กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงจากกรณีภาวะฉุกเฉินเกิดเหตุไฟไหม้บ่อขยะ จังหวัดนครปฐม แม้ว่าขณะนี้เพลิงไหม้จะลดระดับความรุนแรงแล้ว แต่ยังคงพบควันไฟที่มีส่วนผสมของสารเคมีเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน ส่งทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ พร้อมแนะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข เตรียมความพร้อมป้องกันภาวะฉุกเฉินที่เกิดสถานประกอบกิจการหรือสถานที่เสี่ยงภาวะฉุกเฉินจากสารเคมีอย่างเคร่งครัด
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีภาวะฉุกเฉินเกิดเหตุไฟไหม้บ่อขยะ หมู่ที่ 3 อ.ดอนตูม จ.นครปฐม ถึงแม้ว่าขณะนี้เพลิงไหม้บ่อขยะดังกล่าวจะลดระดับความรุนแรงแล้ว แต่ยังคงพบควันไฟที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่มาจากขยะที่ถูกเผาไหม้
ทั้งก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ รวมทั้งฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ปนเปื้อนในอากาศ ทำให้เกิดภาวะทางสุขภาพ เช่น หายใจหอบ ถี่ เกิดภาวะหอบหืด บางรายไอ อาเจียน คลื่นไส้ จนถึงเกิดผื่น ผิวหนังอักเสบ
ทั้งนี้ไฟไหม้บ่อขยะเกิดขึ้นทุกปี ถือเป็นภัยจากสารเคมีที่คล้ายคลึงกับภัยที่มาจากสถานประกอบกิจการสารเคมีที่มักก่อให้เกิดสารพิษรูปแบบต่าง ๆ ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมจนกระทบกับประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข
จึงควรเตรียมความพร้อมป้องกันภาวะฉุกเฉินที่เกิดสถานประกอบกิจการหรือสถานที่เสี่ยงภาวะฉุกเฉินจากสารเคมีในพื้นที่ ด้วยการใช้มาตรการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ดังนี้
1) สำรวจกิจการหรือสถานที่เสี่ยงเกิดภาวะฉุกเฉินจากสารเคมีทั้งโรงงาน กิจการ รวมทั้งบ่อขยะพร้อมจัดทำเป็นแผนที่เสี่ยงสุขภาพประชาชน
2) มีมาตรการ เตรียมพร้อมจัดทำพื้นที่กันชน (Buffer zone) หรือการทำแนวกันภัยเพื่อคุ้มครองประชาชนระหว่างชุมชนกับสถานประกอบกิจการ สถานที่เสี่ยงเกิดภาวะฉุกเฉินตามบริบทพื้นที่
3) ตรวจสอบ ประเมินการประกอบการสถานที่และกิจการเสี่ยง โดยมีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดเพื่อควบคุม กำกับ และป้องกันการเกิดภาวะฉุกเฉินที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน
4) พัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยสุขภาพสำหรับชุมชน เพื่อสื่อสารประชาชนให้รับรู้ เฝ้าสังเกตความผิดปกติ หรือสัญญาณแสดงความเสี่ยงภาวะฉุกเฉิน อาจเกิดขึ้นจากสถานที่สถานประกอบกิจการเสี่ยง เตรียมพร้อมหลีกเลี่ยง ป้องกันตนเองและครอบครัว พร้อมแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว
นายแพทย์วิเชียร ตันสุวรรณนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี กล่าวว่า ทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ไฟไหม้บ่อขยะอย่างใกล้ชิด พร้อมประเมินความเสี่ยงสุขภาพประชาชนพบว่า สถานที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ขนาดประมาณ 10 ไร่ ภายในบ่อดินมีขยะประเภทพลาสติก โฟม เศษขยะ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์
จากการสอบถามผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ พบว่า เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 14 มกราคม 2567 ไฟยังดับไม่สนิท ยังมีการปะทุขึ้นมาเป็นระยะ และกลุ่มควันส่งผลกระทบต่อผู้อาศัยใกล้เคียงบ้างแต่อยู่ในระดับไม่รุนแรง ยังคงมีควันลอยตามทิศทางลม พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่อบต.อยู่เวรสังเกตุการณ์ตลอด24 ชั่วโมง หากมีการปะทุลุกลามจะประสานรถดับเพลิงทันที
จาก อบต.ดอนพุทรา เทศบาลตำบลสามง่าม เทศบาลเมืองนครปฐม จากการประเมินความเสี่ยงสุขภาพ พบว่าประชาชนที่อาศัยในหมู่ที่ 3 ได้รับผลกระทบอยู่บ้างได้เข้าเยี่ยมผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณโดยรอบบ่อขยะ พบว่า ประชาชนยังไม่มีการป้องกันตนเองที่เพียงพอจึงได้ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนและสนับสนุนหน้ากากอนามัยให้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ เด็กและผู้ที่ได้รับสัมผัส จากการประเมินสถานการณ์คาดว่าจะสงบลงและไม่ส่งผลกระทบภายใน 3-5 วัน
รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์ภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้น และเตือนภัยไปยังประชาชน พร้อมสนับสนุนหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจากกรณีภัยที่มาจากสารเคมีที่เกิดขึ้น เช่น โรงงานสารเคมีระเบิดและไฟไหม้ รถบรรทุกสารเคมีระเบิด ก๊าซแอมโมเนียจากสถานประกอบกิจการรั่วไหล จนล่าสุดการเกิดไฟไหม้บ่อขยะก่อให้เกิดควันพิษและฝุ่นละอองปริมาณมากสู่ชุมชน
โดยนอกจากทรัพย์สิน โครงสร้างอาคารที่เสียหายแล้ว ยังพบการ เจ็บป่วย บาดเจ็บ เสียชีวิตของประชาชนที่เกิดจากการรับสัมผัสสารพิษที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทั้งแบบเฉียบพลัน และระยะยาว