ตัวบ่งชี้วิกฤตเศรษฐกิจ-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ณ จุดนี้เดินหน้าเต็มที่….

นายกฯ เศรษฐา พูดว่างั้น

ก็เป็นอันว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต จะเป็นตาบอดคลำช้างกันต่อไป

ดูเหมือนรัฐบาลใช้ความพยายามมากเหลือเกินที่จะบอกว่าปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศกำลังแย่ โฟกัสไปที่แบงก์ชาติ ราวกับเป็นตัวถ่วง

วานนี้ (๑๙ มกราคม) “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามไปถึงแบงก์ชาติ

แต่ละข้อสนับสนุนความเชื่อที่ว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังวิกฤต ไม่ว่าจะความล่าช้าของงบประมาณปี ๒๕๖๗ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ติดลบ ๑๔ เดือนติด เชื่อธนาคารพาณิชย์หดตัว เศรษฐกิจภาคประชาชนรายจ่ายมากกว่ารายได้

แล้วตบตูดว่า นโยบายการคลัง (รัฐบาล) และนโยบายการเงิน (ธปท.) ควรสอดประสานกันหรือไม่ ปัจจุบันรัฐบาลเห็นความจำเป็นในการกดคันเร่งนโยบายการคลัง (ซึ่ง Digital Wallet เป็นหนึ่งในนั้น) แต่นโยบายการเงินยังคงอยู่ในช่วงการกดเบรกหรือไม่ และการขับรถคันเดียวกัน ขาหนึ่งกดคันเร่ง ขาหนึ่งกดเบรก พร้อมกัน รถจะพังหรือไม่ ประเทศจะมีปัญหาหรือไม่

ไม่อยากขัดคอรัฐบาลสักเท่าไหร่ เอาเป็นว่าอยากได้เงิน ๕ แสนล้านไปแจกประชาชน ออกเป็นพระราชกำหนดเลยครับ

มันจะได้สมกับการแก้วิกฤตเศรษฐกิจ ที่ต้องทำแบบเร่งด่วน

เลิกอ้างตัวเลขเพื่อให้เศรษฐกิจประเทศดูแย่กันได้แล้ว

มันดาบสองคม

ต่างชาติเห็นรัฐบาลไทยขยันบอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังจะแย่ ใครจะกล้ามาลงทุน

เห็นรัฐบาลบอกว่าจะรออ่านรายงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ถ้าจะเอาแบบนั้นก็เอา

รอก็รอ เลื่อนแจกเงินหมื่นไปอีกปี ประชาชนคงไม่ว่า

แม้จะยังไม่ถูกระบุว่าเป็นเอกสารที่เป็นทางการ แต่เอกสารที่อัดแน่นไปด้วยข้อมูลข้อเสนอแนะฉบับนี้ยากที่จะเป็นเอกสารปลอม

มันคือเอกสารที่ ป.ป.ช.ยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการเท่านั้น

เอกสารฉบับนี้ระบุถึง วิกฤตเศรษฐกิจ เอาไว้ด้วย

คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่าน Digital Wallet สำนักงาน ป.ป.ช. ไม่ได้นั่้งในห้องแอร์แล้วนั่งเทียนเขียนข้อมูลมานะครับ

แต่ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง ๔ หน่วยงาน คือ กรมสรรพากร กรมบัญชีกลาง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย มาให้ความเห็น

สรุป ตัวบ่งชี้วิกฤตทางเศรษฐกิจ ออกมา ดังนี้…

ในทางเศรษฐศาสตร์ วิกฤตเศรษฐกิจ ใช้เรียกสถานการณ์ที่ประเทศใดประเทศหนึ่งประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างกะทันหัน มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้อัตราการว่างงานสูง มูลค่าตลาดหุ้นตกต่ำ เกิดภาวะขาดความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ ประชาชนเดือดร้อนไปทั่วประเทศ

วิกฤตเศรษฐกิจสามารถแสดงออกมาได้หลายรูปแบบ อาทิ วิกฤตธนาคาร วิกฤตค่าเงิน วิกฤตหนี้สาธารณะ

วิกฤตธนาคารเกิดขึ้นเมื่อธนาคารเผชิญกับการสูญเสียความเชื่อมั่นจนคนมาถอนเงินอย่างกะทันหัน หรือเมื่อธนาคารประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างมาก

วิกฤตค่าเงินเกิดขึ้นเมื่อมูลค่าสกุลเงินของประเทศอ่อนค่าลงอย่างมาก ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะ เงินเฟ้อและการสูญเสียความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ

ส่วนวิกฤตหนี้สาธารณะมักเกิดขึ้นเมื่อประเทศไม่สามารถชำระหนี้รัฐบาลได้ วิกฤตต่างๆ เหล่านี้มักนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจในที่สุด

ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก วิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นมาหลายครั้ง เช่น ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ระดับโลก ช่วงปี ๒๔๗๒ (ค.ศ. ๑๙๒๙) วิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย ปี ๒๕๔๐ หรือที่รู้จักในชื่อ วิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตการเงินโลก ปี ๒๕๕๐-๒๕๕๑ (ค.ศ. ๒๐๐๗-๒๐๐๘) เป็นต้น

ทั้งนี้ การจะพิจารณาว่าเศรษฐกิจประเทศใดเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือไม่นั้น นักเศรษฐศาสตร์มักใช้สัญญาณตัวบ่งชี้หรือดัชนีทางเศรษฐกิจหลักๆ หลายตัวเพื่อชี้วัดจับชีพจรว่าเศรษฐกิจเกิดวิกฤตหรือไม่ โดยเฉพาะดัชนีหลักคือ “การหดตัวอย่างมีนัยสำคัญของ GDP” ที่สะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงในภาคส่วนต่างๆ เมื่อ GDP ลดลงมักทำให้เกิดการว่างงาน ซึ่งสะท้อนผ่าน “อัตราการว่างงาน” ที่เพิ่มสูงขึ้นมาก

สัญญาณวิกฤตเศรษฐกิจอีกประการคือ “อัตราเงินเฟ้อและภาวะเงินฝืด” ที่สูงกว่าปกติมาก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อกัดกร่อนมูลค่าของเงิน ทำให้สินค้าและบริการมีราคาแพงขึ้น ในขณะที่ภาวะเงินฝืดทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง เนื่องจากผู้คนคาดหวังว่าราคาจะลดลงอีก และทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง ซึ่งมักสะท้อนผ่าน “ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค” ที่ตกต่ำลง บ่งชี้ว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเงินน้อยลง ซึ่งอาจทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงขึ้น

ในหลายวิกฤตเศรษฐกิจ สัญญาณหนึ่งที่สำคัญคือ “การเพิ่มขึ้นของหนี้ภาครัฐ” ที่สูงขึ้นมาก ส่งสัญญาณถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น เนื่องจากทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความสามารถของรัฐบาลในการจัดการการเงินและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

สำหรับในวิกฤตค่าเงิน ตัวบ่งชี้สำคัญคือ “การอ่อนค่าอย่างมากและรวดเร็วของค่าเงิน” ดังเช่นการลดค่าเงินบาทที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๔- นอกจากนี้การตกต่ำของภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เช่นการตกต่ำของตลาดที่อยู่อาศัย ราคาบ้านที่ลดลงและการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ลดลง อาจเป็นตัวบ่งชี้ถึงวิกฤตเศรษฐกิจได้เช่นกัน

โดยสรุปแล้ว วิกฤตเศรษฐกิจมีลักษณะเฉพาะ คือการหยุดชะงักอย่างรุนแรงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือในระบบการเงินของประเทศ มักจะมาพร้อมกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง การว่างงานที่สูง และมาตรฐานการครองชีพของประชาชนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ครับ…นิยามของวิกฤตเศรษฐกิจ บ่งชี้ด้วยตัวเลข

ไม่ใช่คิดเอาเอง

หากรัฐบาลเดินหน้าต่อ คงจะมีวิธีเดียวที่พอมองเห็นได้คือทำให้เศรษฐกิจประเทศวิกฤต ด้วยการประโคมว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฉิบหายป่นปี้แล้ว

ต่างชาติจะได้หนี

หุ้นจะได้ตก

แบงก์จะได้ทยอยล้ม

พูดเยอะๆ จะได้วิกฤตสมใจอยาก

จะได้เดินหน้าแจกเงินหมื่น

เอาให้เต็มเหนี่ยวเลยครับ

Written By
More from pp
โฆษกรัฐบาล แจงสายพันธุ์ลูกผสม “เดลตาครอน” ยังไม่ชัดเจน นายกฯ ฝากประชาชนขอให้เชื่อมั่นระบบสาธารณสุขไทย อย่าเพิ่งตื่นตระหนก
10 มกราคม 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงกรณีความห่วงกังวลเกี่ยวกับการพบเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ ในสาธารณรัฐไซปรัส โดยมีการตั้งชื่อว่า “เดลตาครอน (Deltacron)”...
Read More
0 replies on “ตัวบ่งชี้วิกฤตเศรษฐกิจ-ผักกาดหอม”