จากเมื่อ 8 ปีก่อนที่ไทยได้รับการประกาศจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้เป็นที่ 1 ของเอเชีย และที่ 2 ของโลกยุติติดเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูก หรือพบการติดเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูก เพียงต่ำกว่าร้อยละ 2 ด้วย “HIV Literary” หรือทักษะการป้องกันและดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากการติดเชื้อ หรือไม่ให้ต้องรับเชื้อ HIV เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกเริ่มของชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา 1,000 วันแรก จะ “ชี้ชะตา” ชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัยได้ต่อไปในวันข้างหน้า
รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นพพร อภิวัฒนากุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัญหาการติดเชื้อโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง HIV ในประเทศไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มรุนแรงน้อยลง
ที่ผ่านมาพบจำนวนผู้ติดเชื้อ HIV มีน้อยกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID – 19 ในช่วงวิกฤติ โดยสามารถป้องกันได้ตั้งแต่ฝากครรภ์ และเข้าสู่ระบบการคัดกรอง ตลอดจนลดโอกาสถ่ายทอดเชื้อจากมารดาสู่ทารกได้ทันทีที่ได้รับยาต้านไวรัสตั้งแต่ทราบผลการติดเชื้อ และให้ทารกได้รับยาต้านไวรัสเพื่อป้องการติดเชื้อ ปัจจุบันพบว่าผลข้างเคียงจากยาต้านไวรัสค่อนข้างน้อยมาก และมีความปลอดภัยสูง
นอกจากนี้การเฝ้าระวังการติดเชื้อ HIV ในทารกแรกเกิดในปัจจุบันมีแนวโน้มเปลี่ยนไป ซึ่งการติดเชื้อ HIV ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะจากแม่สู่ลูก แต่อาจติดจากพ่อผ่านมาทางแม่ก็ได้ ในช่วงฝากครรภ์จึงมีการคัดกรองทั้งบิดา และมารดา
ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า “รก” ในครรภ์มารดาสามารถกั้นการติดเชื้อ HIV ได้ร้อยละ 100 นั้น แต่ในความเป็นจริงกั้นได้เพียงประมาณร้อยละ 70 – 80 โดย รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นพพร อภิวัฒนากุล มองว่าความเสี่ยงสูงน่าจะตกอยู่กับทารกที่คลอดออกมาแล้วจะต้องสัมผัสกับเชื้อ HIV ที่ปนเปื้อนมากับสารคัดหลั่งต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อได้มากกว่า
และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการรณรงค์ให้แม่ตั้งครรภ์เข้ารับการคัดกรองเพื่อตรวจหาเชื้อ HIV โดยเร็วที่สุด คือ การสร้างทัศนคติที่ดี – หยุดตีตราผู้ติดเชื้อ HIV
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th