“จักรัตน์” เสนอญัตติแก้ไขปัญหายาสูบและยาเส้นราคาตกต่ำ ให้ กมธ. การเงิน การคลัง พิจารณาใน 90 วัน เร่งหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรยาสูบ

ในที่ประชุมสภาผูัแทนราษฎร ได้มีการเสนอญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหายาสูบและยาเส้นราคาตกต่ำ โดยนายจักรัตน์ พั้วช่วย สส.เพชรบูรณ์ เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กล่าวอภิปรายในฐานะผู้เสนอญัตติว่า เหตุผลของญัตตินี้คือ ยาสูบเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญประเภทหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่นิยมปลูกยาสูบกันเป็นจำนวนมาก เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตบุหรี่

นายจักรัตน์ กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบกลับต้องประสบปัญหาราคายาสูบ และยาเส้นตกต่ำ เนื่องจากการลดปริมาณรับซื้อยาเป็นอย่างมาก และมาตรการด้านสุขภาพ รวมถึงการปรับโครงสร้าง ภาษีกรมสรรพสามิตยาสูบใหม่ และการปรับขึ้นภาษี อย่างต่อเนื่องซึ่ง มาตรการดังกล่าวส่งผลให้ ราคาบุหรี่ปรับตัวสูงขึ้น มีการลักลอบนำเข้าบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้แพร่หลายเป็นจำนวนมาก จากปัญหาราคายาสูบและยาเส้นตกต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูก ที่ยึดถืออาชีพในการปลูกยาสูบมาอย่างยาวนาน ได้รับความเดือดร้อน มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และต้องแบกรับภาระหนี้สินอีกครั้ง

“เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ ดั้งเดิมยังไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น เพื่อทดแทนอาชีพเดิมได้ จึงเป็นปัญหาที่เกษตรกร ผู้ปลูกยาสูบต้องเผชิญ และมีแนวโน้มที่จะก่อปัญหาให้เกิด ดังนั้นหากมีการพิจารณาศึกษาปัญหาดังกล่าว เพื่อให้มีการแก้สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น และแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน ครบถ้วนในทุกมิติ จะเป็นการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีวิตและมีแนวทางการประกอบอาชีพที่เหมาะสม และยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

นายจักรัตน์ กล่าวต่อว่า ปัญหายาสูบและยาเส้นที่เกิดขึ้นปฎิเสธไม่ได้เลยว่า เกิดจากการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ตั้งแต่ปี 2560 ก็คือเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2560 กระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวงกำหนด โครงสร้างภาษีบุหรี่ แบบผสมโดยคิดภาษีตามปริมาณ 1.20 บาทต่อมวล บวกกับภาษีมูลค่า 2 อัตราได้แก่ บุหรี่ที่มีราคาเกิน 60 บาทต่อซอง คิดอัตรา 20% และบุหรี่ที่มีราคาเกิน 60 บาท ต่อซองคิดอัตรา 40% พร้อมกันนั้น เริ่มเก็บภาษีเพิ่มมหาดไทย จากสินค้ายาสูบ ในอัตรา 10% ของภาษีกรมสรรพสามิต ทำให้ต้องปรับเพิ่มราคาของบุหรี่อย่างสูงมาก และไม่เคยมีปรากฏมาก่อน

ส่วนรอบที่ 2 ในการปรับโครงสร้างภาษี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 รัฐบาลได้ปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ 2 อัตราเช่นเดียวกัน แต่คิดภาษีตามปริมาณ 1.25 บาทต่อม้วน และภาษีตามมูลค่า ก็คือปรับเป็น บุหรี่ที่ราคาไม่เกิน 72 บาทต่อซอง คิดอัตราเพิ่มจาก 20% เป็น 25% และบุหรี่ที่เกิน 72 บาทต่อซอง คิดอัตรา จาก 40% เป็น 42% การปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ทั้ง 2 อัตรา ทำให้บุหรี่มีราคา ที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้การยาสูบมีกำไรลดลงอย่างน่าตกใจ ส่งผลให้กระทบต่อชาวไร่ยาสูบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโควต้าการปลูกยาสูบ และที่สำคัญก็คือ เรื่องของราคา

“ที่ผ่านมาก่อนปี 60 การยาสูบไม่เคยขอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเลย แต่หลังจากปี 60 ที่มีการปรับภาษี รัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรไร่ยาสูบ ต้องขอบคุณ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งตอนนั้นท่านเป็นรองนายก ที่ได้ช่วยเหลือผลักดันมาตรการนี้ให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวไร่ยาสูบทั่วประเทศ ทั้งนี้ก็ขอให้กรรมาธิการที่เรากำลังช่วยกันพิจารณา ช่วยปรับตัวเลขให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่จริง เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตยาเส้นรายย่อยตามที่อยู่ต่างจังหวัดที่มีกำลังเงินกำลังทุนน้อยให้อยู่ได้ ก็คือ ปรับเป็นไม่เกิน 50,000 กิโลกรัมเสียภาษี 0.025 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนที่เกิน 50,000 กิโลกรัมเสียภาษี 0.1 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเหตุผลที่วันนี้ผมยื่นญัตติเพื่อให้ท่านกรรมการสามัญเพื่อทำการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหายาสูบ”

ทั้งนี้ เนื่องจากญัตติดังกล่าวนั้น เริ่มต้นเป็นการเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ แต่นายจักรัตน์ผู้เสนอญัตติเห็นสมควรให้ส่งไปยังคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน ซึ่งการอภิปรายของสมาชิกต่างมีความเห็นไปในแนวทางเดียวกัน ดังนั้น ประธานฯ ในที่ประชุมจึงอาศัยอำนาจตามข้อบังคับการประชุมฯ ข้อ 88 ในการถามมติว่าจะส่งญัตตินี้ไปให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาตามที่ผู้เสนอญัตติได้เสนอ ซึ่งไม่มีสมาชิกฯ ท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่น 
จึงถือว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ส่งญัตติไปยังคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน พิจารณา กำหนดระยะเวลาในการพิจารณา 90 วัน

Written By
More from pp
รมช.ชาดา ประชุมหารือร่วมกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาธุรกิจ SMEs ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ทำให้ประชาชนคนไทยมีความสุขอย่างยั่งยืน
21 พฤศจิกายน 2566 ที่กระทรวงมหาดไทย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้อนรับนายแสงชัย ธีรกุลวานิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย นายอุดมธิปก ไพรเกษตร...
Read More
0 replies on ““จักรัตน์” เสนอญัตติแก้ไขปัญหายาสูบและยาเส้นราคาตกต่ำ ให้ กมธ. การเงิน การคลัง พิจารณาใน 90 วัน เร่งหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรยาสูบ”