ขุมทรัพย์ใต้แผ่นดิน – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

“นายกฯเศรษฐา” กลับจากสวิสฯ แล้ว
กลับปุ๊บ…
“เสาร์-อาทิตย์” บินเชียงใหม่ปั๊บด้วยภารกิจมิอาจแย้ม!
จันทร์-อังคาร ๒๒-๒๓ มกรา.จากเหนือลงใต้
นำ “คณะรัฐมนตรี” ตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่ ตรัง-พังงา-ภูเก็ต-ระนอง-สตูล)
และประชุม “ครม.สัญจร” ที่ระนอง!

ดีครับ…ดี น้ำนิ่ง คือน้ำเน่า
แต่อย่าเขย่าขวดบ่อยละกัน ตะกอนจะฟุ้ง ฟองจะฟอด!

กลับมา หายใจเข้า-หายใจออกอยู่ ๒ เรื่อง คือ เรื่อง “กู้มาแจก” กับเรื่องไปเซลโปรเจกต์แลนด์บริดจ์ “ระนอง-ชุมพร”
คุยว่าคนสนใจเยอะ แต่คนสนลงทุน (ยัง) ไม่มี!

ไหนๆ จะไปตรวจกลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามันอยู่แล้ว อยากให้ท่านช่วยแวะไปดูนี่ให้หน่อยครับ
เพราะเรื่องนี้ คนสนใจกันมาก…

ถ้าจริง เป็นได้ “รวยเละ” กันทั้งชาติ เลิกพูดกันไปได้เลย เรื่องแจกคนละหมื่นบาทนั่นน่ะ

คือที่ “รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี” รองโฆษกสำนักนายกฯ แถลงวานซืน ว่า

“กระทรวงอุตสาหกรรมพบแหล่งแร่ลิเธียมที่มีศักยภาพ ๒แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติและแหล่งบางอีตุ้ม

ล่าสุด ยังค้นพบแหล่ง “แร่โซเดียม” ในพื้นที่ภาคอีสานปริมาณสำรองอีกจำนวนมาก

แร่ทั้งสองชนิดนี้ ถือเป็นแร่หลักหรือวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) 100%

เสริมศักยภาพความพร้อมของไทยในการเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตแบตเตอรี่ EV ในภูมิภาค

ก่อนหน้านี้ มีข่าวใหญ่ว่า “อินเดียค้นพบแร่ลิเธียม” กลายเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และ EV นั้น
ตอนนี้ ไทยก็มีลุ้นเช่นกัน

จากข้อมูล “กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่” ระบุ ไทยสำรวจพบ “แร่ลิเธียม” กว่า ๑๔,๘๐๐,๐๐๐ ล้านตัน
ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ค้นพบแร่ดังกล่าวมากที่สุดเป็น “อันดับ ๓ ของโลก” รองจากโบลิเวียและอาร์เจนตินา

ถ้าจริงตามนี้ละก็ ต้องบอกว่า…
โชคมหาศาล “ฟ้า-ดิน” บันดาล ให้ไทยรวยบัดดล!

รู้กันมั้ย ว่า “แร่ลิเธียม” สำคัญขนาดไหน?

ยุคโลกภิวัตน์นี้ มีคำกล่าว “ใครครองสื่อ คนนั้นครองโลก”
สื่อในทีนี้ หมายถึงการสื่อสารด้วย “เทคโนโลยีไอที”

แต่ต่อจากนี้ ไปสู่ศตวรรษที่ ๒๑
แร่ “ลิเธียม” ไม่เพียงเป็นพ่อของ “เทคโนโลยีไอที” เท่านั้น

หากแต่มันเป็น “พ่อทุกสถาบัน” ของเทคโนโลยีทั้งหมดด้วย โดยเฉพาะ “แบตเตอรี่” สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า!

สังคมสู่ศตวรรษที่ ๒๑ ที่กำลังไปกันต่อจากนี้

แร่ “ลิเธียม” เท่ากับ “ทองคำขาว” เป็นสารตั้งต้นกระบวนการ “ขับเคลื่อนโลก” ทางพลังงานด้วยเทคโนโลยีทั้งมวล

ทั้งโลก ไม่ถึง ๓๐ ประเทศ ที่มีแร่ลิเธียม และ๓ แหล่งใหญ่ อยู่ในแถบอเมริกาใต้
โบลิเวีย อาร์เจนตินา สหรัฐฯ และชิลี เป็นประทศที่มี กว่า ๑๐-๒๐ ล้านตัน ขึ้นไป

ออสเตรเลีย, จีน, เยอรมนี, คองโก, แคนาดา, เม็กซิโก, สาธารณรัฐเช็ก, เซอร์เบีย, รัสเซีย
มีระดับ ๑ ล้านตันขึ้นไป แต่ไม่ถึง ๒ ล้านตัน

ส่วนอื่นๆ มีระดับ ๘ แสนตัน ถึง ๕ หมื่นตัน เท่านั้น
ของไทยตามแถลง มีตั้ง ๑๔.๘ ล้านตัน
“TOP 5” ของโลกเลยนะเนี่ย!?

เรื่องนี้ เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าไทยมีแร่ลิเธียมมากขนาดนั้นจริง เท่ากับพบ “ขุมทรัพย์ใต้แผ่นดิน” หายเจ็บ-หายจนกันเลยทีเดียว

ไม่เพียงแห่กันมาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้า-แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น
อุตสาหกรรมนวัตกรรม “โลกสะอาด” ทุกแขนง จะเร่เข้ามาเป็น “เขยทั้ง ๗” ให้ “นางรจนา” เสี่ยง “พวงมาลัย”

แต่ดูปฎิกริยารัฐบาลผ่าน “กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่” กระทรวงอุตสาหกรรม แล้ว
คล้าย “ไม่แน่ใจ” ซักเท่าไหร่?

คือมันเนือยๆ……
ผิดวิสัย “ขอทานถูกหวย” เหมือนตัวเองรู้ มันเป็น “สลากขูด” ตัวเลข ประมาณนั้น!

จึงอยากให้นายกฯ เศรษฐา ไหนๆ ไปตรวจราชการงานเมืองแถวนั้นแล้ว รัฐมนตรีอุตสาหกรรมก็ไปด้วย
ไปเหล่ให้ถึงที่เกิดเหตุซักหน่อยไม่ได้หรือ ว่ามันจริงขนาดไหน?

ไอ้มีน่ะ คงมี….
เพราะแหล่งเรืองเกียรติและบางอีตุ้ม แถวๆ ตะกัวทุ่ง พังงา มันเป็น “เหมืองแร่เก่า”

เมื่อมีบริษัทมาขอใบอนุญาตอาชญาบัตรไปสำรวจ ด้วยเทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่

มันก็คงไม่ต่างยุค “ขี้ตะกรัน” ขายรถบรรทุกละร้อยบาทไปถมที่ กลายเป็น “แทนทาไลต์” นำไปทำหัวจรวด มูลค่าเป็นล้าน

แสดงว่าบริษัทนั้น เขารู้แล้วว่า มีแน่!
แต่จะ “มาก-น้อย” ถึงระดับ ๑๔.๘ ล้านตัน คุ้มค่าในทางลงทุนหรือไม่ จะทำให้ไทย “รวยจริง” หรือ “จนคงที่”
ก็อยากรัฐบาลออก “ใบเซอร์” ให้แน่ใจ

ช่วยไปเค้นคอจังหวัด, กระทรวงอุตสาหกรรมและบริษัทที่สำรวจให้ได้ความแน่ชัด แล้วมาบอกประชาชนทีเถอะ พ่อคุณ..พ่อทูนหัว!

ผมน่ะ รู้จักแค่กรวดใช้เล่นหมากเก็บ เห็นข่าว “ไทยพบแหล่งแร่ลิเธียม” ก็ได้แต่เนื้อเต้น ตาตื่น

ถ้าจริงขนาด ๑๔-๑๕ ล้านตัน
จะมาบ้าเรื่อง “กู้มาแจก” ให้ปวดกบาลทำไม แลนด์บ่ง-แลนด์บริดจ์ ไม่ต้องไปทำให้เมื่อยตุ้ม

ในเมื่อไทย “รวยแล้วไม่โกง” ชาวบ้านก็พลอยรวยกันถ้วนหน้า

แล้วรู้กันมั้ย….
ผู้สกัดแร่ลิเธียมเป็น “ลิเธียมคาร์บอเนต” หรือ “ลิเธียมไฮดรอกไซด์” นำไปทำแบตเตอรี่รายใหญ่ขณะนี้ คือใคร?
“จีน” ครับ…จีน!

อาร์เจนติน่า แค่มีมากอันดับ ๑ อันดับ ๒ ของโลก แต่บริษัทที่เข้าไปลงทุนสำรวจและสกัดคือ “บริษัทจีน”

พูดได้ว่า ชั่วโมงนี้ มีแหล่งแร่ลิเธียมที่ไหน…
จีนไปตรงนั้น มีมากกว่า สหรัฐ อังกฤษ เกาหลีใต้ ด้วยซ้ำ

จึงไม่ต้องแปลกใจที่ รถไฟฟ้า-แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าของจีน เป็นเจ้าอาณาจักร EV
“น้ำมัน” มีกลุ่มเอเปกเป็น “เจ้าพ่อประกาศิต”

อนาคตอันใกล้ มี “เอเปกแร่ลิเธียมและลิเธียมจากบ่อเกลือ” แน่

ผมขออนุญาตนำองค์ความรู้ที่ “ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” โพสต์เฟซไว้มาให้ศึกษากันบางตอน ดังนี้

– ลิเทียม เป็นโลหะเบาที่สุดในโลหะทั้งมวล ทนความร้อนได้สูง ประจุพลังงานในแบตเตอรี่ได้เป็นปริมาณสูงมาก

ปัจจุบัน ลิเทียมเป็นส่วนประกอบหลักของเซรามิกชนิดทนความร้อน แก้ว อยู่ในแบตเตอรี่คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆเครื่องฟอกอากาศ จาระบีหล่อลื่น ผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ ฯลฯ

ลิเทียม ยังถูกนำมาใช้ในแบตเตอรี่ความจุสูง ชนิดประจุใหม่ได้เพิ่มมากขึ้น
ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดที่กำลังเติบโต ได้ทำให้ความต้องการลิเทียมสูงขึ้น

– แหล่งที่มาใหญ่ๆ ของลิเทียม มี 2 แบบ คือจากแร่ในหินแข็ง และจากชั้นน้ำเกลือ

-กรรมวิธีการสกัดลิเทียม การแต่งแร่จากหินแข็งจะทำได้เร็วกว่า แต่แพงกว่า

การแต่งแร่จากน้ำเกลือ โดยทั่วไปมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า แต่ใช้เวลานานกว่า

– แหล่งแร่ที่มีลิเทียมจะถูกขุดจากเหมือง, ผ่านกระบวนการแยกแร่, สินแร่จะถูกบดย่อย, แร่ลิเทียมถูกแยกมาเป็นหัวแร่

จากนั้น ผ่านกระบวนทางเคมี อาทิ การกรองด้วยกรดและการเผา ทำให้ได้สารที่มีองค์ประกอบหลักเป็นลิเทียม
ระยะเวลาการผลิตแบบนี้ น้อยกว่า 1 เดือน

– ส่วนในชั้นน้ำเกลือ บ่อที่ขุดเจาะลงไปจะสูบน้ำเกลือที่มีลิเทียมขึ้นมาบนผิวดิน

น้ำเกลือจะถูกเคลื่อนย้ายและตากอยู่ในบ่อพักหรือบ่อระเหย เพื่อให้ลิเทียมเข้มข้นขึ้น และแยกสิ่งปนเปื้อนออก จากนั้น นำน้ำเกลือเข้มข้นผ่านกระบวนการทางเคมีเพื่อให้ได้สารประกอบลิเทียม ซึ่งจะถูกกรองออกมา และทำให้แห้ง

การผลิตแบบนี้ใช้ระยะเวลาราว 8 – 18 เดือน

– สำหรับในไทย มีบริษัทเอกชน สำรวจแร่ ลิเทียม ดีบุก ทังสเตน ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี (เป้าหลักอยู่ที่ลิเทียมและดีบุก) ในบริเวณ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา

ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ทำเหมืองแร่ดีบุกมาช้านานเกิน 100 ปี โดยเทือกเขาหินแกรนิตที่เคยให้แร่ดีบุกนั้น จะมีสายของเพกมาไทต์และแร่เลพิโดไลต์ (หรือลิเทียมไมกา) แทรกอยู่ทั่วไป

– ผลเจาะสำรวจเมื่อมกรา. 65 ใน 2 พื้นที่ศักยภาพ เขต อ.ตะกั่วทุ่ง ซึ่งเป็นขุมเหมืองดีบุกเก่า

คือ พื้นที่แหล่งแร่เรืองเกียรติและพื้นที่แหล่งแร่บางอิต๋ำ พบร่องรอยของสายแร่ต้นกำเนิด

คือสายเพกมาไทต์-เลพิโดไลต์ ความยาวมากกว่า 500 เมตร เช่นเดียวกัน

แหล่งแร่เรืองเกียรติ ประเมินค่าความสมบูรณ์ของแหล่ง มีค่าลิเทียมไดออกไซด์ (Li2O) 0.6 – 0.8% คิดเป็นปริมาณสำรองเบื้องต้นประมาณ 5 – 10 ล้านตัน

แหล่งแร่บางอิต๋ำ ประเมินค่าความสมบูรณ์ของแหล่งที่ Li2O 0.6 – 0.8% คิดเป็นปริมาณส่ารองเบื้องต้นประมาณ 2 – 4 ล้านตัน

ครับ….
ผมก็เก็บความจากผู้รู้มาให้ทำความเข้าใจเรื่องแร่ลิเธียมกันพอได้มึน

ขอภาวนาให้ “ขุมทรัพย์ใต้แผ่นดิน” ผุดขึ้นมาหนุนนำ ให้ลูกหลานไทย “ยิ้มได้-เป็นสุข” ถ้วนหน้ากันเถิด!

เปลว สีเงิน
๒๐ มกราคม ๒๕๖๗

Written By
More from plew
ชีวิตรอได้ “เพื่อวัคซีนไทย” – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน “วัคซีนไฟเซอร์” จากอเมริกา “มหามิตร” บริจาค มาถึงไทยแล้ว จะ ๑.๕ ล้าน หรือ ๒.๕...
Read More
0 replies on “ขุมทรัพย์ใต้แผ่นดิน – เปลว สีเงิน”