‘ขัดแย้ง’ กับ ‘แรงยุ’ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

โลกเต็มไปด้วยความขัดแย้ง

สาเหตุก็เพราะยังคงมีผู้สนับสนุนให้เกิดความขัดแย้ง มากกว่าจะสร้างสันติภาพนั่นเอง

กรณี กลุ่มฮามาส กับอิสราเอล ใครผิดใครถูกคงต้องว่ากันอีกยาว แต่การประกาศยืนข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนี่แหละครับ มันทำให้สงครามไม่จบเสียที

ภูมิภาคนี้ก็คงต้องสู้รบกันไปอีกนาน จนกว่าทุกฝ่ายจะสะกดคำว่า “สันติภาพ” เป็นและเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน

อีกพันปีจะจบหรือเปล่าก็ไม่รู้

ที่แน่ๆ ประชาชนชาวอิสราเอล และชาวปาเลสไตน์ รวมทั้งชาวต่างชาติที่เข้าไปทำงานในพื้นที่ที่มีข้อพิพาท คือผู้รับกรรม

ตั้งแต่อิสราเอลโต้กลับ มีชาวปาเลสไตน์อย่างน้อย ๑.๒ แสนคน กลายเป็นผู้พลัดถิ่นในฉนวนกาซา ต้องออกจากบ้านไปหาที่หลบภัย

นี่แหละครับสงคราม!

มีเสียงวิจารณ์ถึงท่าทีของ “เศรษฐา ทวีสิน” ผู้นำของไทยมากพอควร ว่าเหมาะกับสถานภาพและสถานการณ์หรือไม่

“เป็นการโจมตีที่ไร้มนุษยธรรม ทำให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตและบาดเจ็บ พร้อมแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อรัฐบาลและประชาชนของอิสราเอล”

อ่านกี่เที่ยวก็เข้าใจได้ว่า เป็นการสนับสนุนอิสราเอล

จริงอยู่ครับการโจมตีเป้าหมายพลเรือนของกลุ่มฮามาสเป็นเรื่องที่ต้องประณาม แต่นี่คือสงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน ต่างฝ่ายต่างโจมตีกัน

ต่างฝ่ายต่างเสียชีวิตพลเรือนไปเหมือนๆ กัน

ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตจากการโจมตีของกองทัพอิสราเอลไปก็มิใช่น้อย

ฉะนั้นการประณามของ “เศรษฐา” จึงควรมีชั้นเชิงมากกว่านี้

อย่าให้เกิดความเข้าใจได้ว่า ไปเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

เหตุผลที่ผู้นำระดับโลกตะวันตก สนับสนุนอิสราเอล เราก็รู้อยู่แล้วว่าเพราะอะไร

ผู้นำชาติอาหรับ ไปอีกทาง เราก็รู้ว่ามันต้องเป็นแบบนั้น

ชาติยักษ์ใหญ่อย่างรัสเซีย จีน พูดไม่เหมือน ผู้นำตะวันตก มันก็มีเหตุผลที่เป็นเช่นนั้น

เช่นเดียวกันประเทศเล็กๆ ก็ควรแสดงท่าทีอีกแบบ เพราะหากผิดพลาดขึ้นมา จะได้ไม่คุ้มเสีย

ครับ…สถานการณ์ที่ฉนวนกาซาก็คงรุนแรงต่อเนื่องไปอีกหลายวัน อาจจะหลายเดือน หรือหลายปี จนกว่าทั้ง ๒ ฝ่าย จะกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา

แต่…ผู้นำตะวันตกส่วนใหญ่ แทบไม่มีใครพูดถึงการเจรจาเลย ส่วนใหญ่ประกาศถือหางอิสราเอล

ประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” ของสหรัฐฯ ประณามการโจมตีครั้งนี้ว่าเป็นการโจมตีที่ไม่มีสามัญสำนึก

ไบเดน ประกาศสนับสนุนอิสราเอล

ยืนหยัดเคียงข้างและให้ความช่วยเหลือที่อิสราเอลต้องการ

ขณะที่ “จัสติน ทรูโด” นายกรัฐมนตรีแคนาดา โพสต์ข้อความบน X (เอ็กซ์) ระบุว่า แคนาดาขอประณามเหตุก่อการร้ายที่เกิดขึ้นกับอิสราเอล ความรุนแรงดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้

พร้อมสนับสนุนสิทธิในการป้องกันตัวเอง ชีวิตของพลเรือนต้องได้รับการปกป้อง

“ริชี ซูแน็ก” นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เผยว่าตกใจอย่างยิ่งกับเหตุกลุ่มฮามาสโจมตีพลเรือนอิสราเอลในครั้งนี้ พร้อมยืนยันว่าอิสราเอลมีสิทธิ์ที่จะป้องกันตัวเอง

“เอมมานูเอล มาครง” ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ก็ออกมาประณามการกระทำที่รุนแรงของกลุ่มฮามาส พร้อมแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสีย

ส่วนผู้นำประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป ไม่ว่าจะเป็น เยอรมนี สเปน อิตาลี เบลเยียม โปแลนด์ ต่างก็ออกมาประณามการโจมตีของกลุ่มฮามาส และสนับสนุนอิสราเอล

โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีของยูเครน ไม่ยอมตกขบวน เรียกการโจมตีในครั้งนี้ว่าเป็น “การก่อการร้าย” ประณามการโจมตีของกลุ่มฮามาส

และเรียกร้องให้ผู้นำโลกทุกคนออกมาแสดงการสนับสนุนอิสราเอล

ถือว่าสุดโต่งไปมาก ประเทศตัวเองก็อยู่ในภาวะสงคราม แทนที่จะโหยหาเสรีภาพ กลับเชิญชวนสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งมันก็คือสนับสนุนสงครามนั่นเอง

ต่างจากจีน ที่แสดงความกังวลต่อความตึงเครียดและความรุนแรงที่เกิดขึ้น ระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล

ประณามและต่อต้านการทำร้ายพลเรือนของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นพลเรือนชาวยิวหรือพลเรือนชาวปาเลสไตน์

ที่สำคัญจีนเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิงในทันที เพื่อปกป้องพลเรือนและไม่ให้เกิดความเสียหายไปมากกว่านี้

ก็น่าจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ชัดเจนเรื่องให้ทั้ง ๒ ฝ่ายเข้าสู่โต๊ะเจรจา

ต้นสายปลายเหตุสงครามรอบนี้ยังไม่มีการพูดถึงมากนัก แม้จะรู้กันทั่วไปว่า อิสราเอล กับ กลุ่มฮามาส ผลัดกันโจมตี และต่างฝ่ายต่างสูญเสียมานานแล้ว

ฟังจากผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง ผศ.มาโนชญ์ อารีย์ นักวิชาการ อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ เปิดโต๊ะข่าว ผ่านทาง PPTV Online รายละเอียดดังนี้ครับ…

…ในประเทศอิสราเอล เป็นเทศกาลวันหยุดยาว เป็นวันหยุดทางศาสนา เทศกาลนี้เขาจะไปประกอบพิธีทางศาสนา แสวงบุญ โดยเฉพาะกับสถานที่ที่เรียกว่าวิหารโซโลมอน ที่มีความเชื่อว่าอยู่บริเวณมัสยิดอัลอักซอ โดยปกติทุกปีก็จะมีการเดินอยู่รอบๆ กำแพง

แต่ปีนี้ ชาวยิว ที่มีลักษณะมีความชาตินิยมค่อนข้างสูงเป็นพันคน บุกเข้าไปในมัสยิด และประกอบพิธีทางศาสนาข้างในนั้น สถานที่ตรงนี้ โดยข้อตกลง หรือ กฎหมายระหว่างประเทศ ระบุว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สงวนไว้สำหรับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอิสลามเท่านั้น ส่วนคนนอกเขาให้ไปเยี่ยมชมได้ สังเกตการณ์ได้ แต่ห้ามประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

ดังนั้นเราจะเริ่มเห็นแล้วว่า มีคนเป็นพันคนบุกเข้าไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ขณะที่ชาวปาเลสไตน์ถูกกันไม่ให้เข้า และมีกองกำลังอิสราเอลปกป้องอยู่ ตรงนี้เองเป็นชนวนเหตุหนึ่งที่สำคัญมากๆ หากดูจากชื่อของปฏิบัติการ

ที่ผ่านมาฮามาสส่งสัญญาณเตือนมาตลอดว่า มัสยิดอัลอักซอ เป็นเส้นแบ่งที่ข้ามไม่ได้ และเขาเตือนอิสราเอล โดยใช้คำว่าอย่าเล่นกับไฟ ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น จึงไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายว่าจะมีปฏิบัติการจากฝั่งฮามาส เพราะหลายครั้งที่ผ่านมา เมื่อมีเหตุการณ์ลักษณะนี้ ก็มักจะมีปฏิกิริยาทุกครั้ง

สิ่งที่เหนือความคาดหมายคือ รูปแบบและวิธีการในการปฏิบัติการครั้งนี้ ทั้งทางอากาศ ทางบก ยิงจรวด บุกเข้ามา เป็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่เวลาเราจะวิเคราะห์ว่าหนทางข้างหน้าจะไปอย่างไร ก็จะใช้สูตรเดิมไม่ได้ วันนี้นักวิเคราะห์บอกว่า สถานการณ์อันตรายมากที่สุดในรอบ ๕๐ ปี หรือหลังจากที่มีสงครามอาหรับอิสราเอลครั้งสุดท้ายเมื่อปี ๑๙๗๓…”

แต่เงื่อนไขนี้ ไม่สามารถนำไปสู่ข้อสรุปว่าใครผิดใครถูกครับ เพราะความขัดแย้งหยั่งรากลึกเกินกว่าที่จะใช้เหตุการณ์เพียงเหตุการณ์เดียวมาสรุปได้

ฉะนั้นทางออกที่ถูกต้องและเหมาะสมตามสถานการณ์คือ การเปิดโต๊ะเจรจา เท่านั้น

รัฐบาลไทยเองควรแสดงท่าทีให้ ๒ ฝ่ายเจรจา มากกว่าการไปยืนข้างใดข้างหนึ่ง

เหนือสิ่งอื่นใด ในไทยเองก็มีความขัดแย้ง

แต่ด้วยรากเหง้าของปัญหาแล้ว ถือว่าประเทศไทยโชคดีครับ

ปัญหาเราน้อยกว่าเขาเยอะ

Written By
More from pp
งั้นก็ขีดฆ่า ‘ก้าวไกล’ – ผักกาดหอม
ผักกาดหอม ช็อกกันเลยทีเดียว! จริง ไม่จริง อย่าเพิ่งปักใจ ยุคนี้ทนายออกสื่อ เป็น เซเลบ ดารากันเยอะ บางคนเริ่มแยกบทบาทตัวเองไม่ออก อย่างคดีแตงโม ลองนับซิครับว่า...
Read More
0 replies on “‘ขัดแย้ง’ กับ ‘แรงยุ’ – ผักกาดหอม”