 ตำบลหนองป่าครั่ง อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 ขณะเข้าตรวจสอบพบว่ากำลังให้บริการฉีดเครื่องสำอางให้กับประชาชนที่มารับบริการ และพบบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วของเครื่องสำอางดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ตรวจสอบพบผู้ที่ให้บริการฉีดยา ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม จึงดำเนินการดังนี้
7.1 จับกุม นางสาว วันวิสา (สงวนนามสกุล) อายุ 34 ปี ในข้อกล่าวหา ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับอนุญาต โดยนางสาว วันวิสา รับว่า ตนเองจบชั้น ปวช. ทำงานที่คลินิกแห่งนี้ได้ประมาณ 1 ปี รับเงินเดือน เดือนละ 12,000 บาท มีประสบการณ์จากการเคยทำงานในคลินิกอื่นมาก่อน
7.2 ตรวจยึด ผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง แต่นำไปใช้ผิดประเภทโดยการนำมาฉีด ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับประชาชน จำนวน 5 รายการ ยาที่ยังมิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 9 รายการ ยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 6 รายการ มูลค่าประมาณ 400,000 บาท นำส่งพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรแม่ปิง จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินคดี
8. สถานพยาบาลเวชกรรม ตั้งอยู่บริเวณหมู่ที่ 13 ถนนสายเกาะกลาง ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 ตรวจสอบผู้ให้บริการตรวจรักษา ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูล จึงดำเนินการดังนี้
8.1 จับกุม นางสาว นัตธกุล(สงวนนามสกุล) อายุ 32 ปี ในข้อกล่าวหา “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต,ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับอนุญาต โดย นางสาว นัตธกุล รับว่าตนเองจบการศึกษาระดับปริญญาโท จากต่างประเทศ ด้านการบริหารงานบุคคล แต่มีความสนใจในด้านการแพทย์ จึงมาทำการรักษา ณ คลินิกดังกล่าว ทำมาแล้วหลายปี อาศัยความรู้จากการเคยทำงานที่คลินิกอื่นมากก่อน ผู้มารับการรักษาส่วนมากจะเป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน
8.2 ตรวจยึด ยาแผนปัจจุบัน จำนวน 16 รายการ โดยเป็นยาประเภทวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท จำนวน 6 รายการ เวชระเบียน เอกสารอื่นๆ จำนวน 4 รายการ มูลค่าประมาณ 150,000 บาท นำส่งพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินคดี
รวมตรวจค้น 8 จุด จับกุมผู้ต้องหา 6 ราย (แพทย์เถื่อน 5 ราย) เจ้าของคลินิก 1 ราย ตรวจยึดของกลาง จำนวน 205 รายการ มูลค่ากว่า 2,000,000 บาท โดยเป็น ผลิตภัณฑ์จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง แต่ฉลากระบุฉีด จำนวน 25 รายการ ยามีทะเบียนตำรับยา จำนวน 31 รายการ, ยาที่ไม่มีทะเบียนตำรับยา 29 รายการ, เครื่องมือแพทย์ จำนวน 19 รายการ เครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง จำนวน 4 รายการ เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ จำนวน 17 รายการ เวชระเบียน เอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้อง จำนวน 112 รายการ
แจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาที่ทำการรักษา และเจ้าของสถานที่ ทั้งหมด 6 ราย โดยผู้ทำการรักษาจบระดับชั้น ปวช. จำนวน 1 ราย หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล จำนวน 2 ราย ปริญญาตรี 2 ราย ปริญญาโท 1 ราย โดยผู้ต้องหาทั้งหมดให้การรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหา
อนึ่ง การปล่อยให้บุคคลที่มิใช่แพทย์มาให้บริการรักษา ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลจะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐาน “ปล่อยปละละเลยให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีคำสั่งทางปกครองให้ปิดสถานพยาบาลเป็นการชั่วคราว หรืออาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตได้ โดยหากพบการกระทำความผิดพนักงานสอบสวนจะมีการออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องมารับทราบข้อกล่าวหาต่อไป
การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นความผิดตาม
1. พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐาน “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ฐาน
– “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
– “ขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 5,000 บาท
4. พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่เจ้าหน้าที่ตรวจยึด เจ้าหน้าที่ จะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้ดำเนินการสถานพยาบาล หากพบจะมีความผิด ดังนี้
1. ผลิตภัณฑ์ Infinadi NAD+ aging solution เลขที่ใบรับจดแจ้ง 10-1-6400040195
– เป็นเครื่องสำอางปลอม ตาม ม.29 (4) ฝ่าฝืน ม.27(2) โทษ ตาม ม.76 วรรคสอง จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
– เป็นเครื่องสำอางที่รัฐมนตรีประกาศห้าม ตาม ม.6(1) ฝ่าฝืน ม.27(4) โทษ ตาม ม.60 วรรคสอง จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
– ฉลากแสดงข้อความไม่ตรงต่อความเป็นจริง ทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญของความเป็นเครื่องสำอาง ฝ่าฝืน ม.22 วรรคสอง (1) ฝ่าฝืน ม.32(3) โทษ ม.67 วรรคสอง จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
– ฉลากแสดงข้อความที่จำเป็นไม่ครบถ้วน ตาม ม.22(3) ฝ่าฝืน ม.32(4) โทษ ม.68 วรรคสองจำคุก ไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ผลิตภัณฑ์ GN Serum เลขที่ใบรับจดแจ้ง 10-2-6500016903 และ Collagen Plus Skin serum เลขที่ใบรับจดแจ้ง 10-2-6500011009
– เป็นเครื่องสำอางที่รัฐมนตรีประกาศห้าม ตาม ม.6(1) ฝ่าฝืน ม.27(4) โทษ ตาม ม.60 วรรคสอง จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
– เป็นเครื่องสำอางที่ถูกสั่งเพิกถอนใบรับจดแจ้งตาม ม.36 ฝ่าฝืน ม.27(5) โทษตาม ม.83 วรรคสอง จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท
– ฉลากแสดงข้อความไม่ตรงต่อความเป็นจริง ทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญของความเป็นเครื่องสำอาง ฝ่าฝืน ม.22 วรรคสอง (1) ฝ่าฝืน ม.32(3) โทษ ม.67 วรรคสอง จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
– ฉลากแสดงข้อความที่จำเป็นไม่ครบถ้วน ตาม ม.22 (3) ฝ่าฝืน ม.32(4) โทษ ม.68 วรรคสอง จำคุก ไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กล่าวว่า ตามที่นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กรม สบส. เฝ้าระวัง ปราบปราม คลินิกเถื่อน และกวดขันตรวจสอบสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียน มิให้มีการกระทำผิดกฎหมาย ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นที่มาของความร่วมมือในการตรวจค้นคลินิกทั้ง 6 จุดในครั้งนี้ ซึ่งสามารถจับกุมผู้กระทำผิด และยึดของกลางได้หลายรายการ
โดยประเด็นที่น่าเป็นห่วงจากการจับกุมในครั้งนี้ นอกจากการลักลอบให้บริการของหมอเถื่อนที่ขาดความรู้ ความเชี่ยวชาญในการให้บริการทางการแพทย์แล้ว ยังมีการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางอย่างผิดวัตถุประสงค์ กรม สบส. จึงขอแนะให้ประชาชนสังเกตหลักฐานของคลินิกและแพทย์ก่อนรับบริการทุกครั้ง ซึ่งนอกจากจะต้องตรวจสอบป้ายคลินิกว่ามีการแสดงเลขที่ใบอนุญาต 11 หลัก ใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลและใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลแล้ว จะต้องตรวจสอบชื่อ-นามสกุล รูปถ่ายและใบอนุญาตของแพทย์ที่ตรวจรักษา และในกรณี ของการฉีดสารเสริมความงาม หรือสารใด ๆ ก็ตามเข้าสู่ร่างกายควรจะขอดูชื่อผลิตภัณฑ์ และเลขที่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ว่ามีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับสำนักงานคณะกรรมการอาหรและยา (อย.) หรือไม่ เพื่อความปลอดภัย
อย่างผลิตภัณฑ์ “Infinadi NAD+ aging solution” ที่ยึดได้ในครั้งนี้ เป็นเครื่องสำอางปลอม ไม่ได้ผ่านการรับรองการฆ่าเชื้อ และได้รับรองจากหน่วยงานแพทย์ของรัฐ หากประชาชนได้รับการฉีดสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายจนเกิดความพิการ หรือเสียชีวิตได้ หากประชาชนท่านใดพบหรือทราบเบาะแสการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าว ก็ขอให้แจ้งมาที่กรม สบส. ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 หรือหากอยู่ในส่วนภูมิภาคก็ให้แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่โดยทันที
ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ที่ร่วมกันเข้าตรวจสอบคลินิกที่มีการนำเครื่องสำอางในขวดรูปแบบยาฉีด (แอมพูล/ไวแอล) ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์โดยการฉีดเข้าร่างกายหรือใช้ร่วมกับเครื่องมือแพทย์อื่น ๆ ในการผลักดันสารเข้าสู่ผิวหนังเพื่อความสวยงาม โดยอ้างว่าผลิตภัณฑ์นั้นผ่าน อย. และพบการลักลอบใช้เครื่องสำอางที่เพิกถอนใบรับจดแจ้งมาใช้กับผู้รับบริการ
ผลการตรวจสอบพบการใช้ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา พบการลักลอบใช้เครื่องสำอางที่เพิกถอนใบรับจดแจ้ง และพบการนำเครื่องสำอางที่มีเลขที่ใบรับจดแจ้งที่มีไว้ให้บริการโดยวิธีฉีดจริง ซึ่งทาง อย., กก.4 บก.ปคบ.และ สบส. จะร่วมกันเข้าตรวจสอบคลินิกที่ลักลอบนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ และขยายผลถึงแหล่งนำเข้าและจำหน่ายรายใหญ่ หากพบจะดำเนินคดีอาญาและทางปกครองต่อไป
ผลิตภัณฑ์ที่จดแจ้งเป็นเครื่องสำอางจะไม่มีการประเมินความปลอดภัยจากการใช้ฉีดเข้าสู่ร่างกาย เนื่องจากเครื่องสำอางจะใช้ทาภายนอกเท่านั้น ดังนั้น หากนำเครื่องสำอางไปใช้ผิดวิธีหรือผิดวัตถุประสงค์อาจเกิดอันตรายต่อผู้ใช้ได้ ทั้งนี้ อย. ได้มีการเพิกถอนใบรับจดแจ้งเครื่องสำอางที่พบว่ามีการนำไปใช้ฉีดแล้ว จำนวน 6 ฉบับ และมีการดำเนินคดีผู้โฆษณาจำนวน 12 ราย
จึงขอเตือนทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการในคลินิกเสริมความงาม โรงพยาบาล ให้ตรวจสอบฉลากและพิจารณาการใช้ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบแอมพูล/ไวแอลอย่างละเอียด โดยเฉพาะที่มีการกล่าวอ้างว่า “ผ่าน อย. แล้ว” เพราะผลิตภัณฑ์ที่ผ่าน อย. มีหลายประเภทตามระดับความเสี่ยง กรณีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ฉีดเข้าสู่ร่างกาย จัดว่ามีความเสี่ยงสูง ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นยา หรือเครื่องมือแพทย์เท่านั้น โดย อย. ได้จัดทำข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการจดแจ้งเป็นเครื่องสำอางที่บรรจุอยู่ในแอมพูล/ไวแอล เผยแพร่ให้ประชาชนเข้าตรวจสอบได้ในเว็บไซต์ อย.
หากพบว่าผลิตภัณฑ์จดแจ้งเป็นเครื่องสำอาง ห้ามนำมาใช้ฉีดเข้าสู่ร่างกายหรือใช้ร่วมกับเครื่องมือแพทย์อื่น ๆ เพื่อผลักดันสารเข้าสู่ผิวหนังโดยเด็ดขาด และการใช้ยาในคลินิกเสริมความงาม โรงพยาบาล จะต้องเป็นยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้วเท่านั้น หากผู้บริโภคพบคลินิกที่มีพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้น สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: [email protected], Line: @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ก่อนเข้ารับการรักษาโรค หรือเสริมความงาม ตามสถานพยาบาลต่างๆ ควรตรวจสอบการได้รับอนุญาตของคลินิกและแพทย์ที่ทำการรักษาก่อนในเบื้องต้น เพราะอาจทำให้ได้รับความเสี่ยงในการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ไม่ถูกต้องจากบุคลากรที่ไม่ใช่แพทย์ เนื่องจากบริเวณใบหน้ามีเส้นเลือดและเส้นประสาทเป็นจำนวนมาก หากทำการฉีดรักษาโดยบุคลากรที่ไม่ใช่แพทย์อาจทำให้ได้รับความเสี่ยงต่อการรักษาที่ผิดพลาด และเกิดผลกระทบกับใบหน้าได้ง่าย บางรายอาจถึงขั้นเสียโฉมยากต่อการแก้ไข
และขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่สวมรอยเป็นหมอ, หมอเถื่อน หรือคลินิกเถื่อน ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด พี่น้องประชาชนหากพบสถานพยาบาลหรือแพทย์ที่ต้องสงสัยว่าอาจอยู่ลักษณะหมอเถื่อน หรือคลินิกเถื่อน สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค