มาเงียบๆ แต่น่ากลัว – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ย่องมาแบบไม่มีใครสนใจ

ระวัง! จะพังกันเป็นแถบ

เห็นนายกฯ กับคณะนั่งตาหวานเป็นน้ำเชื่อม เชียร์ให้ มงลง “แอนโทเนีย โพซิ้ว” นางงามลูกครึ่งไทย-เดนมาร์ก

กะจะส่งออกเป็น “ซอฟต์เพาเวอร์”

ก็น่าเสียดายครับ คว้าเพียงรองอันดับ ๑ Miss Universe 2023 ไปครอง

แต่ไม่จำเป็นต้องเสียใจ นายกฯ เศรษฐามาเอง รับปากจะไปปรึกษากับรองประธานซอฟต์เพาเวอร์ว่าจะทำงานร่วมกับรองมิสยูนิเวิร์สอย่างไรบ้างเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติได้

ดีงามครับ!

ระหว่างที่ปลาบปลื้มกับสิ่งสวยงามอยู่นี้ อย่าลืมหันไปมองสิ่งอัปลักษณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น อย่าเพลิดเพลินจนหลวมตัวตกเป็นเหยื่อพวก demo-crazy เป็นอันขาด

ระหว่างนี้ความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ยังคงดำเนินอยู่อย่างเงียบๆ

เงียบมากจนประชาชนส่วนใหญ่อาจไม่ทันสังเกตเห็น

ทบทวนเรื่องราวกันสักเล็กน้อย…

เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ที่ผ่านมา นายกฯ เศรษฐา มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐

เรียกสั้นๆ ว่า คณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ

กรรมการชุดนี้มีจำนวนทั้งหมด ๓๔ คน มี “ภูมิธรรม เวชยชัย” เป็นประธาน

แต่ก้าวไกลปฏิเสธที่จะร่วมสังฆกรรม เพราะรัฐบาลยืนยันว่า การทำประชามติก่อนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องไม่แตะต้องหมวด ๑ บททั่วไป และหมวด ๒ พระมหากษัตริย์

รวมถึงไม่แตะต้องบทบัญญัติเกี่ยวกับพระราชอำนาจที่แทรกอยู่ในหมวดอื่นๆ

มันเกิดเป็นประเด็นขึ้นมาเมื่อ “นิกร จํานง” โฆษกคณะกรรมการ และยังเป็นประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ ให้ข่าวว่า ภายในคณะอนุกรรมการได้หารือกันว่าการทำประชามตินั้นมีปัญหาที่จะทำให้ผ่านไม่ได้

เพราะต้องมีเสียงข้างมาก ๒ ระดับ คือ
๑.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ทําประชามติเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด คือประมาณ ๒๖ ล้านคน

๒.ใน ๒๖ ล้านคนนี้ จะต้องเห็นด้วยว่าควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กว่า ๑๓ ล้านคน ซึ่งคิดว่าทําได้ยากมาก

“…เพราะเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเหมือนเรื่องไกลตัว น่าจะทำประชาสัมพันธ์กันไม่ทัน อีกทั้งความเห็นต่างก็ไม่เยอะ คนที่ไม่เห็นด้วยมีไม่มากนัก แรงส่งที่จะทําให้มีคนออกมาใช้สิทธิ์น่าจะน้อย จึงเห็นว่าอาจมีปัญหา และถ้าหากประชามติไม่ผ่านขึ้นมา ก็จะกลายเป็นว่าคนไทยไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่จริงไม่ใช่แบบนั้น

ดังนั้นจะต้องมีการหารือกันในคณะกรรมการ ซึ่งผมจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายนนี้…”

ในมุมของคนอยากแก้รัฐธรรมนูญ แน่นอนครับกรณีนี้ถือเป็นอุปสรรค

แต่ในมุมคนที่ไม่เห็นด้วยว่าจะมาแก้รัฐธรรมนูญกันง่ายๆ ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง!

รัฐธรรมนูญควรแก้ไขยากใช่หรือไม่?

หรือจะแก้กันตามอัธยาศัย ใครใคร่แก้ก็แก้

พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ๒๕๖๔ มาตรา ๑๓ บัญญัติว่า การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น

ก็บังคับไว้เป็น ๒ ขยัก จุดประสงค์คือ เพื่อไม่ให้เรื่องที่ทำประชามตินั้นถูกแก้ไขง่ายเกินไป

โดยนัยคือ การเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนอย่างน้อยก็กึ่งหนึ่ง ถ้าไม่ถึงครึ่งอาจนำไปสู่หายนะได้

ประเด็นนี้มีการส่งเสียงจากพรรคก้าวไกลมาก่อนแล้ว

เป้าหมายของพรรคก้าวไกลก็อย่างที่ทราบกัน ต้องการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ

และรื้อทุกหมวด ทุกมาตรา

การให้เหตุผลว่าต้องแก้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ๒๕๖๔ มาตรา ๑๓ เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ “นิกร จำนง” แต่มีทัศนคติที่มีปัญหากว่า

“ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ” ให้เหตุผลที่ฟังแล้วมิได้อยู่บนพื้นฐานหลักการประชาธิปไตยสักเท่าไหร่

เหมือนเด็กถูกแย่งของเล่นมากกว่า

“…กฎหมายประชามติ ที่ต้องใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก ๒ ชั้น หรือ Double Majority ที่บัญญัติในมาตรา ๑๓ ของ พ.ร.บ.ประชามติที่อาจไม่เป็นธรรม ต่อการทำประชามติในทุกหัวข้อ ซึ่งเกณฑ์ชั้นที่ ๑ คือจะต้องมีจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ ส่วนชั้นที่ ๒ คือ ต้องมีเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงหากคนที่ไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่ถูกถาม

แทนที่จะออกมาใช้สิทธิ์แต่ใช้วิธีนอนอยู่บ้าน เพื่อคว่ำประชามติแทน และหากบวกกับจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ก็จะไม่ถึงเกณฑ์ เสียงข้างมาก ชั้นแรก ก็จะทำให้ตกไป…”

ทัศนคติแบบนี้…คิดหนักเหมือนกัน

ดูถูกประชาชนมากไปหน่อย

เหมือนพยายามกำกับ หรือตีกรอบประชาชนให้ลงประชามติในแบบที่ตัวเองต้องการ

อย่างที่ทราบกันเป็นหลักสากล การใช้สิทธิออกเสียง ไม่ว่าเลือกตั้ง หรือลงประชามติ มิได้มีเพียงการออกไปกาว่าใช่ หรือไม่ใช่

การแสดงความไม่พอใจด้วยการไม่ออกไปใช้สิทธิ์ก็ถือเป็นการออกเสียงอย่างหนึ่ง

การบอยคอตการเลือกตั้ง ก็มีให้เห็นกันบ่อยๆ เพราะประชาชนส่วนใหญ่เล็งเห็นแล้วว่าการเลือกตั้งนั้นไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม

แทนที่จะมาโทษว่าประชาชนไปใช้สิทธิ์ไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด นักการเมืองที่อยากจะเปลี่ยนประเทศก็ควรรณรงค์กับประชาชนว่า จะเปลี่ยนประเทศอย่างไร

จะเก็บอะไรไว้

หรือทิ้งอะไร

หากประชาชนเสียงส่วนใหญ่ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดเห็นด้วยว่าควรแก้ มันก็ต้องแก้ เพราะประชาชนเป็นใหญ่กว่าใครในแผ่นดิน

แต่หากไปรื้อกฎหมายให้ประชาชนเสียงข้างมากในการโหวต ที่ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของประเทศชี้นำการเปลี่ยนแปลง ประเทศจะสงบสุขยากครับ

ไม่ว่าอะไรก็ตามที่ผ่านประชามติของประชาชน มันต้องเป็นประชามติอย่างแท้จริง ไม่ใช่เสียงของพวกตัวเอง

ฉะนั้นหากเริ่มต้นด้วยการทลายกำแพงให้ย่อยยับ

บ้านก็ไม่เหลือให้อยู่อาศัยครับ

Written By
More from pp
“อนุสรณ์” แนะ “พล.อ.ประยุทธ์” สร้างความเชื่อมั่นไม่ได้ ก็อย่าทำลาย
31 ตุลาคม 2563 นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุ...
Read More
0 replies on “มาเงียบๆ แต่น่ากลัว – ผักกาดหอม”