สะเทือนรัฐบาลหน้า-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

พายุกำลังก่อตัวอีกซีกโลก

ไม่รู้จะพัฒนาเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น พัดมาถล่มไทยและประเทศอื่นๆ ด้วยหรือเปล่า

ก็คงทราบกันแล้ว กับข่าวเขย่าขวัญว่าสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ๓ แห่ง ปิดตัวลง

Silvergate Capital

Silicon Valley Bank

ล่าสุด Signature Bank

นับเป็นการล่มสลายของสถาบันการเงินครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ครั้งหนึ่ง นับแต่วิกฤตการเงินโลกเมื่อปี ๒๕๕๑

วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ นั่นแหละครับ

ปัญหาใหญ่คือขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง

นึกถึง วิกฤตต้มยำกุ้งปี ๒๕๔๐ ครับ

แต่ครั้งนี้ เครื่องไม้เครื่องมือทางการเงิน ดีกว่าเมื่อ  ๒๖ ปีก่อนมาก ก็ได้แต่หวังว่าจะไม่ลุกลามกลับไปย่ำรอยเดิม

อีกมุมถึงมีมาตรการทางการเงินดีกว่าเดิม แต่การเล่นแร่แปรธาตุก็มีประสิทธิภาพกว่าเดิมเช่นกัน

ฉะนั้น ยังวางใจมิได้

ล่าสุด แบงก์ชาติอังกฤษอนุมัติให้ HSBC เข้าซื้อกิจการธนาคาร SVB UK ในราคา ๑ ปอนด์ หรือแค่ ๔๒  บาท

ในทางธุรกิจ SVB UK ขาดทุนย่อยยับ

แต่นี่คือการขาย เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของอังกฤษ

เริ่มขยายวงแล้วสิ!

จับตาดู สาขาของ SVB ในจีน เดนมาร์ก เยอรมนี  อินเดีย อิสราเอล และสวีเดน จะประสบชะตากรรมเดียวกันหรือไม่

มีความพยายามปิดน้ำที่รั่วจากเขื่อนอยู่

ธนาคารกลางสหรัฐฯ และบรรษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลสหรัฐฯ (Federal Deposit Insurance Corporation: FDIC) ยืนยันร่วมกันว่า ประชาชนที่ฝากเงินไว้กับสถาบันการเงินทั้ง ๓ แห่ง จะยังสามารถเข้าถึงเงินฝากได้เต็มจำนวน

พูดง่ายๆ คือเงินที่ฝากไว้ยังอยู่ครบทุกดอลลาร์

แล้วจะจบหรือเปล่า?

แต่เหตุการณ์นี้ทำให้มูลค่าตลาดของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ หายไปแล้วกว่า ๑ แสนล้านดอลลาร์

คิดเป็นเงินไทยก็ราวๆ ๓.๕ ล้านล้านบาท

เท่ากับกรอบวงเงินงบประมาณประจำปี ๒๕๖๗ ที่คณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ เพิ่งจะให้ความเห็นชอบไปก่อนหน้านี้

ก็ยังเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทย เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่า ผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินของไทยมีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ย

สาเหตุเพราะไม่มีธนาคารพาณิชย์ของไทย ไปทำธุรกรรมโดยตรงกับ SVB

และปริมาณธุรกรรมโดยรวมของกลุ่มแบงก์ของไทยใน Fintech และ Startup ทั่วโลกมีน้อยกว่า ๑% ของเงินกองทุนของกลุ่มธนาคารพาณิชย์

ที่สำคัญพบว่าธนาคารพาณิชย์ไทยไม่มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล

แบงก์ชาติ เอาตัวเลขฐานะของแบงก์ไทย ออกมายืนยัน โดยเฉพาะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง โดยมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ร้อยละ ๑๙.๔

สภาพคล่อง (Liquidity Coverage Ratio: LCR) สูงถึงร้อยละ ๑๙๗.๓

มีหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) ในระดับต่ำที่ร้อยละ  ๒.๗๓

ขณะที่เงินสำรองต่อหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL  Coverage Ratio) สูงถึงร้อยละ ๑๗๑.๙

“พรชัย ฐีระเวช” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) บอกว่า เหตุการณ์นี้ไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง แม้แต่ในสหรัฐฯ ก็กระทบแค่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของประเทศในระยะสั้น ไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ หรือระบบการเงินของประเทศสหรัฐฯ ทั้งประเทศ

ถึงจะออกมายืนยันกันครบทุกหน่วยงาน แต่นับตั้งแต่โควิดบุกโลกเมื่อ ๓ ปีก่อน ก็มีเหตุการณ์นี้ ที่บีบหัวใจคนทั้งโลก ต้องใจตุ๊มๆ ต่อมๆ ว่าจะโดนด้วยไหมเนี่ย

เพราะในยุคนี้ โลกมันเปลี่ยนแปลงเร็ว ความคิด ความเชื่อ ที่เป็นพื้นฐานดั้งเดิม อาจจะใช้ไม่ค่อยได้แล้ว มันเป็นยุคที่ “อะไรก็เกิดขึ้นได้”

ประเทศไทย เคยเจ็บหนัก เข้าไอซียูเมื่อปี ๒๕๔๐

วิกฤตต้มยำกุ้ง ไฟแนนซ์ทยอยล้ม กลายเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ วิกฤตเศรษฐกิจลุกลามไปทั่วโลก

คนที่อยู่ร่วมสมัย ยากที่จะลืมความยากลำบากในช่วงเวลานั้น

ถ้าลองไปดูสาเหตุของแบงก์ SVB ถูกแห่ถอนเงิน จนขาดสภาพคล่อง ล้มทั้งยืน

ก็น่าจะมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ขึ้นดอกเบี้ยไม่หยุด และมีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยไปอีก จนอาจจะถึง ๖% เพื่อกดเงินเฟ้อให้ลงมาอยู่ในระดับที่พอใจ ให้ได้

มาที่ SVB มีปัญหาตรงที่ โครงสร้างฐานลูกค้าที่มีการกระจุกตัว อยู่ที่กลุ่มสตาร์ทอัป และธุรกิจร่วมลงทุน  และมีการบริหารสินทรัพย์ผิดพลาด เงินฝาก ๕๐% นำไปลงทุนตราสารหนี้

โดยนำเงินฝากกว่า ๙.๑ หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์ที่มีอยู่ ๒.๐๙ แสนล้านดอลลาร์ไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและเอกชนระยะยาว

ขณะที่เงินฝาก ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากระยะสั้น และเป็นเรตแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว

เมื่อต้องเจอกับเฟด ที่ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องไม่หยุด ทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยเงินฝากของแบงก์จึงเพิ่มขึ้นปรู๊ดปร๊าด  แต่ราคาพันธบัตรรูดต่ำลงเรื่อยๆ สวนทางดอกเบี้ย

จนนำไปสู่การขาดทุนย่อยยับ

ในยุคอินเทอร์เน็ตครองโลก ทำให้สถานการณ์ของแบงก์ย่ำแย่รวดเร็ว เพราะมีการโยกถอนเงินผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิง

ไม่ต้องเดินทางไปแบงก์ เข้าแถวขอถอนเงินเหมือนสมัยก่อน

มองปัญหาแบงก์ในอเมริกา ก็ต้องหันกลับมาทบทวนตัวเราครับ

ปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้ดอกเบี้ยสหรัฐฯ อยู่ในช่วงขาขึ้น  แม้จะเจอกับปัญหาโควิด แต่เฟดก็ไม่บันยะบันยังที่จะขึ้นดอกเบี้ย เพราะราคาน้ำมันทั่วโลกสูง จากสงคราม ยูเครน-รัสเซีย ส่งผลให้ข้าวของราคาแพง

ดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐฯ มีผลกระทบกับค่าเงินหลายสกุล

รวมทั้งเงินบาท ที่ผันผวน

ว่ากันเรื่องเงินเฟ้อ นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก มองว่า คือมะเร็งร้ายทางเศรษฐกิจ ถ้าประเทศไหนปล่อยให้เงินเฟ้อในประเทศสูงขึ้น ประเทศนั้นก็เตรียมม้วนเสื่อทางเศรษฐกิจได้

ไทยเองก็มีภาวะเงินเฟ้อสูง เป็นผลจากสงคราม รัสเซีย-ยูเครน แต่ขณะนี้เอาอยู่

 แต่นั่นเป็นปัจจัยภายนอก ที่เข้ามากระทบ

ที่น่าหวั่นใจ คือ ปัจจัยภายใน

ถ้าหันไปไล่ๆ ดู นโยบายหาเสียงแต่ละพรรคการเมือง  จะพบสัญญาณที่น่ากลัวอยู่เหมือนกัน

ลด แลก แจก แถม ประชานิยมทั้งสิ้น

เงินภาษีทั้งนั้น

หากนโยบายเหล่านี้ ถูกนำไปปฏิบัติจริงเป็นนโยบายของรัฐบาล ประชาชนส่วนหนึ่งรอรัฐเลี้ยงดูอย่างเดียว

หากปล่อยให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยวิธีนี้

นั่นล่ะครับ….เงินเฟ้อ ก็อาจจะตามมา

รัฐบาลหน้า พรรคไหนมีบุญวาสนาได้เข้ามา ก็เตรียมตัวไว้

งานยากรออยู่

Written By
More from pp
แกร็บ หนุนภาครัฐ-ดันพลังงานสะอาด ตั้งเป้า 5 ปีเพิ่มพาร์ทเนอร์ใช้รถ EV 10%
23 มีนาคม 2565-แกร็บ ประเทศไทย ขานรับนโยบายรัฐ-หนุนเทรนด์พลังงานสะอาด ประกาศตั้งเป้าเพิ่มจำนวนพาร์ทเนอร์คนขับ-ผู้จัดส่งอาหารที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้ได้ 10% ของพาร์ทเนอร์คนขับทั้งหมดภายในปี 2569
Read More
0 replies on “สะเทือนรัฐบาลหน้า-ผักกาดหอม”