รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์พงศกร ตันติลีปิกร รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการความร่วมมือการผลิตวัคซีนสำหรับโรคภูมิแพ้ ว่า แม้วัคซีนรักษาโรคภูมิแพ้โดยฝีมือคนไทย จะได้รับการขึ้นทะเบียน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2563 และจัดอยู่ในประเภท “วัคซีนพื้นฐาน” ที่อยู่ใน “บัญชียากำพร้า” กระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี พ.ศ. 2566 แต่พบว่ายังสามารถเข้าถึงผู้ป่วยคนไทยกลุ่มเป้าหมายได้เพียงไม่เกินร้อยละ 10
จึงทำให้ความพยายามของมหาวิทยาลัยมหิดล ไม่หยุดอยู่เพียงแค่การพัฒนาวัคซีนเพื่อรักษาโรคภูมิแพ้ให้หายขาด แต่ได้ผลักดันสู่การจัดตั้งศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการวิจัยและพัฒนาด้านโรคภูมิแพ้และวิทยาภูมิคุ้มกัน หรือ “Siriraj Allergy” ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2560 ที่รวมเอาทุกศาสตร์ที่เกี่ยวข้องมาร่วมทำให้เกิด “ความยั่งยืน” จากการร่วมพัฒนาการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายที่จะนำไปสู่การรักษาที่ครอบคลุม และครบวงจรมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เมื่อผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัวเองว่าเกิดความผิดปกติจากอาการภูมิแพ้ ในเบื้องต้นจะได้เข้ารับการทดสอบด้วยชุดทดสอบโรคภูมิแพ้ ที่พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะสำหรับคนไทย หรือคนเอเชีย โดย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนส่งต่อไปพบแพทย์รักษาโรคภูมิแพ้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง
ซึ่งได้แก่ แพทย์ผิวหนัง กุมารแพทย์ จักษุแพทย์ ตลอดจนแพทย์ระบบทางเดินหายใจ เพื่อการดูแลระบบทางเดินหายใจส่วนต้น ซึ่งได้แก่ หู คอ จมูก และระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ซึ่งได้แก่ในส่วนของปอด ที่แสดงอาการหอบหืด ฯลฯ และเข้ารับการฉีดวัคซีนรักษาโรคภูมิแพ้ที่ได้รับการคิดค้นและพัฒนาขึ้นโดย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เช่นกัน
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “Siriraj Allergy” ได้รับการรับรองในฐานะ “ศูนย์ความเป็นเลิศ” จาก World Allergy Organization : WAO ปี 2022 – 2024 มาจากความสามารถในการสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมและใช้ได้จริงกับชาวไทยและชาวเอเชียอย่างครบวงจร จนสามารถยกระดับสู่การเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค
จากการพบว่าประชากรในทวีปเอเชีย ซึ่งอยู่ในเขตร้อน ได้รับผลกระทบจากสารก่อภูมิแพ้ประเภท “ไรฝุ่น” มากกว่าประเทศในเขตหนาว จึงได้นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ และการบริการเพื่อการวินิจฉัย รักษา ดูแล และควบคุมโรคภูมิแพ้ไรฝุ่น ซึ่งมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกอย่างเต็มรูปแบบจาก “ศูนย์บริการและวิจัยไรฝุ่นศิริราช” ที่อยู่ภายใต้ “Siriraj Allergy” ปัจจุบันมีบทบาทตั้งแต่ในระดับครัวเรือน ไปจนถึงระดับสถานประกอบการ ในระดับชาติ และเอเชีย
ด้วยการทำงานที่เข้มแข็งมากด้วยประสิทธิภาพ และประสบการณ์กว่าสองทศวรรษของหน่วยปฏิบัติการจาก “ศูนย์บริการและวิจัยไรฝุ่นศิริราช” ที่พร้อมให้บริการประชาชนกำจัดไรฝุ่น และออกแบบการดูแล “บ้านปลอดฝุ่น” รวมทั้งสถานประกอบการต่างๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานประกอบการประเภทโรงแรม ทำให้เกิดทางเลือกมากขึ้นในการตัดสินใจ และสร้างความมั่นใจได้มากขึ้น
สำหรับการเลือกใช้บริการที่ปลอดภัยต่อสุขภาวะ ตลอดจนช่วยลดการนำเข้า “ผลิตภัณฑ์ปลอดไรฝุ่น” ซึ่งส่งผลดียิ่งต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทย และในอนาคตอาจพัฒนาสู่การรับรองมาตรฐานโลกระดับ ISO และนำมาซึ่งความภาคภูมิใจของ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน”
ตามปณิธานฯ ที่พร้อมยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวไทย โดยหวังเป็นส่วนหนึ่งที่แม้จะไม่สามารถทำให้อุบัติการณ์โรคภูมิแพ้ไม่เกิดเพิ่มขึ้นท่ามกลางสิ่งเร้าจากโลกร้อน แต่ก็พร้อมเป็นกำลังสำคัญเพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไปอย่างยั่งยืน
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th