​“สมศักดิ์” นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ สั่ง ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาการพัฒนาโรงงานผลิตวัคซีนในประเทศ เชื่อ คุ้มค่า ใช้ทุนน้อย แต่ได้ประโยชน์เพียบ

26 มกราคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตนได้มีโอกาสเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งได้มอบแนวนโยบายให้กับคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ในการพัฒนาวัคซีนเพื่อความมั่นคง เพราะปัจจุบันวัคซีนในประเทศไทย ส่วนใหญ่ยังเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งวัคซีนสำหรับคน และวัคซีนสำหรับสัตว์เลี้ยง ดังนั้น ตนจึงมองว่า ถ้าเรามีการพัฒนาโรงงานผลิตวัคซีน จะเป็นประโยชน์กับประชาชนทั้งชาวไทย และทั่วโลก โดยตนได้รับฟังรายงานว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีงานวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนจำนวนมาก แต่กลับพบว่า ไม่กล้าที่จะเดินหน้าในการผลิตวัคซีน หรือ ลงทุนตามที่ได้วิจัย ตนจึงได้เน้นย้ำในที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ให้ช่วยสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนภายในประเทศด้วย

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การพัฒนาวัคซีน อาจจะไม่จบในเวลา 3-5 ปี แต่ในระยะยาว เราจะสามารถพัฒนาวัคซีนให้มีราคาประหยัด และลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้ ส่วนบุคลากร ตนก็มองว่า ถ้าไม่มีการวางแผน ก็ต้องซื้อตัวบุคคล ดังนั้น เราต้องมีการลงทุนสร้างบุคลากร ควบคู่ไปกับการพัฒนาวัคซีนเพื่อความมั่นคงด้วย เพราะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ของท้องถิ่นต่างๆ ไม่สามารถหาวัคซีนได้ รวมถึงเรือนจำทั่วประเทศ ก็ใช้เวลารอนาน ตนจึงให้ใช้ยาฟ้าทะลายโจรแทน โดยจากนี้ เราอาจทำเป็นกฎหมาย ในการส่งเสริมด้านวัคซีน เพื่อทำให้การผลิตวัคซีนเป็นไปอย่างยั่งยืน

“ปัจจุบันโรงงานผลิตวัคซีนในประเทศไทย สามารถผลิตวัคซีนได้จำนวน 2 ชนิด คือ ไข้หวัดใหญ่ และ โควิด แต่ยังผลิตได้จำนวนจำกัด เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ผลิตได้ไม่เกิน 8 แสนโดสต่อปี ในราคาโดสละ 150 บาท แต่ปกติในประเทศ มีความต้องการวัคซีนนี้ 4-5 ล้านโดส ทำให้ผมมองว่า คุ้มค่าที่จะส่งเสริมพัฒนาโรงงานผลิตวัคซีน เพราะใช้งบประมาณไม่มาก แต่ได้ประโยชน์จำนวนมาก โดยการพัฒนาโรงงานผลิตวัคซีน จำนวน 2 แห่ง คาดว่าจะใช้งบประมาณ 1,400 ล้านบาท แต่ประเทศไทย นำเข้าวัคซีน ปี 2565 กว่า 10 ชนิด รวมกว่า 20 ล้านโดส มูลค่ากว่า 1,800 ล้านบาท ดังนั้น ผมจึงให้ที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาการส่งเสริมโรงงานผลิตวัคซีน เพื่อเดินหน้าสนับสนุนการผลิตวัคซีนในประเทศอย่างเต็มที่” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

Written By
More from pp
หลักปฏิบัติ 5 ประการในการดูแลเส้นผมและหนังศีรษะช่วง Work From Home
รศ.นพ.รัฐพล ตวงทอง  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 หลาย ๆ ท่านอาจจะต้องทำงานอยู่ที่บ้านหรือที่เรียกว่า Work From Home (WFH) ทางสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย จึงอยากจะฝากวิธีที่จะดูแลเส้นผมและหนังศีรษะด้วยตนเองอย่างถูกวิธี ในกรณีที่ไม่สามารถไปพบแพทย์ได้...
Read More
0 replies on “​“สมศักดิ์” นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ สั่ง ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาการพัฒนาโรงงานผลิตวัคซีนในประเทศ เชื่อ คุ้มค่า ใช้ทุนน้อย แต่ได้ประโยชน์เพียบ”