วันนวมินทรมหาราช – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

๑๓ ตุลาคม วันนวมินทรมหาราช

เป็นปีที่ ๗ ของวันสวรรคตรัชกาลที่ ๙ แล้วครับ

๗ ปีที่รู้สึกได้ว่าวันสวรรคตเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี่เอง

นั่นคงเพราะพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่แผ่ไพศาล จนปวงพสกนิกรชาวไทยไม่อาจลืมเลือนนั่นเอง

ตลอด ๗๐ ปีแห่งการครองราชย์ มีนายกรัฐมนตรี ๒๖ คน คณะรัฐมนตรี ๔๖ ชุด ประเทศไทยผ่านเรื่องราวต่างๆ มามากมาย

โศก เศร้า สุข ทุกข์ ระคนกันไป

แต่ก็มีเหตุการณ์ทางการเมือง ที่พยายามโยงไปถึงพระเจ้าแผ่นดิน สร้างความคลาดเคลื่อนต่างๆ นานา โดยเฉพาะเหตุการณ์ในเดือนตุลา. ยังคงมีหลายประเด็นที่เข้าใจผิดมาจวบจนวันนี้

นั่นคือคำกล่าวที่ว่า พระเจ้าแผ่นดิน ทรงอยู่เบื้องหลัง

การสร้างความเข้าใจผิดนั้นง่าย กลับกัน การชี้แจงถึงข้อเท็จจริงนั้นกลับยากกว่า เพราะผู้คนบางกลุ่มมิได้สนใจข้อเท็จจริง แต่สนใจสิ่งที่ตัวเองอยากให้เป็นมากกว่า

๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เป็นอีกหนึ่งในเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ที่มีการจงใจดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าอยู่เบื้องหลัง

ย้อนไป เมื่อปี ๒๕๖๐ ในโอกาสครบรอบ ๔๔ ปี เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา มีปาฐกถาพิเศษถ่ายทอดเรื่องราวจากความทรงจำของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการประสานระหว่างราชสำนักและผู้แทนนิสิตนักศึกษาในเหตุการณ์ดังกล่าว

เป็นผู้เชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ มาอ่านต่อผู้ชุมนุมในเวลา ๐๕.๓๐ น.ของวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖

ความทรงจำของ พล.ต.อ.วสิษฐ ถูกบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้รับทราบข้อมูลที่แท้จริง ซึ่งเป็นอีกมุมที่ไม่แพร่หลายมากนัก

ไปดูบางช่วงบางตอนในคำปาฐกถากันครับ….

“…วันที่ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ ผมมีตำแหน่งเป็นนายตำรวจราชสำนักประจำ หน้าที่ของผมไม่ได้เกี่ยวกับการบ้านการเมือง แต่เกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์

แต่ท่านก็คงจะทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นเลี่ยงการเมืองไม่พ้น เพราะเหตุว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของประเทศ และเป็นพระมหากษัตริย์ที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับรัฐบาลจึงเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามปกติ บังคับหลีกเลี่ยงไม่ได้…

…ก่อนวันเกิดเหตุผมไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ หนึ่งสัปดาห์ก่อนเกิดเหตุ พระองค์รับสั่งให้ผมไปเยี่ยมประชาชนในภาคอีสาน ผมไปโดยเครื่องบิน ผมเดินทางกลับมาในวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๑๖ พอมาถึงผมก็รู้ว่ามีการชุมนุมและทำท่าว่าเหตุการณ์จะบานปลาย

ตัวผมพร้อมด้วยนายทหารตำรวจจากในวังจำนวนหนึ่งก็ออกไปดูเหตุการณ์ โดยมีผู้แทนนิสิตนักศึกษาพาไป ในขณะนั้นการชุมนุมเคลื่อนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปจนถึงลานพระราชวังดุสิต หรือลานพระบรมรูปทรงม้า

เมื่อตอนเข้าไปดูก็ยังรู้สึกว่าเหตุการณ์จะไม่หนักหนาอะไร ก็ยังสังเกตว่าผู้ชุมนุมชุมนุมอย่างสงบ จะมีทำให้ไม่สบายใจอยู่บ้างก็เห็นมีนักเรียนอาชีวศึกษา มีไม้บ้าง เหล็กบ้าง วางไว้ข้างๆ ตัว

เมื่อดูเสร็จแล้วผมก็กลับเข้าไปในวังสวนจิตรลดา ตอนเที่ยงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ผมได้รับคำสั่งให้ไปคอยรับผู้แทนของนิสิตนักศึกษาที่จะเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าอยู่หัว ผมเพิ่งรู้ตอนนั้นว่าพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฝ้าฯ

ผมก็ไปคอยรับผู้แทนนิสิตนักศึกษาเหล่านี้ที่ประตูพระวรุณอยู่เจน ผมคอยอยู่ตั้งแต่เที่ยงจนบ่ายสองโมง จึงมีผู้แทนนิสิตนักศึกษาจำนวนหนึ่งมาถึงที่ประตู แต่ปรากฏว่ามายังไม่ครบ ต้องรอจนถึงบ่ายสี่โมงถึงได้มากันครบ แต่ขาดไปคนหนึ่ง ที่ขาดไปคือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

ผมก็นำผู้ที่มาแล้วไปที่ศาลาดุสิดาลัย คอยอยู่จนกระทั่ง ๑๗.๓๐ น. พระเจ้าอยู่หัวจึงได้เสด็จฯ ลง ตอนเสด็จฯ ลงผมไม่ได้อยู่ที่ศาลาดุสิดาลัยด้วย ผมจึงไม่ทราบว่ารับสั่งว่าอะไรบ้าง แต่มารู้ทีหลังว่าเขาเฝ้าฯ กันอยู่จนเกือบสองทุ่มจึงกลับออกมา แต่ระหว่างที่อยู่ในวังกำลังจะออกจากสวนจิตรลดานั้น ผมก็ได้ยินผู้แทนนิสิตนักศึกษาที่อยู่ในวังปรารภขึ้นบอกว่า เราถูกหักหลังเสียแล้ว…

…มีคนไปกระซิบบอกผู้แทนนิสิตนักศึกษาข้างนอกว่า ‘ม่องหมดแล้วพวกในวัง’

เพราะข่าวนี้เองทำให้คนที่ชุมนุมกันอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเคลื่อนมาที่หน้าประตูพระวรุณอยู่เจนที่สวนจิตรลดา เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่คนจำนวนแสนมาชุมนุมกันอยู่ที่หน้าวัง….

….เมื่อขอร้องให้ผู้แทนนิสิตไปชี้แจง ผู้แทนนิสิตบอกว่าเดี๋ยวเขาไม่เชื่อ อยากได้คนในวังไปด้วย ตอนนั้นคนในวังที่เป็นผู้ใหญ่มี ๓ คน คนหนึ่งคือหม่อมราชวงศ์ทองน้อย ทองใหญ่ อีกคนคือพันเอกเทียนชัย จั่นมุกดา (ยศในเวลานั้น) แล้วก็มีผม

เราก็ถามว่ามี ๓ คน เลือกเอาว่าจะเอาใครไป

คุณเสกสรรค์ชี้ว่าเอาพี่ ก็คือผม ที่เอาผมก็เพราะผมเคยเป็นนิสิตจุฬาฯ และผมเขียนหนังสือขาย เป็นดาราทีวีด้วย เขาขอให้ผมไป ผมก็ยอม แต่ผมเห็นว่าอยู่ระหว่างหน้าสิ่วหน้าขวาน ข้างนอกวังมีแต่คนชุมนุมซึ่งมองตำรวจอย่างเป็นปฏิปักษ์ ถ้าผมออกไปอย่างตำรวจ ดีไม่ดีผมอาจไม่ได้กลับเข้ามาก็ได้

ผมก็ทิ้งปืน ทิ้งวิทยุไว้ในวัง ออกไปแต่ตัว คนที่พาผมออกไปยังที่ชุมนุมก็คืออาจารย์สมบัติ ธํารงธัญวงศ์

เวทีที่ใช้ปราศรัยหน้าวังเป็นรถสองแถวคันไม่ใหญ่นัก ใช้หลังคาเป็นที่ยืนพูด ผมก็ปีนขึ้นไปบนหลังคารถกับอาจารย์สมบัติ พูดผ่านเครื่องขยายเสียง ผมก็อัญเชิญพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวที่สำนักพระราชวังเขาบันทึกไว้ แล้วขึ้นไปอ่านให้ที่ชุมนุมฟัง

ผมก็ขึ้นไปอ่านพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัว รายละเอียดเรื่องทั้งหมดอยู่ในหนังสือชื่อ เหตุเกิดในกรุงรัตนโกสินทร์ พิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ.๒๕๑๖

ผมก็อ่านสำเนาพระราชดำรัสและแถมท้ายว่า เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งแบบนี้ เหตุการณ์ยุติลงแล้ว ผมเห็นว่าพวกเราสมควรยุติการชุมนุมและกลับบ้านกันได้

ผมบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวของท่านทั้งหลายไม่ได้บรรทมมา ๗ วัน ๗ คืนแล้ว เพราะเป็นห่วง รอฟังสถานการณ์บ้านเมือง พอผมพูดจบ ที่ประชุมก็ปรบมือกัน ใครก็ไม่ทราบเป็นต้นเสียงให้ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีพร้อมๆ กัน คนแสนคนร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีดังกระหึ่มหันหน้าไปทางพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ผมคุกเข่าลงร้องไห้ด้วยความปีติ

จากความปีติอยู่ได้ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง ผมกำลังปีนกลับลงจากหลังคารถสองแถว ได้ยินเสียงระเบิดตูมขึ้นทีหนึ่ง ปรากฏว่าเป็นนักเรียนอาชีวะคนหนึ่งพกระเบิดขวดในกระเป๋าแล้วระเบิดโดยอุบัติเหตุ ทีแรกได้ยินเสียงระเบิดก็ใจหายเลย นึกว่าจะเป็นสมรภูมิที่หน้าวัง แต่พอรู้ว่าเป็นแค่นั้นก็คิดว่าคงไม่มีอะไรมากกว่านั้น

แต่ต่อมาอีกสักประเดี๋ยวเดียวก็ได้ยินเสียงตูม ตูม คราวนี้ไม่ใช่ระเบิดขวด แต่เป็นเสียงระเบิดแก๊สน้ำตา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตอนผู้ชุมนุมกำลังจะกลับโดยแยกย้ายกันเดินออกไปทุกทิศ

ผู้ที่ประสบเหตุปะทะกับตำรวจนั้นคือผู้ที่เดินกลับจากวังไปทางถนนราชวิถี…

…พอเกิดการตีกันขึ้น ก็เกิดข่าวปากต่อปากแจ้งว่าตำรวจฆ่านิสิตนักศึกษาที่หน้าวัง เท่านั้นเองการจลาจลก็กระจายออกไปทั่วกรุงเทพฯ นี่คือที่มาของมหาวิปโยคที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖

การปะทะกันที่หน้าสวนจิตรลดาเป็นไปอย่างรุนแรง มีนิสิตนักศึกษาจำนวนหนึ่งวิ่งมาที่ประตูวังและขอให้เปิดประตูรับ แต่นายทหารไม่กล้าเปิด

ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้เปิดประตูเข้ามา นิสิตนักศึกษาที่ทะลักเข้ามาในวังมีประมาณ ๒,๐๐๐ คน ผมก็ยืนรับอยู่ที่นั่น บางคนเข้ามาถึงก็มาต่อว่าผม ว่าหลอกให้ไปถูกตี ผมบอกว่าไม่รู้เรื่องเลย ผมก็อยู่กับพวกคุณนี่แหละ

พอพระองค์ทรงทราบว่านิสิตนักศึกษาเข้ามาแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมพระราชินีนาถ ก็ทรงมาเยี่ยมคนที่เข้าไปในวัง…

…ในที่สุดการจลาจลดำเนินไปจนถึงรุ่งเช้าจึงค่อยๆ ซาลง

ด้วยสาเหตุว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์ สถานีวิทยุโทรทัศน์เอาเครื่องเข้าไปในวังเลย โดยพระองค์ชี้แจงให้คนฟังทราบว่าเหตุการณ์ยุติแล้ว

คนที่ดูรายการโทรทัศน์วันนั้นจะเห็นว่าพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเศร้าหมองอย่างที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน ผมเพิ่งเข้าไปอยู่ในวังได้ ๓ ปี ไม่เคยเห็นพระพักตร์ของพระองค์เศร้าแบบนี้มาก่อน

หลังจากที่รับสั่งแล้ว ผู้ที่ได้พูดกับประชาชนต่อมาคือสมเด็จพระบรมราชชนนี (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ผมเชื่อว่าการออกโทรทัศน์ของพระองค์เอง ทำให้สถานการณ์คลี่คลายสงบลงในที่สุด ยังเหลืออยู่บ้างเล็กๆ น้อยๆ ในเช้าวันที่ ๑๕ ตุลาคม….”

ครับ…นี่คือความจริงจาก พล.ต.อ.วสิษฐ ผู้ล่วงลับ ซึ่งเป็นบุคคลที่สุจริตตลอดชีวิตการทำงาน จนได้รับการยอมรับจากสังคมโดยรวม

หากคนรุ่นใหม่น้ำไม่เต็มแก้ว นี่คือข้อมูลที่ควรศึกษา

Written By
More from pp
คปภ. ออกเพิ่มอีก 3 มาตรการช่วยเหลือด้านประกันภัยให้กับประชาชนผู้เดือดร้อนอย่างเร่งด่วน กรณีเพลิงไหม้โรงงานพลาสติก ย่านบางพลี
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีถังเก็บสารเคมีระเบิดภายใน บริษัท หมิงตี้ เคมิคอล จำกัด...
Read More
0 replies on “วันนวมินทรมหาราช – ผักกาดหอม”