อุณหภูมิการเมืองร้อนกำลังร้อนแรง หลังจบศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลเมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา ‘นายกฯบิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ถูกจับตาและถูกพาดพิงในหลายวาระ ทุกองคาพยพในสังคมระดมวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างสนุกปากไม่เว้นแต่ละวัน
หากเป็นนายกรัฐมนตรี หรือผู้นำประเทศคนก่อน ๆ ที่ผ่านมาคง ‘เต้นเป็นเจ้าเข้า’ หารือพรรคร่วมพบนู่นปะนี่เพื่อต่อรอง ‘ดีลเกมอำนาจ’ กันจนไม่เป็นอันบริหารกิจการบ้านเมืองไปแล้ว ?
แต่ไม่ใช่สำหรับนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ ‘บิ๊กตู่’
เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ รู้ดีว่า เวลานี้ไม่ใช่เวลาแห่งการเล่นเกมการเมือง แต่คือเวลาในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา และจีน รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังซบเซาลงอย่างหนักจากไวรัสโควิด-19
หากนับช่วงเวลาประมาณ 7-8 เดือนที่ผ่านมาที่ ‘ครม.บิ๊กตู่’ 2/1 บริหารราชการแผ่นดิน มีหลายนโยบายออกมาช่วยเหลือประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤติตั้งแต่ภัยแล้ง น้ำท่วม ฝุ่น PM 2.5 จนถึงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน โดยนโยบายหลักที่สามารถนำไปคุยได้บนเวทีโลกคือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ถูกปรับปรุงโฉมใหม่โดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงนโยบายบัตรสวัสดิการประชารัฐ ที่ช่วยให้ชาวบ้านได้ลืมตาอ้าปาก
และไม่ใช่แค่เรื่องการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงการวางรากฐานเศรษฐกิจไทยในอนาคตให้ ‘หยั่งราก’ ลึกแข็งแรงบนเวทีโลกด้วย โดยเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ประเด็นที่น่าสนใจ มีหลายนโยบาย หรือหลายมาตรการที่ผ่านมา ที่ฝ่ายบริหาร และนายกรัฐมนตรีใช้วิธี ‘โยนหินถามทาง’ เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชน
หากนโยบายใดประชาชนไม่เอาด้วย หรือประชาชนไม่ชอบใจ แน่นอน ‘บิ๊กตู่’ ดำเนินการ ‘โละ-รื้อ’ เพื่อตามใจประชาชนเป็นอันดับแรก เรียกได้ว่าไม่มีการออกนโยบายใดที่ ‘เอาเปรียบ’ ประชาชนแม้แต่ครั้งเดียว
ไม่จำเป็นต้องย้อนไปไกลมาก เอาแค่ในช่วงต้นปี 2563 ก็พอ มีอย่างน้อย 2 มาตรการที่ฝ่ายบริหารชงเรื่องให้ ครม.บิ๊กตู่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น เมื่อเดือน ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะอนุมัติให้มีการหยุดยาว 9 วัน ในช่วงสงกรานต์ปี 2563 นัยว่าเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวที่กำลังซบเซา ให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น
อย่างไรก็ตามมีเสียงสะท้อนจากประชาชนจำนวนหนึ่ง ‘ไม่เอาด้วย’ กับมาตรการนี้ เพราะว่าเกิดวิกฤติการณ์ไวรัสโควิด-19 พอดิบพอดี รวมถึงการหยุดยาวมากถึง 9 วันอาจไม่ตอบโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าที่ควร
‘บิ๊กตู่’ สั่ง ครม.เบรกมาตรการนี้โดยพลัน แบบที่ไม่จำเป็นต้องให้ฝ่ายไหนไปทบทวนอีก !
“ถัดมาอีกเดือน มี.ค. 2563 ท่ามกลางสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 กำลังสุกงอมและแพร่ระบาดไปทั่วทั้งโลก นอกเหนือจากจีน โดยเฉพาะแถบตะวันออกกลาง เอเชีย และยุโรป ขณะที่ในไทยสถานการณ์ยังคงที่ มีมาตรการรับมืออย่างมั่นคง โดยในไทยยังเข้าสู่ระดับที่ 2 จาก 3 ระดับ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 1/2563 โดยพูดกลางวงประชุมให้ทบทวนและบูรณาการทุกหน่วยงานแนวปฏิบัติแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้ประชาชนมั่นใจมากขึ้น
โดยช่วงต้นเดือน มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา ‘ครม.เศรษฐกิจ’ เตรียมชงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่เพื่อรับมือไวรัสโควิด-19 โดยจะแจกเงินให้ประชาชน รายละ 2,000 บาท ผ่านระบบอีเพย์เมนต์ เป็นระยะเวลา 2 เดือน (จ่ายเดือนละ 1,000 บาท)
ทว่าเกิดกระแสต้านจากประชาชนบางกลุ่ม ที่เห็นว่า การแจกเงินดังกล่าวอาจ ‘ไม่ตรงจุด’ ในการแก้ไขสถานการณ์ ส่งผลให้ ‘บิ๊กตู่’ ต้องออกโรง ‘เบรก’ มาตรการนี้อีกครั้ง โดยวันที่ 9 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ แถลงว่าในการประชุม ครม. วันที่ 10 มี.ค. 2563 จะไม่มีการเสนอมาตรการแจกเงินรายละ 2,000 บาท แต่จะมีการเสนอมาตรการอื่นแก้ไขแทน เช่น การคืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าให้แก่ประชาชน รายละ 3,000 บาท ยกเว้นผู้ประกอบการรายใหญ่ รวมถึงมาตรการเพิ่มเติม เช่น ลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซ เป็นต้น
โดยเหตุผลหลักที่ ‘นายกฯบิ๊กตู่’ เบรกมาตรการดังกล่าว เพราะรัฐบาลต้องกันเงินส่วนหนึ่งไว้เพื่อดูแลภาคเอกชนที่ประสบปัญหา เช่น ด้านการท่องเที่ยว ร้านค้า การจัดอีเวนต์ ฯลฯ โดยอาจออกนโยบายเรื่องภาษี การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ขยายเวลาในการยึดหลักทรัพย์ค้ำประกัน เป็นต้น สะท้อนให้เห็นว่าไม่ว่าประชาชนระดับรากหญ้า เกษตรกร หรือแม้แต่ภาคเอกชน ทุกอย่างดูแลเท่าเทียมกันหมดอย่างทั่วถึง ไม่แบ่งแยกชนชั้นแต่อย่างใด
“ถามว่าเหนื่อยมั้ย ก็เหนื่อย แต่ไม่มาก ยังทนไหว ไม่ใช่ทนสิ ต้องปลุกตัวเองตลอดเวลาว่าต้องทำนะ ถ้าไม่ทำ จะทำอย่างไรกันต่อไป ดังนั้นในช่วงที่ผมยังอยู่ ก็ทำให้ดีที่สุด” พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยัน
สำหรับมาตรการอื่นที่คาดว่าจะนำมาทดแทน ตามการแถลงของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ได้แก่1.มาตรการคืนเงินประกันค่ามิเตอร์ไฟฟ้า ตามที่ ‘บิ๊กตู่’ บอกไปแล้ว จำนวน 21.5 ล้านราย วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท 2.มาตรการตรึงค่าไฟฟ้าประชาชน อยู่ที่ 3.50 บาท/หน่วย เป็นเวลา 3 เดือน 3.มาตรการขยายระยะเวลาชำระค่าไฟฟ้าในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ออกไป 6 เดือน ให้กับบ้านพักอาศัย กิจการขนาดเล็ก และธุรกิจโรงแรม 4.มาตรการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า จำนวน 4 พันล้านบาท เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศผ่านโครงการ อาทิ การขุดบ่อบาดาล แก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจะร่วมกับกระทรวงต่างๆ มี่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
เห็นท่าที-ผลงาน ‘นายกฯบิ๊กตู่’ รวมถึงการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมากันบ้างแล้ว เอาแค่เฉพาะในปี 2563 ผ่านมาแค่ 3 เดือนยังทำได้ขนาดนี้ หวังว่าหลายคนคงปรับความเข้าใจเสียใหม่ และช่วยเหลือให้ประเทศชาติผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน ไม่แบ่งข้าง-แบ่งสีสร้างความขัดแย้งเหมือนที่ผ่าน ๆ มากันอีก