นักพูดเสื้อส้ม-นักกู้ถุงเท้าชมพู – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

บรรยากาศการถกงบประมาณวันแรกผ่านพ้นไป เป็นไปตามที่คาด…

น้ำลายท่วมสภาฯ

เท่าที่จับใจความได้ ประเด็นที่มีการพูดถึงมากที่สุดคือ รัฐบาลปัจจุบันตั้งงบประมาณ ไม่ต่างจากรัฐบาลเก่า

คือรัฐบาลประยุทธ์

ราวกับว่า การตั้งงบประมาณแบบรัฐบาลประยุทธ์ จะสร้างหายนะให้แก่ประเทศ

เป็นเรื่องตลกร้ายสำหรับประเทศไทย เมื่อนักการเมืองได้เป็นรัฐบาล ดูเหมือนว่าความฉลาดเฉลียวจะลดน้อยถอยลง

ผิดกับตอนเป็นฝ่ายค้าน เก่งกาจขั้นอัจฉริยะ สามารถถอดรหัสได้ทุกเรื่อง

การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ก็เช่นกันครับ

ตอนเป็นรัฐบาลกับตอนเป็นฝ่ายค้าน ต่างกันราวหน้ามือกับหลังเท้า

ดูรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเป็นตัวอย่าง ตอนเป็นฝ่ายค้าน อภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณที่จัดโดยรัฐบาลลุงตู่ ด่าได้ทุกบรรทัด

สร้างวาทกรรม เก่งแต่กู้ หาเงินไม่เป็น

แล้ววันนี้เป็นไงครับ

เริ่มต้นมาก็กู้หนักกว่ารัฐบาลเก่าเสียแล้ว

คำอภิปรายของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ยกตัวเลขมาชี้ให้เห็นว่า งบประมาณที่จัดโดยรัฐบาลประยุทธ์ กับรัฐบาลเศรษฐานั้น มีอะไรต่างกันบ้าง

“…งบประมาณฉบับนี้เป็นงบประมาณเป็ดง่อย เพราะงบประมาณทั้งหมด ๓.๔๘ ล้านล้านบาทนั้น รัฐบาลมีเวลาใช้เงิน ๕ เดือนจากปกติ ๑๒ เดือน หรือมีเวลาใช้เงิน ๔๐% และงบลงทุนหัวใจในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็มีสัดส่วนน้อย สุดท้ายงบประมาณนี้ก็จะเป็นงบประมาณเป็ดง่อย ไม่สามารถไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามที่รัฐบาลคาดหวังไว้

นายกฯ พยายามตีปี๊บกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันงบประมาณแผ่นดินซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะจะมีผลต่อจีดีพี ๑๘% แล้วถ้างบประมาณแผ่นดินกลายเป็นเป็ดง่อย และที่สำคัญหลังนายกฯ สั่งรื้องบไป มอบนโยบาย ๕ ข้อให้ทำงบประมาณใหม่ พอมาวันนี้ไม่มีอะไรใหม่ แล้วมีหลายเรื่องแย่กว่าเดิม มี ๔ ประเด็นที่เห็นชัด

ประการแรก รัฐบาลยังจัดสรรงบประมาณงบขาดดุลเหมือนเดิม และจะขาดดุลไปอีกตลอดอายุรัฐบาลครบ ๔ ปี เช่นปี ๒๕๖๗ รายได้รัฐบาลจะอยู่ที่ ๒.๗ ล้านล้านบาท ขณะที่รายจ่ายจะอยู่ที่ ๓.๔ ล้านล้านบาท ขาดดุลการคลัง ๖.๙๓ แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ตลอดเวลา ๔ ปีของรัฐบาล ขาดดุลตลอดอายุรัฐบาล

ประการที่สอง งบประมาณเพิ่มขึ้นแต่สัดส่วนงบลงทุนน้อยกว่าเดิม สัดส่วนงบลงทุนปี ๒๕๖๖ อยู่ที่ ๒๑.๗% ขณะที่งบประมาณปี ๒๕๖๗ อยู่ที่ ๒๐.๖% ซึ่งงบประมาณนำไปเพิ่มให้กับงบประมาณรายจ่ายประจำ แล้วจึงขอตั้งคำถามว่าจะไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร

ประการที่สาม งบกลางดูเหมือนงบประมาณลดลง แต่งบประมาณปี ๒๕๖๖ อยู่ที่ ๑๘% แต่ปี ๒๕๖๗ อยู่ที่ ๑๗.๔% แต่เมื่อมองดูลึกลงไป คือเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินตามอำนาจนายกฯ แทนที่จะลดกลายเป็นเพิ่ม โดยส่วนนี้ในงบปี ๒๕๖๖ จัดอยู่ที่ ๙๒,๔๐๐ ล้านบาท งบปี ๒๕๖๗ อยู่ที่ ๙๘,๕๐๐ ล้านบาท

และประการที่สี่ งบประมาณฉบับนี้จาก “คิดใหญ่ทำเป็น” เปลี่ยนเป็น “คิดกู้ทำกู้” โดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์นั้นจัดทำงบประมาณปี ๒๕๖๗ ไว้แล้ว โดยจะกู้เงินราว ๕.๓๙ แสนล้าน แต่รัฐบาลนี้จะกู้เงินราว ๖.๙๓ แสนล้าน กู้เพิ่มราว ๑ แสนล้านบาท ที่เคยวิจารณ์ว่ารัฐบาลเดิมนั้นเป็นรัฐบาล ‘นักกู้แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา’ รอบนี้เป็น ‘นักกู้ถุงเท้าสีชมพู’ ขอถามว่ากู้เพิ่มเป็นแสนล้านเอาไปทำอะไร”

การอภิปรายเชิงเปรียบเทียบแบบนี้ประชาชนเข้าใจง่าย

แต่เมื่องบประมาณแผ่นดินลงไปยังหน่วยงานต่างๆ แล้ว ไม่ว่ารัฐบาลไหน แทบไม่ต่างกันเท่าไหร่

การคอร์รัปชัน ยังไม่มีรัฐบาลไหนแก้ไขได้

ที่ผ่านมาการจัดทำงบประมาณมีรูปแบบค่อนข้างตายตัว เป็นการกำหนดแผนการใช้จ่ายเงินตามยุทธศาสตร์ชาติและตามนโยบายของรัฐบาล

โดยกำหนดเป้าหมายการใช้จ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการในระดับต่างๆ

ตั้งแต่ระดับชาติ ระดับกระทรวง ระดับกรม ระดับกอง และหน่วยราชการ เพื่อมุ่งไปสู่การแก้ไขปัญหา สนองต่อความต้องการของประชาชน

และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญรุ่งเรือง

แต่การเดินไปสู่เป้าหมาย ต้องยอมรับว่า ไม่ได้สวยงามเหมือนที่รัฐบาลแถลงเอาไว้

ฟัง “ชัยธวัช ตุลาธน” ดีกรีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปราย ก็พอมีประเด็นอยู่บ้าง แม้จะแค่เฉี่ยวๆ “นักโทษเทวดา” ก็ตามที แต่ในแง่ความลึกของการชำแหละงบประมาณ ถือว่าไม่ผ่าน

“ถ้าดูในภาพรวมวงเงิน ๓.๔๘ ล้านล้านบาท พบว่าเป็นเบี้ยหัวแตก สะเปะสะปะ ไม่มียุทธศาสตร์ ทำงานแบบไม่มีเป้าหมายชัดเจน ไม่ได้ยึดโยงเป้าหมายในทางนโยบาย เปลี่ยนชื่อเปลี่ยนปกแบบมั่วๆ โครงการเก่าเดิมจับมาโยงกับเป้าหมายใหม่

อีกทั้งนับรวมทุกรายจ่ายแล้วเคลมว่าเป็นงบลงทุนใหม่ เช่น งบทำถนน โครงการใหม่ทั้งหมด ๒๐๐ โครงการไม่ได้มาจากรัฐบาล แต่เกิดจากหน่วยงานใหม่ที่มารับงบประมาณ ดังนั้นจึงไม่ได้สะท้อนวาระรัฐบาลจริงๆ

ด้วยสภาพนี้ จึงมองไม่เห็นวาระเป้าหมายของรัฐบาลผ่านการทำงบประมาณฉบับนี้

แน่นอนการบรรลุเป้าหมายไม่จำเป็นต้องใช้งบเยอะเสมอไป เช่น การสร้างความชอบธรรมด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรม วันนี้ไม่แน่ใจจะทำได้จริงหรือตอกย้ำสังคมกันแน่ เพราะกำลังตอกย้ำสังคมให้อยู่ในหลักนิติธรรมสองมาตรฐาน เรือนจำมีไว้สำหรับพลเรือนสามัญที่ไม่มีอำนาจเงินทอง…”

พูดคลุมๆ ในภาพกว้างก็ได้แค่นี้ครับ

ประเด็นการฟื้นฟูหลักนิติธรรม ใช่ว่าต้องใช้เงินเป็นหลัก

และการฟื้นฟูหลักนิติธรรมในความหมายของ “ชัยธวัช ตุลาธน” อาจไม่เหมือนที่บุคคลทั่วไปเข้าใจ เพราะพรรคก้าวไกลมักมองว่าตัวเองถูกกดทับ ด้วยหลักนิติธรรมสองมาตรฐาน

เรือนจำมีไว้สำหรับพลเรือนสามัญที่ไม่มีอำนาจเงินทอง ประเด็นนี้เข้าใจได้ แต่ก็น่าจะยกตัวอย่างให้ชัดว่าเป็นกรณีของนักโทษเทวดา

กลับพูดแค่เฉี่ยวๆ

สถานะผู้นำฝ่ายค้านนั้น ต้องมีความน่าเชื่อถือ การอภิปรายในสภาจึงต้องชัดเจนว่าจะสื่ออะไร

การทุจริตคอร์รัปชันในมิติทางการเงิน การจัดซื้อจัดจ้าง มีความสำคัญมาก ฉะนั้นการอภิปรายตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้จึงสำคัญมาก

การก่อสร้างในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และการให้สัมปทานกิจการสาธารณูปโภค เป็นการทุจริตที่มีความเสียหายมากที่สุด เพราะมีเม็ดเงินที่เกี่ยวข้องมากที่สุด นี่คือสิ่งที่ต้องลงลึก เอาตัวเลขออกมาให้ประชาชนได้รับรู้

การทุจริตคอร์รัปชันในกระบวนการยุติธรรมก็ก่อให้เกิดความเสียหายหนักหน่วง

แต่ละปีมีการรั่วไหลของงบประมาณรายจ่ายมากมายมหาศาล

หากจะเปลี่ยนประเทศ นักพูดเสื้อส้ม ต้องมีแนวทางสกัดกั้นไม่ให้งบประมาณรั่วไหล

ขอโทษเถอะครับ สมัยเป็นพรรคอนาคตใหม่ อวดอ้างจะจัดงบประมาณแบบใหม่ กระจายอำนาจ กระจายเงิน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบจ., อบต. บริหารงบประมาณเองแบบ ๑๐๐% คิดโครงการเอง ทำโครงการเอง ดูแลส่วนราชการในพื้นที่เอง

วันนี้เรื่องโกงยังแก้กันไม่ได้เลย

มีหวังโกงกระจาย

Written By
More from pp
กรมควบคุมโรค ร่วมกับเครือข่าย เร่งรัดการเข้าถึงวัคซีนในกลุ่มประชากรข้ามชาติเพิ่มขึ้น ภายหลังได้รับวัคซีนโควิดกว่า 5 ล้านเข็มแล้ว
กรมควบคุมโรค จัดประชุมขยายความร่วมมือกับเครือข่ายสุขภาพประชากรข้ามชาติ ที่ประกอบด้วยหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 ด้าน
Read More
0 replies on “นักพูดเสื้อส้ม-นักกู้ถุงเท้าชมพู – ผักกาดหอม”