อนาคต ม.๑๑๒ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ย้อนกลับไปกลางปีที่แล้ว

ในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งอัยการสูงสุดตรวจสอบด่วน มีคำสั่งรับหรือไม่รับคำร้อง กรณีมีการกล่าวหาพรรคก้าวไกล เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ส่อขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ หรือไม่

เพราะมีผู้ไปร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน

มีการตั้งคำถามกันเซ็งแซ่

อัยการสูงสุด เกียร์ว่างใช่หรือไม่

การใช้สิทธิต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีการร้องขอให้เลิกการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๗ (๓) เกี่ยวกับหลักเกณฑ์เเละวิธีการ บัญญัติไว้ว่า

๑.ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดังกล่าว มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้

๒.หากอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอหรือไม่ดำเนินการภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง ผู้ร้องจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

ก่อนหน้านั้นวันที่ ๓๐ พฤษภาคม “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด ให้พิจารณาดำเนินกรณี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ที่หาเสียงด้วยการแก้ ม.๑๑๒ เพื่อส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ

ให้ศาลวินิจฉัยสั่งการให้ “พิธา” เลิกกระทำการใดเพื่อยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ และให้เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ที่กระทำอยู่

และเลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรค ๒ ดังที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีแนวบรรทัดฐานไว้ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๙/๒๕๖๔

เมื่ออัยการสูงสุดไม่หือไม่อือ ๑๖ มิถุนายน “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” จึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง

นี่คือทั้งหมดของกระบวนการฟ้องร้องในคดีนี้ ท่ามกลางเสียงเหน็บแนมบรรดานักร้องที่จ้องเล่นงานพรรคก้าวไกล

พูดง่ายๆ เข้าสู่ยุคตกต่ำของบรรดานักร้องทั้งหลาย หลัง “ศรีสุุวรรณ จรรยา” โดนล่อซื้อคดีตบทรัพย์ ชงเอง กินเอง โดนเอง

สุดท้ายต้องไปพิสูจน์ในศาลว่า “คุก” หรือไม่

คำร้องที่ “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เอาถึงคุก ยุบพรรค หรือตัดสิทธิทางการเมือง

แค่ต้องการให้ “พิธา” และ “พรรคก้าวไกล” ยุติการกระทำเสีย โดยอ้างอิงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๙/๒๕๖๔

หลายวันมานี้มีการพูดถึง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๙/๒๕๖๔ กันเยอะ

มาดูกันว่าคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้อย่างไร

เป็นคดีระหว่าง “ณฐพร โตประยูร” ผู้ร้องกับบรรดาแกนนำสามนิ้ว ๘ คน นำโดย อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, พริษฐ์ ชิวารักษ์, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, สิริพัชระ จึงธีรพานิช, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ อาทิตยา พรพรม

เหตุแกนนำสามนิ้วปราศรัยต่อเนื่อง เรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

และวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๓ การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยข้อเรียกร้อง ๑๐ ประการ

๑.ยกเลิกมาตรา ๖ แห่งรัฐธรรมนูญที่ว่า ผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้และเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร

๒.ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ รวมถึงเปิดให้ประชาชนใช้เสรีภาพแสดงความคิดต่อสถาบันกษัตริย์ได้และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน

๓.ยกเลิกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๕๖๒ และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลังและทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่เป็นของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน

๔.ปรับลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

๕.ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจนเช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่นและให้หน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็นเช่น คณะองคมนตรีนั้นให้ยกเลิกเสีย

๖.ยกเลิกการบริจาค การรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลเพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด

๗.ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ

๘.ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้ศึกษาเชิดชูสถาบันกษัตริย์เพียงแต่ด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด

๙.สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์ หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ กับสถาบันกษัตริย์

๑๐.ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหาร

ในภาพรวมคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุไว้ดังนี้…. …สถาบันพระมหาษัตริย์ของไทยเป็นเสาหลักสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ดังนั้นการกระทำใดๆ ที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลายไป ไม่ว่าจะโดยวิธีการพูด การเขียน หรือการกระทำต่างๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่าหรือทำให้อ่อนแอลง ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันกษัตริย์

เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิใช่เป็นการปฏิรูป เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริตเป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรค ๑…

…หากยังคงให้ผู้ถูกร้อง รวมทั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่นำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ด้วยเหตุข้างต้นจึงวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรค ๑ และสั่งการให้ผู้ถูกร้อง รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามมาตรา ๔๙ วรรค ๒…

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๙/๒๕๖๔ นี้จึงเป็นที่จับตามองว่าจะเป็นบรรทัดฐานในคดี ที่ “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ร้อง “พิธา” และพรรคก้าวไกลหรือไม่

หากใช่ การแก้ ม.๑๑๒ ในรูปแบบของพรรคก้าวไกล จะกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายทันที

Written By
More from pp
ราเมศ ชี้ ประธาน “ชวน” ทำหน้าที่สมบูรณ์ ยึดประโยชน์ประชาชน
5 กุมภาพันธ์ 2565 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขานุการประธานรัฐสภา ได้กล่าวถึงกรณีองค์ประชุมในสภาไม่ครบ จนเป็นเหตุให้สภาล่มไม่สามารถประชุมต่อไปได้นั้นว่า
Read More
0 replies on “อนาคต ม.๑๑๒ – ผักกาดหอม”