อยากให้ ‘วิกฤต’ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

งงดีแท้

จู่ๆ ต้องมานั่งเถียงกันว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤตแล้วหรือยัง

รัฐบาลเศรษฐาพยายามบอกว่า เศรษฐกิจไทยวิกฤตแล้ว จำเป็นต้องกู้เงิน ๕ แสนล้านบาทมาแจกประชาชน

ขณะที่ผู้คนในสังคมถกเถียงกันว่า วิกฤตเศรษฐกิจคืออะไร

สาหัสขนาดไหนถึงจะเรียกว่าวิกฤต

ปัจจุบันเศรษฐกิจแต่ละประเทศเชื่อมโยงกันเป็นเศรษฐกิจโลก

ถ้าเศรษฐกิจโลกวิกฤตทุกประเทศก็จะวิกฤตไปพร้อมๆ กัน ประชาชนได้รับผลกระทบมากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นกับความเก่งกาจของรัฐบาลแต่ละประเทศ

นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โลกเกิดวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้วหลายรอบ

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ยุค ๑๙๓๐

วิกฤตหนี้สาธารณะในลาตินอเมริกา ยุค ๑๙๘๐s

วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี ๑๙๙๗

วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์/ซับไพรม์ ปี ๒๐๐๘

วิกฤตโรคระบาดโควิด ปี ๒๐๒๐

ทั้งหมดนี้คือวิกฤตเศรษฐกิจ

ปัจจุบันประเทศไทยยังอยู่ในวิกฤตเศรษฐกิจจากการระบาดโควิดอยู่หรือไม่

รัฐบาลเศรษฐาพยายามอ้างตัวเลขจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บอกกับประชาชนว่า เราวิกฤตแล้ว

กำลังลำบากกันอย่างแสนสาหัส

ประชาชนทุกคนสามารถให้คำตอบกับตัวเองได้ว่า ณ ปัจจุบัน ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากเหมือนกับช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ห้ามเดินทาง ธุรกิจปิดกิจการ คนตกงานมหาศาล หรือไม่

ถ้าใช่ ก็สมควรแล้วที่รัฐบาลจะกู้เงินมาแจกหัวละ ๑ หมื่นบาท

แต่ถ้าไม่ใช่ ก็ต้องตั้งคำถามไปยังรัฐบาล จะมาสร้างหนี้ให้ประเทศเพิ่มทำไม

ง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน จากที่ไม่เห็นฝรั่งมาเดินบนถนน มานั่งรถตุ๊กๆ เลยในช่วง ๓-๔ ปีที่ผ่านมา เพราะโควิดเล่นงานไปทั้งโลก วันนี้เราเห็นฝรั่งเดินกันเกลื่อนตามสถานที่ท่องเที่ยวใช่หรือไม่

จากที่เคยตกงานเพราะบริษัทปิดกิจการช่วงโควิด วันนี้กลับมามีงานทำแล้วใช่หรือไม่

ถ้าไม่ใช่ เศรษฐกิจไทยคงจะวิกฤตจริงๆ

แต่ถ้าใช่ ต้องตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่า จะมาแหกปากบอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังวิกฤตอยู่ทำไม

นายกฯ เศรษฐา เจตนาพูดตัวเลขบางตัว ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการออก พ.ร.บ.กู้เงิน แต่กลับไม่ยอมพูดทั้งหมด ซึ่งจะบอกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในขั้นวิกฤต หรือช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟู

สภาพัฒน์เผยแพร่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาสที่ ๓/๒๕๖๖ เมื่อวันจันทร์ ๒๐ พฤศจิกายน เนื้อหาโดยย่อ ดังนี้ครับ

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาสที่ ๓/๒๕๖๖ ขยายตัวร้อยละ ๑.๕ ชะลอลงจากร้อยละ ๑.๘ ในไตรมาสที่ ๒/๒๕๖๖ เป็นผลจาก

การส่งออกรวมชะลอลง จากการส่งออกสินค้าที่ลดลง ขณะที่บริการรับขยายตัวจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น

การใช้จ่ายรัฐบาลยังคงลดลง ปัจจัยหลักมาจากการลดลงของการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ลดลง ขณะที่การอุปโภคบริโภคของครัวเรือนขยายตัวต่อเนื่อง และการลงทุนของภาคเอกชนที่เร่งขึ้น ส่งผลให้ ๙ เดือนปี ๒๕๖๖ เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ ๑.๙

ด้านการผลิต ชะลอลงทั้งภาคเกษตร และภาคนอกเกษตร โดยภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ ๐.๙ ชะลอลงจากร้อยละ ๑.๒ ในไตรมาสที่ ๒/๒๕๖๖ ตามการลดลงของผลผลิตพืชผลเกษตรที่สำคัญ ภาคนอกเกษตรขยายตัวร้อยละ ๑.๕ ชะลอลงจาก ร้อยละ ๑.๘ เป็นผลจากภาคบริการขยายตัวร้อยละ ๓.๙ ปัจจัยสนับสนุนมาจากกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวขยายตัวได้ ขณะที่ ภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ ๒.๘ เป็นผลจากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลงตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ

ด้านการใช้จ่าย การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน การลงทุนรวม และการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัว ร้อยละ ๘.๑ ร้อยละ ๑.๕ และร้อยละ ๐.๒ ตามลำดับ ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล และการนำเข้าสินค้าและบริการ ลดลงร้อยละ ๔.๙ และร้อยละ ๑๐.๒ ตามลำดับ

ปรับปัจจัยฤดูกาลแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ ๓/๒๕๖๖ ขยายตัวร้อยละ ๐.๘ จากที่ขยายตัวร้อยละ ๐.๒ ในไตรมาสที่ ๒/๒๕๖๖ (QoQ_SA)

การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน ขยายตัวร้อยละ ๘.๑ ต่อเนื่องจากขยายตัวร้อยละ ๗.๘ ในไตรมาสที่ ๒/๒๕๖๖ โดยการใช้จ่ายหมวดสินค้ากึ่งคงทนขยายตัว ๑.๐ เร่งตัวจากไตรมาสที่ ๒/๒๕๖๖ ที่ขยายตัวร้อยละ ๐.๗ หมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัวร้อยละ ๔.๒ หมวดบริการขยายตัวร้อยละ ๑๕.๕ และหมวดสินค้าคงทนชะลอตัว

การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล ลดลงร้อยละ ๔.๙ จากการลดลงร้อยละ ๔.๓ ในไตรมาสที่ ๒/๒๕๖๖ เป็นผลจากการโอน เพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดลดลงร้อยละ ๓๘.๖ และรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ ๐.๕ อย่างไรก็ตาม ค่าตอบแทนแรงงานขยายตัวร้อยละ ๐.๒ จากการขยายตัวร้อยละ ๐.๓ ในไตรมาสที่ ๒/๒๕๖๖

การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ ๑.๕ จากการขยายตัวร้อยละ ๐.๔ ในไตรมาสที่ ๒/๒๕๖๖ โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ ๓.๑ เร่งขึ้น จากการขยายตัวร้อยละ ๑.๐ ในไตรมาสที่ ๒/๒๕๖๖ เป็นการขยายตัวทั้งด้านการก่อสร้าง และด้านเครื่องจักรเครื่องมือ ขณะที่การลงทุนภาครัฐลดลง ร้อยละ ๒.๖ ต่อเนื่องจากที่ลดลงร้อยละ ๑.๑ ในไตรมาสที่ ๒/๒๕๖๖ เป็นการลดลงทั้งด้านการก่อสร้างและด้านเครื่องจักรเครื่องมือ

ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือ มูลค่า ณ ราคาประจำปี ลดลง ๑๘๖.๕ พันล้านบาท สินค้าคงคลังสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าวสาร น้ำตาล เครื่องประดับอัญมณี พลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น เภสัชภัณฑ์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง สำหรับสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม และเนื้อสัตว์ปีกสด แช่เย็นและแช่แข็ง

ดุลการค้าและบริการ ณ ราคาประจำปี เกินดุล ๑๒๙.๔ พันล้านบาท โดยดุลการค้าเกินดุล ๑๙๑.๘ พันล้านบาท และดุลบริการขาดดุล ๖๒.๕ พันล้านบาท

จะเห็นว่าตัวเลขมีทั้งดีขึ้นและลดลง

ก่อนอื่นต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ไตรมาสที่ ๓ คือ ช่วง ๑ กรกฎาคม-๓๐ กันยายน

นายกฯ เศรษฐาได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม

รัฐบาลแถลงนโยบาย ๑๑ กันยายน

ช่วงเวลาดังกล่าวนี้เป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยว รัฐบาลเก่าไม่มีอำนาจบริหารเต็ม ส่วนรัฐบาลใหม่ยังไม่เข้ารับหน้าที่และเพิ่งจะเริ่มงาน

ขณะที่ พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน ออกช้ากว่าปกติ

จากสถานการณ์นี้ ทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจลดลงได้ โดยเฉพาะการใช้จ่ายภาครัฐ

แต่มันไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจ

และตัวเลขเหล่านี้ยังชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลต้องแก้ปัญหาในจุดไหน อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่กู้มาแจก

“ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นในหลักการจากคำถามของนักข่าว มีน่าสนใจอยู่ ๓ คำถาม

คำถามแรก สภาพัฒน์บอกว่าถ้าคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นมาว่า ถ้า ครม.ไปต่อทางนี้ไม่ได้ อาจมีทางอื่นหรือไม่

คำตอบคือ ….ไม่รู้ เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องคิด ไม่ใช่เรื่องของผม และคณะกรรมการกฤษฎีกาให้คำแนะนำไม่ได้ เพราะไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นนักกฎหมาย โดยกฎหมายที่จะนำมาพิจารณาประกอบพิจารณา มีทั้งรัฐธรรมนูญ เรื่องการจ่ายเงินแผ่นดิน และยังมีกฎหมายหลายฉบับประกอบ เช่น กฎหมายงบประมาณ กฎหมายการเงินการคลัง กฎหมายหนี้สาธารณะ พ.ร.บ.เงินตรา จึงไม่สามารถตอบแทนได้ว่าวิกฤตหรือไม่วิกฤต

คำถามที่สอง รัฐบาลฝากความหวังไว้ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ถ้าวิธีออก พ.ร.บ.กู้เงินไม่ได้ จะใช้ช่องทางใดได้บ้าง

คำตอบคือ ….การจะเข้าเงื่อนไขหรือไม่ต้องดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งผมไม่รู้ไม่สามารถตอบแทนได้

และคำถามที่สาม เลขาธิการนายกรัฐมนตรีอยากจะขอคำแนะนำจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าจะทำอย่างไรถึงจะเดินหน้าโครงการได้

คำตอบคือ …คำถามที่ว่าทำอย่างไรให้ทำได้ ไม่ควรมาถามเพราะไม่ใช่คนกำหนดนโยบาย ก็ไม่ใช่หน้าที่ ย้ำว่าเรื่องวิกฤตหรือไม่วิกฤตไม่ใช่หน้าที่ของกฤษฎีกา แต่เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่จะหาข้อมูลมาสนับสนุน

สุดท้ายก็อยู่ที่รัฐบาลครับ

หากรัฐบาลสามารถเปลี่ยนตัวเลขทางเศรษฐกิจซึ่งอยู่ในช่วงฟื้นฟู ให้กลายเป็นวิกฤตได้ ก็หมายความว่ารัฐบาลนี้หากินกับหายนะของประเทศ เพื่อแลกกับคะแนนนิยม

ระวังรัฐบาลจะวิกฤตแทน

Written By
More from pp
“อนุสรณ์” ย้ำ กก.บห.ชุดใหม่ พร้อมเดินหน้าทำงานต่อ เพื่อประเทศชาติและประชาชน
27 กันยายน 2563 นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การลาออกของประธานยุทธศาสตร์และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งแตกแยกภายในพรรคเพื่อไทย
Read More
0 replies on “อยากให้ ‘วิกฤต’ – ผักกาดหอม”