ดู ‘ยิ่งลักษณ์’ เป็นตัวอย่าง – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ไม่รู้ว่าต้องหัวเราะหรือร้องไห้ดี…

วันนี้รัฐบาลมีข้ออ้างใหม่ จะรอหนังสือท้วงติงนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตจาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อน

นี่ถ้าองค์กรอิสระพากันทำหนังสือท้วงติงรัฐบาลมาเรื่อยๆ มิพักต้องรอกันให้ครบหรือ

ย้อนไทม์ไลน์เรื่อง “รอ” ในขณะที่รัฐบาลบอกว่าเป็นนโยบายเร่งด่วน แต่ดันออกเป็นพระราชบัญญัติ รวมแล้ว ก็หลาย “รอ”

“รอ” แรก เมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้วไม่ยอมแถลงรายละเอียดโครงการ อ้างว่าต้องรอ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสียก่อน จะได้แถลงทีเดียว

เมื่อ แบงก์ชาติ กับ สภาพัฒน์ แนะว่า ต้องการให้ดูแลเฉพาะกลุ่มเปราะบางเท่านั้น ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๑๕-๑๖ ล้านคน ซึ่งจะใช้งบประมาณเพียง ๑.๕ แสนล้านบาท เนื่องจากเศรษฐกิจและการบริโภคเริ่มฟื้นตัวแล้ว

รัฐบาลศรีธนญชัยไปตัดคนรวยออก ใช้งบประมาณ ๔.๙ แสนล้านบาท จากเดิมนโยบายนี้ต้องใช้งบประมาณ ๕ แสนล้านบาท

รัฐบาลก็ตั้งธงนี้มาเรื่อย

“รอ” ที่สองคือรอคณะกรรมการกฤษฎีกา

เป็นการรอข้ามปี

สุดท้าย กฤษฎีกา บอกว่ารัฐบาลไหนๆ ก็ออกพระราชบัญญัติได้ทั้งนั้น แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

เร่งด่วน จำเป็น คุ้มค่า จัดงบประมาณปกติไม่ทัน

หะแรกรัฐบาลพูดลักไก่บอกว่า กฤษฎีกา ไฟเขียว

สุดท้าย “ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ต้องออกมาแก้ข่าวว่า กฤษฎีกา ไม่มีหน้าที่เปิดไฟเขียวไฟแดง

แนะนำเฉพาะข้อกฎหมายเท่านั้น

ออกพระราชบัญญัติกู้เงินในสถานการณ์ปัจจุบันได้ หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตัดสินใจเอง

จากนั้นบรรดา ลูกขุนพลอยพยัก ก็ออกมาประโคมเศรษฐกิจไทยแย่แล้ว

บ้างก็ว่าเหมือนกบต้ม

บ้างก็ลักไก่เอาตัวเลขบางตัวมาอ้างว่าวิกฤตแล้ว หากไม่แจกเงินหมื่นเศรษฐกิจจะล่มสลาย ประชาชนจะอดตาย

แล้ววันนี้รัฐบาลก็เริ่มจะถอยๆ ห่างจากคำแนะนำของกฤษฎีกา ทำราวกับว่า ไม่เคยไปขอคำแนะนำใดๆ ทั้งนั้น

เพราะแทนที่จะเร่งประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่าน Digital Wallet หรือบอร์ดชุดใหญ่

กลับเลื่อนไม่มีกำหนด

อ้างว่าต้อง “รอ” หนังสือจาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

นี่จึงเป็น “รอ” ที่สาม

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่น่าจะมีนโยบายไหนที่รัฐบาลบอกว่าจำเป็นเร่งด่วน ถ้าไม่ทำเศรษฐกิจประเทศพังแน่ แต่กลับต้องรอไปเรื่อยๆ นานเท่านโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตอีกแล้ว

แถมรัฐบาลรออย่างใจเย็นยะเยือก

ไม่มีใครในรัฐบาลออกมาทุบโต๊ะว่า ต้องออกเป็นพระราชกำหนดกู้เงิน ๕ แสนล้านในทันทีสักคน

ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ ฯลฯ เงียบเป็นเป่าสาก ทั้งๆ ที่การทำงานของรัฐบาลถือว่าต้องรับผิดชอบร่วมกัน

ก็ตามน้ำกันไปหมด ด่วนมากแจกเดือนพฤษภาคม

โดยสามัญสำนึกการ “รอ” ทั้งสามครั้งนี้ มิได้สะกิดใจคนในรัฐบาลบ้างเลยหรือว่า นโยบายนี้ควรยกเลิกไปเสีย

หรือรอให้รัฐบาลพังไปพร้อมๆ กันหมด

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

หนังสือของ ป.ป.ช.คนในรัฐบาลคงได้อ่านกันแล้ว และคงรู้อนาคตแล้ว ไอ้ที่จะฉิบหายไม่ใช่ประเทศไทย แต่เป็นรัฐบาล

คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่านระบบดิจิทัล วอลเล็ต ของ ป.ป.ช. ชุดนี้มีประธานชื่อ “สุภา ปิยะจิตติ”

มือปราบจำนำข้าว สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั่นแหละครับ

รายงานของ ป.ป.ช. ระบุถึงความเสี่ยงและผลกระทบการดำเนินการโครงการ ๓ ประเด็น

๑.ความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบาย พบว่า แหล่งที่มาของเงินในโครงการดังกล่าวที่มาจากการกู้เงิน และเงื่อนไขการแจกเงิน ไม่ตรงกับที่แจ้งต่อ กกต. บ่งชี้เป็นการหาเสียงโดยไม่มีความพร้อม ไม่พิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ ทั้งด้านเศรษฐกิจ และกฎหมาย ดังนั้นรัฐบาลต้องศึกษาให้เห็นผลเป็นรูปธรรมว่า ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการจะไม่ตกแก่พรรคการเมือง บุคคลหรือกลุ่มใด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย ต้องมีวิธีการเป็นรูปธรรมชัดเจนให้โครงการกระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ไม่ให้มีความเสี่ยงรับจ้างลงทะเบียนร้านค้าในลักษณะนอมินีให้อยู่นอกระบบฐานข้อมูลภาษีกรมสรรพากร เพื่อเลี่ยงภาษี หรือใช้ฟอกเงินทำผิดกฎหมาย หรือความเสี่ยงสมคบคิดกันทุจริตระหว่างร้านค้ากับกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงิน โดยไม่มีการซื้อขายสินค้าจริง

๒.ประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ ข้อมูลจากหลายหน่วยงาน อาทิ ธปท., สศช., นักวิชาการเศรษฐศาสตร์, อาจารย์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันว่า ไม่เข้าข่ายวิกฤต ไม่เห็นสัญญาณวิกฤตเศรษฐกิจไทย แต่อาจเจริญเติบโตที่ชะลอตัวหรือต่ำกว่าศักยภาพ เมื่อเทียบสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน กับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี ๒๕๔๐ วิกฤตมหาอุทกภัย ปี ๒๕๕๕ วิกฤตโควิด ปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔ พบว่ายังไม่เข้าข่ายภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ

๓.ประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมาย การดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตต้องชอบด้วยกฎหมาย จะต้องรักษามาตรฐานวินัยการเงินการคลัง ซึ่งเงื่อนไขการใช้วิธีกู้เงินจะทำได้โดยอาศัยอำนาจการตรากฎหมายขึ้นเป็นการเฉพาะ และเป็นกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ไขวิกฤตประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน ดังนั้น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลต้องพิจารณาอย่างรอบคอบจะเป็นกรณีจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศหรือไม่ แต่จากข้อมูลด้านเศรษฐกิจที่สรุปชัดเจนว่า สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันยังไม่เข้าข่ายวิกฤต

นี่คือความเสี่ยง ๓ ข้อที่รวบรวมมา “ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา แนะนำรัฐบาลว่า

“ในแง่ของ ข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. การเป็นองค์กรอิสระ เมื่อมีข้อสังเกตมาประกอบการพิจารณาก็ควรจะเอามาประกอบการพิจารณาด้วย”

จบ “๓ รอ” นี้รัฐบาลคงจะเดินหน้าต่อไปยากแล้ว

เพราะทุกการรอของรัฐบาลล้วนมีคำตอบไปในทิศทางเดียวกัน ถอยก่อนที่นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตจะล้มรัฐบาล

รายงานของ ป.ป.ช. ไม่ได้ทำมาเพื่อโชว์ว่า ป.ป.ช.คิดอย่างไร

แต่จะเป็นเอกสารแนบที่ถูกส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ หากเรื่องนี้มีการร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งมีความเป็นไปได้ ๑๐๐% มีคนยื่นให้วินิจฉัยแน่นอน

ฉะนั้นสิ่งที่เร่งด่วนซึ่งรัฐบาลต้องตัดสินใจ ไม่ใช่ท่องคาถามีความจำเป็นเร่งด่วนต้องแจกเงินหัวละหมื่น แต่จำเป็นเร่งด่วนที่จะยุตินโยบาย

เลิกขายฝันได้แล้ว

หากเพิกเฉยเดินหน้าต่อให้ดู “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นตัวอย่าง แล้วศึกษาช่องทางธรรมชาติเอาไว้เยอะๆ

วันข้างหน้าอาจจำเป็นต้องมุด

Written By
More from pp
พรรคเพื่อไทย แถลงผลการประชุมร่วมของ กก.บห. และ ส.ส. เพื่อลงมติให้ ส.ส. พ้นจากความเป็นสมาชิกภาพพรรคเพื่อไทย
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แถลงมติคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ว่าได้พิจารณารายงานการสอบสวนวินัยและจริยธรรมของคณะกรรมการวินัยและจริยธรรม แล้วมีมติ ดังนี้
Read More
0 replies on “ดู ‘ยิ่งลักษณ์’ เป็นตัวอย่าง – ผักกาดหอม”