อย่าประเมินกัมพูชาต่ำเกินไป-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

เครียดเลย….

อ่านข้อความที่ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก บอกว่า โมเดลล่าสุดทำนายว่า ปีนี้เอลนีโญอาจทำให้เมืองไทยร้อนเป็นประวัติการณ์!

นี่ยังร้อนไม่พออีกหรือครับ

“…เอลนีโญจะจบลงช่วงเดือนมิถุนายน แต่ช่วงครึ่งปีแรกโลกจะร้อนเดือดไปทุกหนแห่ง หลายประเทศอาจร้อนจนทะลุสถิติเดิมในปีก่อน

ปี ๒๕๖๗ อาจเป็นปีที่ร้อนยิ่งกว่าร้อน แผนที่จำลองพื้นที่อุณหภูมิสูงกว่าปรกติ จุดแรเงาในภาพคือบริเวณที่อาจร้อนสูงสุดจนสร้างสถิติใหม่

มีประเทศไทยอยู่ในเขตนั้นด้วย

ในทะเลคงร้อนจัดเช่นกัน เริ่มเกิดปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ในออสเตรเลีย นักวิทย์ทะเลเตือนปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ทั่วโลก องค์กรระหว่างประเทศปรับสเกลยกระดับปะการังฟอกขาวขึ้นอีก ๓ ขั้น

เพราะของเดิมไม่พอใช้ประเมินสถานการณ์ในยุคโลกเดือด

จึงนำมาบอกเพื่อนธรณ์ไว้ จะหาทางหนีทีไล่อย่างไรตามสะดวก ส่วนผมพร้อมแล้ว เมษาพฤษภาจะไปทำงานทั่วทะเลไทย ให้ทะเลช่วยบรรเทาความร้อน

ขอให้เพื่อนธรณ์เตรียมตัวรับมือความร้อนในยุคโลกเดือดครับ…”

ย้ายไปอยู่ขั้วโลกเหนือ กับพี่น้องเอสกิโม ซะเลยดีมั้ยครับ?

ก็เตรียมตัวกันไว้ ใครขี้ร้อน ก็หาที่เย็นๆ อยู่ ไม่อยากเปลืองไฟก็ไปเดินห้าง แต่อย่าเผลอซื้อข้าวของจนเกินค่าไฟเสียล่ะ

ส่วนพวกหัวร้อน อันนี้ไม่เกี่ยวกับฤดูกาล เพราะต่อให้หนาวจนน้ำลายเป็นน้ำแข็ง พวกนี้ก็หัวร้อนอยู่ดี

มาต่อกันเรื่อง “ทักษิณ-ฮุน เซน” และเกาะกูด

เห็นหลายคนในรัฐบาลหัวร้อนกับเรื่องนี้ ก็อยากจะสาดน้ำเย็นๆ ใส่ ให้สงบลงบ้าง

แล้วช่วยมองความเป็นจริงหน่อยว่า อดีตเคยผิดพลาดมาอย่างไร อย่าให้ผิดซ้ำ

อย่ายกหางตัวเองว่า เก่งกว่าใคร

โต้กลับ ใครค้าน คือพวกไม่มีข้อมูล

ไม่ใช่เหตุบังเอิญครับ

กัมพูชา ชิงประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทย เมื่อปี ๒๕๑๕ ก่อนที่ไทยจะประกาศในปีถัดมา

กรรมสิทธิ์เกาะกูดเป็นปัจจัยสำคัญในการแบ่งเขตทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา

ปี ๒๕๑๕ กัมพูชายังอยู่ในสงครามกลางเมืองอยู่เลย

ฉะนั้นอย่าประเมินเขาต่ำเกินไป

และทุกครั้งที่มีรัฐบาลระบอบทักษิณ ทางกัมพูชาจะเร่งรีบเจรจา พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในทะเล ทุกครั้งไป

นี่ก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

เอ็มโอยู ๔๔ เกิดในรัฐบาลทักษิณ มีแผนที่แนบท้าย เป็นแผนที่ที่แสดงแนวเขตการอ้างสิทธิของทั้งสองฝ่าย

รัฐบาลอภิสิทธิ์พยายามยกเลิก เพราะทักษิณไปเป็นที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เอาเอ็มโอยู ๔๔ มาเป็นกรอบคุยกับกัมพูชาอีกครั้ง

ในการเจรจาระดับรัฐบาล “ฮุน เซน” เคยเสนอ “ยิ่งลักษณ์” ว่าควรให้จังหวัดที่อยู่ติดชายแดน ได้พบหารือกันเพื่อแก้ปัญหาที่มีอยู่ตามแนวชายแดน

เหมือนขุดบ่อล่อปลา ให้ระดับท้องถิ่นแก้ปัญหา

กัมพูชามีท่าทีชัดเจนมาตลอด ต้องการให้พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในไหล่ทวีปทั้งหมดเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม โดยให้แบ่งผลประโยชน์ฝ่ายละเท่ากัน

โดยที่ไม่สนใจที่จะปรับปรุงเส้นเขตไหล่ทวีปที่ตนอ้างสิทธิให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

ฉะนั้นจึงมีคำถามว่าควรยกเลิกเอ็มโอยู ๔๔ หรือไม่

ดร.ประจิตต์ โรจนพฤกษ์ อดีตผู้แทนไทย ในการประชุมสหประชาชาติจัดทำอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมาย

ทะเลฉบับปี ค.ศ. 1982 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนี้ เคยเป็นผู้แทนและหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการเจรจาแบ่งเขตทางทะเลระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เคยเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเล เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภา เขียนให้คำตอบเรื่องนี้ไว้เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๔

“….ควรบอกเลิกบันทึกความเข้าใจนี้หรือไม่?

เห็นว่าก่อนดำเนินการขั้นต่อไปตามบันทึกความเข้าใจฯ จะต้องเสนอกัมพูชาทบทวนแก้ไขบันทึกความเข้าใจฯ นี้ในสาระสำคัญ ขอให้ถามกัมพูชาว่าเส้นประกาศเขตไหล่ทวีปกัมพูชาจากจุด A (หลักเขต ๗๓) จากชายฝั่งประชิดเขตแดนทางบกระหว่างไทยกับกัมพูชา ผ่ายอดสูงสุดของเกาะกูด (จุด S) ตรงไปที่กึ่งกลางของฝั่งตรงข้ามของอ่าวไทยที่จุด P ทั้งๆ ที่เกาะกูดเป็นของไทยแน่นอนปราศจากข้อสงสัยนั้น มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายระหว่างประเทศสนับสนุนอย่างไร? นอกจากนั้นกัมพูชายังประกาศในตอนหลังใช้เส้นเดิมจากจุด A (หลักเขต ) ๗๓ ไปถึงเกาะกูด เป็นทะเลอาณาเขตกัมพูชาด้วยดังกล่าวข้างต้น

อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า หากดำเนินการทำความตกลงตามบันทึกความเข้าใจฯ ต่อไป จะทำให้พื้นที่ทับซ้อนในทะเลส่วนล่างซึ่งตกลงกันจะแสวงประโยชน์ร่วมกันนั้น เมื่อความตกลงมีผลบังคับก็จะเป็นผลให้พื้นที่ในท้องทะเลเหนือส่วนล่างนี้เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone) ทับซ้อนไปด้วยทันที ซึ่งทำให้แต่ละประเทศมีสิทธิทำการประมงในเขตนี้ และยังคงมีปัญหาในการแบ่งพื้นที่ทับซ้อนในทะเลส่วนล่างต่อไป เพราะในบันทึกความเข้าใจฯ ไม่ได้กล่าวเรื่องนี้ไว้

หากกัมพูชาไม่ยอมปรับเส้นเขตทางทะเลดังกล่าว ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศโดยนัยสำคัญแล้ว ฝ่ายไทยจะต้องรีบบอกเลิกบันทึกความเข้าใจฯ นี้โดยเร็ว มิฉะนั้นแล้ว หากเป็นคดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเล ประเทศไทยย่อมเสียเปรียบในรูปคดีแน่ เพราะศาลก็จะบังคับให้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจฯ ตามที่ศาลเห็นสมควร

ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย ก็เห็นว่าประเทศไทยย่อมจะรับพิจารณาปรับเส้นประกาศเขตทางทะเลของตน หากฝ่ายกัมพูชาเสนอเส้นประกาศเขตทางทะเลใหม่อย่างสมเหตุสมผล โดยมีข้อสนับสนุนทางกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะในการประกาศเขตทางทะเล แต่ละประเทศย่อมประกาศใช้สิทธิเต็มที่ (Maximum Claim)

ปัจฉิมลิขิต

โดยที่บันทึกความเข้าใจฯ นี้ ทำให้เกิดพื้นที่ทางทะเลที่อ้างสิทธิทับซ้อนอย่างกว้างขวางถึงประมาณ ๒๖,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ซึ่งจากข้อมูลปรากฏว่ามีทรัพยากร ธรรมชาติที่ไม่มีชีวิตได้แก่ น้ำมันโดยเฉพาะก๊าชธรรมชาติปริมาณมากมีมูลค่ามหาศาล และยังไม่สายเกินไปที่จะดำเนินการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ จึงหวังว่าผู้ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงจะพิจารณาทบทวนแก้ไขในเรื่องนี้ มิฉะนั้นแล้ว จะเป็นกรณีศึกษาวิชากฎหมายระหว่างประเทศ ที่ประเทศเจ้าของเกาะยอมให้ประเทศอื่นลากเส้นแบ่งเขตทางทะเลแบ่งเกาะของตนและเขตทางทะเลของเกาะตน เท่ากับเป็นการเสียเขตทางทะเลซึ่งส่วนหนึ่งเป็นน่านน้ำภายในและทะเลอาณาเขต ซึ่งเป็นเขตที่อยู่ในอำนาจอธิปไตย (sovereignty) เสมือนดินแดนบนบกของประเทศ และส่วนอื่น ซึ่งเป็นเขตไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะซึ่งเป็นเขตที่อยู่ในสิทธิอธิปไตย (sovereign right) ของตน…”

ถามพวกหัวร้อนคำเดียวครับ เคยบอกให้กัมพูชาไปขีดเส้นใหม่หรือเปล่า

หรือเอาแต่ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง

จะเจรจาภายใต้กรอบเอ็มโอยู ๔๔ เท่านั้น

Written By
More from pp
ททท. ชวนเที่ยวงาน Stress Free Festival @เขาใหญ่ สไตล์ New Normal Relaxing Time
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ จังหวัดนครราชสีมา จัดงาน Stress Free Festival @เขาใหญ่ ในวันที่ 4-6 กันยายน...
Read More
0 replies on “อย่าประเมินกัมพูชาต่ำเกินไป-ผักกาดหอม”