นายกรัฐมนตรียืนยัน รัฐบาลให้ความสำคัญกับพื้นที่ EEC ย้ำสร้างความมั่นใจสูงสุดกับนักลงทุน

4 พฤศจิกายน 2566 เวลา 16.20 น. ณ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 2 (WHA ESIE2) ตำบลเขาคันทรง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการตรวจเยี่ยมโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวสรุปการเดินทางมาลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยองว่า การเดินทางวันนี้จากหัวลำโพงมาแหลมฉบังใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง เป็นการดีที่มีหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานเข้ามา ทั้งจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระทรวงคมนาคมเลขาธิการ BOI และเลขาธิการ EEC

โดยได้มีการพูดคุยกันถึงปัญหา ซึ่งจุดประสงค์ใหญ่ที่มาวันนี้คือมาดูเรื่องของ EEC ที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะทำกันต่อไป โดยปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่เราต้องการการแก้ไขปัญหาอย่างมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีอยู่มากมาย ดังนั้นจึงทำให้เกิดความล่าช้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำ พลังงานสะอาด ระบบราง ท่าเรือ สนามบิน

หลาย ๆ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยการแก้ไขอย่างบูรณาการจริง ๆ ยืนยันว่าหลักการของ EEC เป็นหลักการที่ดีมาก และเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดในการจะตอบสนองนโยบายของรัฐบาลนี้ได้ว่ารัฐบาลไทยเปิดแล้ว เปิดสำหรับให้ต่างชาติมาลงทุนอย่างดี เราต้องลงมาดูปัญหาเชิงลึกจริง ๆ ว่า แต่ละคนมีปัญหาอย่างไรแล้วจะได้แก้ไขกันไปแต่ละเรื่อง

นายกรัฐมนตรีกล่าวยกตัวอย่างปัญหาเรื่องน้ำ ซึ่งอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Circuit Board มีความต้องการน้ำอย่างมากจริง ๆ ซึ่งคำถามแรกของเขาคือเรามีน้ำเพียงพอหรือเปล่า มีแหล่งน้ำเพียงพอหรือเปล่า ที่ สทนช. กับกรมชลประทาน ต้องพยายามที่จะตอบสนองความต้องการของนักลงทุนให้ได้ สำหรับปัญหาที่คาราคาซังมาเป็นเวลานาน

พี่น้องสื่อมวลชนทราบดีอยู่แล้ว ว่ามีเรื่องของบริษัท วงษ์สยามฯ กับ บริษัท อีสต์วอเตอร์ฯ ซึ่งวันนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่เลขาธิการ EEC ได้มาพูดคุยและก่อนหน้าวันนี้ได้มีการเจรจากับทั้งสองฝ่ายจนกระทั่งบรรลุข้อตกลงได้ว่าจะสามารถทำงานร่วมกันได้

โดยปัญหานี้เป็นปัญหาที่ต่างชาติมีความกังวลใจว่าไม่ได้ถูกแก้ไข ก็ได้ถูกแก้ไขแล้ว โดยจะได้มีการร่วมมือกันทำงานและขจัดปัญหาเรื่องน้ำออกไปได้ สำหรับปัญหาเรื่องรถไฟ การเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งปัจจุบันนี้มีการดีเลย์ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับไปเจรจากับฝ่ายเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะให้ขับเคลื่อนต่อไปได้

ขณะที่ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ท่าเรือแหลมฉบังใหญ่เป็นอันดับที่ 19 ของโลก แต่ปริมาณสินค้าที่จะมีการเข้าและออกภายในประเทศไทยมีความต้องการสูงมาก เพราะฉะนั้นความจำเป็นที่ต้องสร้างเฟส 3 ขึ้นมาจึงมีมาก ซึ่งเมื่อดำเนินงานเฟส 3 แล้ว จะสามารถทำให้เรายกระดับท่าเรือท่าเรือแหลมฉบังไปเป็นท่าเรือที่ใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 15 ของโลกได้ เป็นเบอร์ 15 ได้

แต่ขณะนี้เฟส 3 ผู้ว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทยก็ยอมรับว่ามีความล่าช้าเกิดขึ้น ซึ่งตนได้สั่งการไปว่าเรื่องนี้เรายอมรับไม่ได้ ถ้าผู้รับเหมามีปัญหาก็ต้องเรียกมาพูดคุย และเรื่องการถมทะเลก็ช้า จะเอาเรื่องของโควิดมาอ้างก็ไม่ได้ เพราะความต้องการของต่างชาติที่ต้องการจะมาสร้างโรงงานผลิตรถไฟฟ้าที่เมืองไทยมีสูงมาก เขาต้องการที่จะมั่นใจว่าเรามีท่าเรือที่เพียงพอในการส่งออกรถไฟฟ้าเหล่านี้ หากท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 สร้างมาไม่ทัน ปริมาณรถยนต์จะออกมาเยอะมาก

ฉะนั้น จะเกิดความลำบากเรื่องการขนถ่ายเกิดขึ้น จึงได้มีการสั่งการไป และทางผู้ว่าการท่าเรือฯ ก็ยอมรับว่ามีการดีเลย์จริง แต่จะมีการก่อสร้างให้ทันเวลาได้ภายในกลางปี 2567 ซึ่งอีก 2 เดือนตนจะมาดูความคืบหน้าอีกครั้ง เหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่ ๆ ที่ได้คุยกัน

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องพลังงานสะอาดก็เป็นเรื่องสำคัญที่ภาคเอกชนก็มีความต้องการพลังงานสะอาดหากจะมาลงทุนที่นี่ ขณะที่ภาคเอกชนไทยเองก็มีความประสงค์ที่จะพัฒนาเรื่องพลังงานสะอาดไม่ว่าจะเป็น PPP ร่วมกับภาครัฐ ทำ Floating Solar ที่หลังเขื่อนต่าง ๆ ซึ่งที่หลังเขื่อนต่าง ๆ

ถ้านำมาทำพลังงานสะอาดจะได้ถึง 10,000 กิโลวัตต์ซึ่งถือว่าสูงมากและเพียงพอ แต่ถ้าสร้างมาแล้วต้องมีการใช้สายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่จะกระจายไปตามแหล่งนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งการที่จะพัฒนาเรื่องของสายส่งหรือบรรลุข้อตกลงได้ก็ต้องมีการเจรจากันต่อไป

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ที่ยกตัวอย่างมาเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเรื่องการลงรายละเอียด ที่ให้พวกเราต้องเถียงกัน แต่ให้รู้ว่ามีปัญหาในข้อปลีกย่อยมาก ทั้งนี้ ตนมอบหมายให้ตั้งคณะกรรมการขึ้น คือ East look of doing Business in EEC

มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เพื่อให้มีความง่ายขึ้น ให้ทะลุทะลวงได้ถึงปัญหา เชื่อมโยงกับภาคธุรกิจและเชื่อมโยงกับกระทรวงกรมต่าง ๆ โดยคณะกรรมการนี้เป็นคณะเล็กมีไม่ถึง 10 คน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

“การลงมาพื้นที่ EEC เป็นการบ่งบอกว่ารัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ และต้องให้ความมั่นใจอย่างสูงสุดกับนักลงทุนที่รัฐบาลกำลังจะเดินทางไปต่างประเทศ และพูดได้เต็มปากว่าพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษนี้ทำงานได้จริง และสามารถเชื้อเชิญนักลงทุนได้อย่างตรงไปตรงมา ถูกต้อง และรวดเร็วด้วย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นอกจากนี้ วันนี้ได้มีการลงพื้นที่ศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน สอนเรื่องอาชีพหลาย ๆ อย่าง มีอ่างเก็บน้ำดอกกราย เป็นอ่างเก็บน้ำที่สมบูรณ์ มีการเพาะพันธุ์ปลาที่พี่น้องประชาชนต้องการให้องค์ความรู้ตรงนี้ และเป็นโครงการที่ดี น่าสนับสนุนให้ทำต่อ เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีรายได้ที่ดีอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรม

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงเรื่องศักยภาพของประเทศไทย ว่าถ้าเราสามารถทะลุทะลวงปัญหาต่าง ๆ ที่ไม่ได้รับการแก้ไขมา ประเทศไทยจะเป็นแหล่งลงทุนแหล่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในการผลิตรถ EV และอีกหลาย ๆ ธุรกิจ โดยตนจะเดินทางไปประชุมเอเปคที่สหรัฐอเมริกาในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะมีการพูดคุยความร่วมมือระหว่างประเทศของหลาย ๆ ประเทศ และจะมีการพบปะกับภาคเอกชนของสหรัฐอเมริกากว่า 30 ราย

โดยจะมีภาคเอกชนของไทยเดินทางไปด้วย ดังนั้น การที่ได้เดินทางมาวันนี้ ถือเป็นนิมิตหมายอันดี เพื่อจะได้เข้าใจปัญหา มีแนวทางในการแก้ไขปัญหา และไปพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติได้อย่างเต็มปาก โดยหวังว่าภายในเวลาไม่กี่เดือนเราน่าจะ Secure Deal ต่าง ๆ ได้อีกมาก

Tags from the story
, ,
Written By
More from pp
Timeline​ ฉีดวัคซีน​ Pfizer​ นร.​ ดีเดย์​ฉีด 4​ ต.ค.นี้
10​-17​ ก.ย.64​ โรงเรียนจัดเตรียมรายชื่อและจำนวนนร. 17-22​ ก.ย.64​ โรงเรียนจัดประชุมผู้ปกครอง 21-24​ ก.ย.64​ โรงเรียนเชิญผู้ปกครอง​เซ็นต์ยินยอมให้นร.ฉีดวัคซีน 25​ ก.ย.64​ โรงเรียนนำส่งรายชื่อนร....
Read More
0 replies on “นายกรัฐมนตรียืนยัน รัฐบาลให้ความสำคัญกับพื้นที่ EEC ย้ำสร้างความมั่นใจสูงสุดกับนักลงทุน”