‘ไอทีวี’ เป็นสื่อได้ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

เมื่อคำพิพากษาออกมาแล้ว ก็เป็นไปตามนั้นครับ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก ๘ ต่อ ๑ มีมติคุณสมบัติการเป็น สส.ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ก็กลับเข้าสภาทำหน้าที่ สส.ต่อไป

แต่สิ่งหนึ่งที่ “พิธา” ต้องจดจำหากยังคิดจะเล่นการเมืองต่อไปคือ คำเตือนจาก “วรวิทย์ กังศศิเทียม” ประธานคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

“…การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีในสื่อต่างๆ นั้น ถือว่าไม่สมควร และไม่เหมาะสม เพราะการแสดงความคิดเห็นทั้งเชิงบวกและลบ เกี่ยวกับคดีก่อนศาลมีคำวินิจฉัย อาจเป็นการชี้นำ และกดดันศาล…”

ก็เตือนไปยังนักการเมืองทุกคนว่า การแสดงความเห็นในเชิงปลุกระดม สร้างชุดความเชื่อก่อนที่ศาลจะวินิจฉัยคดี ควรจะเลิกเสียที

โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ที่ถนัดทำเรื่องแบบนี้เป็นพิเศษ

เลิกโจมตีศาลรัฐธรรมนูญสองมาตรฐาน

หรือโจมตีว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นตัวแทนของฝ่ายอนุรักษนิยม

เพราะข้อมูลที่ปั้นกันมานั้น เท็จทั้งสิ้น

ดูกรณี “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” แล้วหันมามองกรณี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จะพบความจริงว่า ศาลรัฐธรรมนูญมิได้มีธงเล่นงานฝ่ายตัวเองตามที่ “ด้อมส้ม” นำไปปั่นกระแสกันในโซเชียล

แสดงความยินดีกับ “พิธา” ได้กลับเข้าสภากันแล้วก็ดูคดีถัดไป

คดีที่ “พิธา” และพรรคก้าวไกล เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง

เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง หรือไม่

คดีนี้ก็เช่นกัน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาเช่นไรก็ถือว่าจบ และใช้เป็นบรรทัดฐานต่อไป

มีบทความชิ้นหนึ่งในเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ ใช้ชื่อเรื่องว่า “ผลของคำวินิจฉัยและคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ”

มีย่อหน้าหนึ่งน่าสนใจ

“…อนึ่ง แม้ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในแต่ละคดีจะมีความแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของคดี แต่โดยทั่วไปแล้ว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ อันเป็นผลของคำวินิจฉัยที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๑ วรรคสี่…”

ฉะนั้นพอใจหรือไม่พอใจคำวินิจฉัย ผลก็ต้องเป็นไปตามคำวินิจฉัย

ทีนี้มาคุยกันเรื่องไอทีวี ในประเด็นที่ว่า สามารถกลับมาเป็นสื่อได้หรือไม่

ในฐานะคนทำสื่อ คำถามนี้ไม่ได้ยากเกินไปที่จะตอบ

ไปดูโพสต์ของ สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภากันก่อน

“…การประกอบอาชีพและกิจการสื่อมวลชน ไม่จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.ทุกราย

ปัจจุบันมีผู้ประกอบกิจการสื่อทางช่องทางต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ สื่อออนไลน์ ทุกแพลตฟอร์ม เช่น TikTok Facebook Youtuber ฯลฯ เป็นผู้ประกอบกิจการสื่อที่ไม่มีและไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตจาก กสทช. ….”

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญท่อนหนึ่งระบุว่า

“…การที่นายคิมห์ (คิมห์ สิริทวีชัย ประธานกรรมการบริษัท ไอทีวี) เบิกความว่า หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา บ.ไอทีวี ชนะคดีจะมีการพิจารณาอีกครั้งระหว่างผู้ถือหุ้นกับกรรมการบริษัทว่า บริษัทจะดำเนินการต่อไปหรือไม่ ซึ่งอาจจะประกอบกิจการสื่อมวลชนหรือจะประกอบกิจการอื่นๆ ตามวัตถุประสงค์ของ บ.ตามข้อใดข้อหนึ่งจาก ๔๕ ข้อก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคต ยังไม่ได้มีการพิจารณาในขณะนั้น

แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่ สปน. บอกเลิกสัญญาจนถึงปัจจุบัน บ.ไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน อีกทั้งไม่พบข้อมูลหลักฐานว่า บ.ไอทีวีได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ปี ๒๕๕๐, พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑, พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ และไม่เป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และสื่อโฆษณา ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑…”

ปัจจุบันสื่อมีหลายประเภท และไม่จำเป็นต้อง มีใบอนุญาตจาก กสทช.

กรณี วอยซ์ ทีวี จะชัดเจนที่สุด

วอยซ์ ทีวี ไม่ได้ถูกยึดใบอนุญาต

แต่ขอคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลเอง

และ กสทช.ก็อนุญาตตามนั้น

ในวันนั้น บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ประกาศว่า จะยังคงดำเนินงานต่อ แต่ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มในการนำเสนอมุ่งเน้นการพัฒนาข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์

ทั้งในเว็บไซต์

ยูทูบ

เฟซบุ๊กเพจ

ไลน์

อินสตาแกรม

และทวิตเตอร์

ฉะนั้นถ้าไอทีวีจะกลับมาทำสื่อ ตามที่นายคิมห์ บอกว่าหากชนะคดี จะมีการพิจารณาอีกครั้งได้หรือไม่

คำตอบคือได้

ผ่าน แพลตฟอร์ม ที่สื่อหลักแทบทุกสำนักใช้อยู่ปัจจุบันคือ

เว็บไซต์

ยูทูบ

เฟซบุ๊กเพจ

ไลน์

อินสตาแกรม

ทวิตเตอร์

ทั้งหมดนี้ไม่ต้องมีใบอนุญาตจาก กสทช.

ย้ำอีกครั้งนะครับ คดี “พิธา” ถือหุ้นไอทีวี ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ ๘ ต่อ ๑ ว่าไม่ผิด ถือว่าจบไปแล้ว และผูกพันทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

แต่หลังจากวันนี้ หากไอทีวี ทำสื่อผ่านแพลตฟอร์มข้างต้น ก็สามารถทำได้ล้านเปอร์เซ็นต์

แค่มีความตั้งใจ มีทุน และมีคน ลงมือได้ทันที

เพราะไอทีวีสามารถเป็นสื่อได้ตลอดเวลา ไม่มีกฎหมายข้อไหนห้าม

ยกเว้นที่ต้องไปขออนุญาตจาก กสทช. ซึ่งปัจจุบันที่ได้มาก็คืนกันไปเยอะแล้ว เนื่องจากพฤติกรรมของผู้เสพสื่อเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

บรรดาสื่อหลักที่เป็นทีวีดิจิทัลซึ่งไอทีวีเคยเป็น ล้วนหนีตายด้วยการหันมาทำสื่อโซเชียล สื่อออนไลน์ด้วยกันทั้งสิ้น

นี่คือคำตอบว่า ไอทีวี เป็นสื่อหรือไม่

0 replies on “‘ไอทีวี’ เป็นสื่อได้ – ผักกาดหอม”