อิสราเอล-ปาเลสไตน์ ๑ – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

“๑๓ ตุลาคม” วัน “นวมินทรมหาราช”
เป็นวันคล้ายวัน “สวรรคต”
“พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” รัชกาลที่ ๙
บางคนอาจลืม ก็ไม่เป็นไร แต่อยากบอกว่า

“แหงนหน้าขึ้นไปมองบนฟ้าสิครับ….
ถึงไม่เห็นอะไรด้วยตา แต่โปรดรับรู้เถิดว่า มีพระเนตรคู่หนึ่ง เฝ้ามองป้องปกพสกนิกรและแผ่นดินไทยอยู่ตลอดเวลา พระเนตรคู่นั้น คือพระเนตร “พ่อบนฟ้า” ของเราทุกคน”
………………………………

ช่วงนี้ สังคมโลกค่อนข้างป่วยกระเสาะ-กระแสะ การตอบโต้ระหว่าง “ยิว-ปาเลสไตน์” น่าจะไม่ยุติเร็ววัน

ปัญหา “ยิว-ปาเลสไตน์” จะว่าไป ก็คล้าย “ปัญหาโลกแตก” มีมายาวนาน ๔,๐๐๐ กว่าปี

ฉะนั้น วันหยุด ๒ วันนี้ ที่เพจ “Histofun Deluxe” เขารวบรวบ-เรียบเรียง “ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์” เป็น ฉบับรวบรัด ไว้

ผมอ่านแล้ว นอกจาก “ศรัทธา-ทึ่ง” ในอัจฉริยภาพ ที่ย่อประวัติศาสตร์ ๔ พันปี ให้อ่านกันพอเข้าใจความเป็นมาได้ภายใน ๔-๕ นาที

จึงขออนุญาตนำเผยแพร่ ๒ วันครบ เป็นการ “ปูพื้นฐาน” เพื่อการตามข่าวสาร “ยิว-ปาเสไตน์” ได้เหมือนดูหนังประวัติศาสตร์ แบบคนเคยเรียนประวัติศาสตร์เรื่องนั้นมาก่อน
…………………………….

Histofun Deluxe
• ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ฉบับรวบรัด
• เนื้อหาในบทความนี้ นำเสนอในรูปแบบของไทม์ไลน์ ดังนั้น ในบางเหตุการณ์ที่มีความละเอียดซับซ้อน อาจจะไม่ได้ปรากฏอยู่ในไทม์ไลน์นี้

** เนื้อหาจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ภาคหลักคือ
ภาค I ประวัติศาสตร์อิสราเอลแบบคร่าว ๆ
ภาค II กำเนิดรัฐอิสราเอล
ภาค III ความขัดแย้งจนถึงปัจจุบัน
—–

ภาค I ประวัติศาสตร์อิสราเอลแบบคร่าว ๆ
• ราว 2,000 ปีก่อนคริสตกาล
อับราฮัม (Abraham) นำชาวฮีบรู (Hebrew) เดินทางอพยพจากดินแดน “เมโสโปเตเมีย” เข้ามาในดินแดน “คานาอัน”(Canaan)
หรือดินแดนแห่งพันธสัญญา(Promise Land)ที่ “พระผู้เป็นเจ้า” ทรงประทานให้กับ “ชาวฮีบรู”
—–

• ราว 1,500 ปีก่อนคริสตกาล
ภัยพิบัติทางธรรมชาติทำให้ชาวฮีบรู ตัดสินละทิ้งดินแดนคานาอัน และอพยพไปยังอียิปต์
แต่พวกเขาก็ได้กลายเป็นทาสที่อียิปต์ยาวนานหลายร้อยปี
—–

• ราว 1,300 ปีก่อนคริสตกาล
โมเสส (Moses) ได้ช่วยเหลือและอพยพชาวฮีบรูออกจากอียิปต์ เกิดเหตุการณ์สำคัญอย่างเอ็กโซดัส (Exodus) ที่โมเสสได้แยก “ทะเลแดง” เพื่อให้ชาวฮีบรูสามารถหลบหนีจากทหารอียิปต์
รวมไปถึงเหตุการณ์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานบัญญัติ 10 ประการ (Ten Commandments) เพื่อให้โมเสสใช้สั่งสอนแก่ชาวฮีบรู

เมื่อชาวฮีบรูอพยพมาถึงดินแดนคานาอัน ปรากฏว่าในขณะนั้น ดินแดน “คานาอัน” ได้ตกเป็นของชาว “ฟิลิสไตน์” (Philistine)
ชื่อ “ฟิลิสไตน์” เป็นที่มาของคำว่า “ปาเลสไตน์” (Palestine)
ด้วยเหตุนี้ “ชาวฮีบรู” จึงต้องทำสงครามกับ “ชาวฟิลิสไตน์” เพื่อแย่งชิงดินแดน “คานาอัน”
—–

• ราว 1,020 ปีก่อนคริสตกาล
ซาอูล (Saul) ผู้นำของชาวฮีบรู ได้ถูกเลือกให้เป็นกษัตริย์พระองค์แรกของชาวฮีบรู
ในช่วงเวลาเดียวกัน เด็กหนุ่มนามว่า “เดวิด” (David) ก็ได้สร้างวีรกรรมในการสังหารแม่ทัพ “โกไลแอธ” (Goliath) ของฟิลิสไตน์ จนเป็นที่เลื่องลือของชาวฮีบรู
—–

• ราว 1,010 ปีก่อนคริสตกาล
ซาอูลสิ้นพระชนม์ ชาวฮีบรูได้เลือกเดวิดเป็นกษัตริย์ สถาปนา “อาณาจักรอิสราเอล” (Kingdom of Israel) โดยมีกรุงเยรูซาเล็ม (Jerusalem) เป็นเมืองหลวง
ชาวฮีบรู เอาชนะชาวฟิลิสไตน์ ได้อย่างเด็ดขาด
—–

• 970 ถึง 931 ปีก่อนคริสตกาล
อาณาจักรอิสราเอลรุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยของกษัตริย์โซโลมอน (Solomon)
มีการก่อสร้าง “มหาวิหารโซโลมอน” (Solomon’s Temple) อันเป็นศาสนสถานที่สำคัญของชาวฮีบรู
—–

• 926 ปีก่อนคริสตกาล
หลังโซโลมอนสิ้นพระชนม์ เกิดความแตกแยกภายในหมู่ชาวฮีบรู จนทำให้อาณาจักรอิสราเอลแตกออกเป็น 2 ส่วน
คือ “อาณาจักรอิสราเอล” เดิม ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ “กรุงซามาเลีย” (Samalia)
กับ “อาณาจักรยูดาห์” หรือยิว (Kingdom of Judah) ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ “นครเยรูซาเล็ม”
—–

• 722 ปีก่อนคริสตกาล
“อาณาจักรอิสราเอล” ล่มสลาย จากการบุกโจมตีของ “จักรวรรดิอัสซีเรีย” ใหม่
—–

• 587 ปีก่อนคริสตกาล
“อาณาจักรยูดาห์” ล่มสลายจากการบุกโจมตีของ “จักรวรรดิบาบิโลน” ใหม่
“มหาวิหารโซโลมอน” ถูกทำลาย ชาวฮีบรูถูกกวาดต้อนไปที่ “กรุงบาบิโลน”
—–

• ราว 530 ปีก่อนคริสตกาล
“จักรวรรดิเปอร์เซีย” ขยายอำนาจและยึดครองบาบิโลน “พระเจ้าไซรัสมหาราช” (Cyrus the Great) กษัตริย์เปอร์เซีย ทรงปลดปล่อยชาวฮีบรูในบาบิโลน ให้เดินทางกลับมายังดินแดนบ้านเกิด
ชาวฮีบรูได้ฟื้นฟูกรุงเยรูซาเล็ม และก่อสร้างมหาวิหารเฮรอด (Herod’s Temple) เพื่อทดแทนมหาวิหารโซโลมอนที่ถูกทำลายไป
—–

• 331 ปีก่อนคริสตกาล
“พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช” (Alexander the Great) แห่ง “จักรวรรดิมาชิโดเนีย” บุกยึดครองอิสราเอล
—–

• 64 ปีก่อนคริสตกาล
“โรมัน” ได้ผนวกอิสราเอลให้เป็นส่วนหนึ่งของโรมันในชื่อ “แคว้นยูเดีย” (Judea) ซึ่งในช่วงเวลานี้เองที่ชาวฮีบรูได้ถูกเรียกโดยโรมันว่า “ชาวยิว”
—–

• ค.ศ. 5 ถึง 30
ช่วงชีวิตของพระเยซู (Jesus) ศาสดาของ “ศาสนาคริสต์” ซึ่งเป็นชาวยิวที่อาศัยอยู่ใน “แคว้นยูเดีย”
—–

• 66-73
ชาวยิวในแคว้นยูเดียก่อกบฏ เพื่อต่อต้านอำนาจของโรมัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กรุงเยรูซาเล็มและมหาวิหารเฮรอดถูกเผาทำลาย ชาวยิวถูกเข่นฆ่าเป็นจำนวนมาก
—–

• 131-135
ชาวยิวพยายามก่อกบฏต่อต้านโรมันอีกครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีก
ในช่วงเวลานี้เองที่ ชาวยิว ได้เริ่มอพยพออกจากแคว้นยูเดีย และเดินทางไปยังดินแดนต่างๆทั่วทั้งทวีปยุโรป
—–

• ศตวรรษที่ 5
“ดินแดนอิสราเอล” ตกอยู่ภายใต้อำนาจของ “จักรวรรดิไบแซนไทน์” มีการปราบปรามชาวยิวครั้งใหญ่
ทำให้ชาวยิวอพยพออกจากอิสราเอลมากยิ่งขึ้น
—–

• ศตวรรษที่ 7
“ดินแดนอิสราเอล” ตกอยู่ภายใต้อำนาจของ “จักรวรรดิอิสลาม” ชาวอาหรับที่นับถือศาสนาอิสลาม เริ่มอพยพเข้าไปอยู่ใน “ดินแดนอิสราเอล”
ซึ่งพวกเขาจะกลายมาเป็น “ชาวปาเลสไตน์” ในเวลาต่อมา “ดินแดนอิสราเอล” เริ่มถูกเรียกชื่อเป็น “ดินแดนปาเลสไตน์”
—–

• ศตวรรษที่ 11 ถึง 13
“นครเยรูซาเล็ม” และ “ดินแดนปาเลสไตน์” ตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของ “สงครามครูเสด”
—–

• 1516
ดินแดนปาเลสไตน์ “ตกอยู่ภายใต้อำนาจของ” จักรวรรดิออตโตมัน”
—–

• ศตวรรษที่ 15 จนถึง 19
ชาวยิวที่กระจัดกระจายทั่วทั้งยุโรป (รวมไปถึงทั่วโลก) ก็ได้ตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก
พวกเขาอยู่อย่างเร่ร่อน ไม่มีหลักแหล่งและเป็นที่รังเกียจของชาวยุโรป (โดยเฉพาะกับชาวคริสต์)
หลังจากที่พวกเขาต้องร่อนเร่ กว่าพันปี นั่นจึงทำให้มีชาวยิวบางกลุ่ม ต้องการที่จะเดินทางกลับมายังดินแดนอิสราเอล (หรือดินแดนปาเลสไตน์) อันเป็นดินแดนที่พวกเขาจากมา
……………………..

ครับ “จบภาค ๑”
พรุ่งนี้ อ่านต่อภาค ๒ และ ๓ อ่านเที่ยวเดียวอาจยังปะติด-ปะต่อในความเป็น “อิสราเอล-ปาเลสไตน์” ในแผ่นดินตรงนั้นไม่ชัด

ตัดเก็บไว้ ค่อยๆ อ่านซัก ๒-๓ เที่ยว ก็จะเข้าใจ ในดินแดนปาเลสไตน์ ทั้ง “อิสลาม-คริสต์-ยูดาห์” มาจากรากเหง้าเดียวกัน

พอตะวันตก “ยุโรป-อังกฤษ-สหรัฐ” เป็นยาดำเข้าแทรก ที่เขาอยู่ร่วมแผ่นดินกันมาแบบดีบ้าง-ทะเลาะบ้าง เป็นพันๆ ปี

คำว่า “สันติภาพ-สันติสุข” ที่ลงตัว

“Infinity” จึงเป็นคำตอบของ “ปาเลสไตน์-อิสราเอล”.

เปลว สีเงิน

๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๖

 

 

 

Written By
More from plew
คำตอบ “ซุกใต้กระโปรงเด็ก” – เปลว สีเงิน
คลิกฟังบทความ…⬇️ เปลว สีเงิน “เยาวชน” ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายมาก เวลามีเรื่องมีราว สังคมก็จะเคร่งครัด จับจ้องการปฎิบัติต่อเยาวชนเป็นกรณีพิเศษ
Read More
0 replies on “อิสราเอล-ปาเลสไตน์ ๑ – เปลว สีเงิน”