“หมูเถื่อน” ปัจจัยทำลายห่วงโซ่การผลิตหมูไทยและเส้นทางสู่ครัวโลกที่ยั่งยืน

สมสมัย หาญเมืองบน นักวิชาการอิสระ

4 บริบท อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทยที่ถูก “หมูเถื่อน” เบียดบังและบิดเบือน ส่งผลกระทบต่อการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตลอด 50 ปี ที่ผ่านมา จากการเลี้ยงในเล้าหลังบ้านไว้บริโภคในครัวเรือนโดยให้เศษอาหารที่เหลือเป็นอาหารของหมู สู่การเลี้ยงเชิงพาณิชย์ ตามมาตรฐานสากล มีการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ การพัฒนาสูตรอาหารสัตว์ให้เหมาะกับการเติบโตของสัตว์ทุกช่วงวัย ตลอดจนนำเทคโนโลยีการเลี้ยงที่ทันสมัยมาใช้ในโรงเรือนระบบปิด ซึ่งช่วยในการป้องกันโรคสัตว์และควบคุมไม่ให้โรคแพร่ระบาดสู่ภายนอก

ควบคู่กับการดูแลสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ให้สัตว์สุขภาพดี ไม่ป่วย จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฎิชีวนะ ทำให้การเลี้ยงสุกรและคุณภาพเนื้อหมูของไทยทัดเทียมกับมาตรฐานโลก ปลอดภัย สร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามแนวทาง “ครัวของโลกที่ยั่งยืน” แต่ “หมูเถื่อน”กลับเป็นตัวทำลายสำคัญ

บริบทที่ 1 ในห่วงโซ่การเลี้ยงสุกรของไทย (Supply Chain) เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ตั้งแต่ชาวไร่ผู้ปลูกข้าวโพดและถั่วเหลือง ต้องมาจากแหล่งที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องดำเนินการตามมาตรฐานสากล ผู้ปรับปรุงพันธุ์สัตว์ เกษตรกรผู้เลี้ยง โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูป และผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการทั้งหมด ต้องปฎิบัติตามมาตรการและกฎหมายอย่างเคร่งครัด

เพราะผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การผลิตเนื้อหมูในระบบอุตสาหกรรมของไทยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งทุกขั้นตอนยังมีการถ่ายทอดและส่งเสริมผู้มีส่วนได้เสียให้มีส่วนร่วมดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันเพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) สร้างหลักประกันความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารของผู้บริโภคปลายทาง แต่การเข้ามาของหมูเถื่อนทำให้การตรวจสอบย้อนกลับในห่วงโซ่ทำได้ยาก

บริบทที่ 2 ระหว่างปี 2564-2566 นับเป็นช่วงเวลาวิกฤตของอุตสาหกรรมสุกรของไทย หลังรัฐบาลประกาศพบโรคระบาด ASF ในประเทศ ทำให้ผลผลิตหมูขุนและแม่พันธุ์สุกรหายไปจากระบบ 50% ราคาหมูปรับขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ หมูเนื้อแดงที่เคยราคาหน้าเขียงระดับ 120-150 บาทต่อกิโลกรัม ในปี 2565 พุ่งขึ้นไปสูงเกินกว่า 200 บาทต่อกิโลกรัม ตามกลไกตลาดอุปสงค์ (Demand) สูง แต่อุปทาน (Supply) ไม่เพียงพอ ราคาจึงจำต้องปรับ

นายทุน-พ่อค้า ลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนจากประเทศบราซิล เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สเปน เป็นต้น เพื่อทำกำไรส่วนต่างจากราคาที่แตกต่างกันกับหมูไทย เนื่องจากหมูเถื่อนจากประเทศเหล่านี้มีต้นทุนการผลิตถูกกว่าหมูไทยมาก เพราะอยู่ในแหล่งเพาะปลูกข้าวโพดซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในอาหารสัตว์ ทำให้ราคาหมูหน้าฟาร์มในประเทศเหล่านี้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 35-45 บาทต่อกิโลกรัม มาถึงเมืองไทยราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 70-80 บาท เห็นกำไรสูงแน่นอนเมื่อเทียบกับหมูไทยในปี 2565 เฉลี่ยที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม

บริบทที่ 3 “หมูเถื่อน” จะเข้าประเทศไทยไม่ได้ หากไม่มีข้าราชการและนักการเมือง “นอกรีต” ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออกสินค้า ทุจริตต่อหน้าที่ อำนวยความสะดวกให้มิจฉาชีพนำเข้าเนื้อเถื่อน กอบโกยผลประโยชน์เป็นของส่วนตน แต่สร้างความเสียหายให้กับประเทศ ที่สำคัญหมูเถื่อนมาจากประเทศเหล่าที่ยังอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ทำลายสุขภาพคนไทย

ขณะที่หมูไทยปลอดภัยสูงเพราะห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงเด็ดขาดมาหลายสิบปี อย่างไรก็ตาม แม้จะไล่ล่าตัวผู้กระทำผิดกันมานานเกือบ 2 ปี แต่ก็ยังไม่ได้ตัว “ผู้บงการ” ความเสียหายยังคงปรากฎให้เห็นคือ ราคาหมูตกต่ำ เกษตรกรขาดทุนสะสมนานกว่า 10 เดือน

ถึงวันนี้เกษตรกรยังขายหมูหน้าฟาร์มได้ราคาปริ่มๆ กับต้นทุนการผลิตคือเฉลี่ยที่ 68-74 บาทต่อกิโลกรัม (ราคาสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ วันที่พระที่ 12 ธันวาคม 2566) โดยต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 80-85 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่เกษตรกรทั่วประเทศประกาศราคาที่อยู่ได้คือ 81-82 บาทต่อกิโลกรัม หลังเคยโดนหมูเถื่อนถล่มราคาตกต่ำมาอยู่ที่ประมาณ 50 บาทต่อกิโลกรัม จนต้องแบกขาดทุนสะสมกันยาว ผู้เลี้ยงจำนวนไม่น้อยทอดใจเลิกเลี้ยงหมู ที่เหลืออยู่ยังไม่รู้ชะตากรรมว่าจะไปต่อได้อีกนานเท่าไร

บริบทที่ 4 ประสบการณ์หมูเถื่อนครั้งนี้ ควรนำไปสู่การปรับปรุงและสร้างมาตรฐานใหม่มีกฎหมายควบคุมการผลิตที่เข้มแข็งและการตรวจสอบอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการจัดระบบตรวจสอบย้อนกลับในภาคปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร (From Farm to Table)

กล่าวคือ เริ่มจากพ่อแม่พันธุ์ สุกรขุนในฟาร์ม วัตถุดิบอาหารสัตว์ (ต้องตรวจสอบแหล่งที่มาได้และมีเพียงพอต่อความต้องการ) การทำฟาร์มมาตรฐานเพื่อป้องกันและควบคุมโรคระบาด โรงฆ่าสัตว์ต้องได้มาตรฐานและมีการตรวจสอบสม่ำเสมอ อย่าให้เกิดช่องโหว่ก่อการทุจริต รับเงินใต้โต๊ได้เช่นที่ผ่านมา

สำคัญที่สุด คือ ทุกประเทศล้วนมีกฎหมายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคของตน การนำเข้า-ส่งออกเนื้อสัตว์ต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบสุขอนามัยและระเบียบปฏิบัตตามเงื่อนไขของกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่นำเข้า-ส่งออกได้ตามอำเภอใจ เพื่อยืนยันแหล่งที่มาปราศจากการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

ประเทศไทยก็เช่นกันมีกฎและระเบียบการนำเข้า เพื่อปกป้องคนไทยให้มีอาหารปลอดภัย และส่งเสริมให้ไทยเดินตามเป้าหมายสู่การเป็น “ครัวของโลก” ได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งหมดทั้งปวงนี้ขอให้นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เดินหน้าการปราบปรามหมูเถื่อนอย่างเขิมแข็งและต่อเนื่องจนกว่าได้ตัว “ผู้บงการ” มาลงโทษตามกฎหมาย เพื่อหยุดหายนะของอุตสาหกรรมหมูไทยให้ได้

Written By
More from pp
เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป คว้ารางวัล “LEADING OF ESG” สาขา ENVIRONMENTAL PRODUCT จากงาน “Future Trends Awards 2025” ด้วยผลงานรักษ์โลกที่โดดเด่น “กระเป๋าจากจอหนัง”
บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) โดย นรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด รับรางวัล “LEADING...
Read More
0 replies on ““หมูเถื่อน” ปัจจัยทำลายห่วงโซ่การผลิตหมูไทยและเส้นทางสู่ครัวโลกที่ยั่งยืน”