ภาวะทุพโภชนาการคร่าชีวิตประชากรโลกปีละเป็นจำนวนมาก การวิเคราะห์ภาวะโภชนาการทั้งในระดับบุคคล หรือประชากร มีผลสำคัญต่อการดูแลสุขภาพ รวมไปถึงการกำหนดนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศ
การตรวจวิเคราะห์ระดับของสารอาหารรอง ได้แก่ วิตามิน แร่ธาตุ และ “ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ” (Biomarker) เช่น ปริมาณโปรตีนที่สำคัญบางชนิดในร่างกาย สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดภาวะโภชนาการ การทำงานของร่างกาย และสุขภาพได้ ห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจวิเคราะห์สารดังกล่าวจึงจำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน
46 ปีที่สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” ยืนหยัดดูแลภาวะโภชนาการของประชาชนชาวไทย และประชากรโลก ด้วยบุคลากรที่มีทักษะและประสบการณ์ในการตรวจวิเคราะห์สารอาหารต่างๆ ด้วยห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ
รองศาสตราจารย์ ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึง ก้าวสำคัญของสถาบันฯ ในการเป็นผู้นำห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์สารอาหารและสารสำคัญต่างๆ ในร่างกายระดับภูมิภาค โดยได้ขยายเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยระดับโลก เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) สู่การเป็นศูนย์กลางตรวจวิเคราะห์ดังกล่าวในระดับภูมิภาค
ตลอดจนเป็น “พี่เลี้ยง” จัดอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำ และรายได้ปานกลาง ผ่าน “หน่วยวิจัยและฝึกอบรมร่วม มหาวิทยาลัยมหิดล – มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด” (Harvard University and Mahidol University Research and Training Unit)
การที่ภูมิภาคอาเซียนมีห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ที่ก้าวหน้าอยู่ที่ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จะช่วยเพิ่มความคล่องตัว และช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาที่ต้องใช้ในการส่งตัวอย่างไกลถึงยุโรป หรืออเมริกา
ปัจจุบัน หน่วยวิจัยและฝึกอบรมร่วม มหาวิทยาลัยมหิดล – มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University and Mahidol University Research and Training Unit) ดำเนินการพัฒนาเทคนิควิธีการวิเคราะห์ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญได้ถึง 10 กลุ่มตัวอย่าง อาทิ ปริมาณไอโอดีนในปัสสาวะ วิตามินบี12 วิตามินดี วิตามินอี โฟเลต ซีเลเนียมในเลือด เป็นต้น ให้สามารถวิเคราะห์ได้ครั้งละจำนวนมาก ด้วยความรวดเร็ว โดยมีต้นทุนที่ต่ำลง
การพัฒนาวิธีวิเคราะห์ ยังรวมถึงการเตรียมตัวอย่างในรูปหยดเลือด หรือปัสสาวะแห้งบนแผ่นกระดาษ ซึ่งจะทำให้สามารถเก็บ และส่งตัวอย่างตรวจได้สะดวกตอบโจทย์สู่วิธีการทำให้เกิดความคุ้มค่าต่อการส่งตัวอย่างจำนวนมากจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
ก้าวต่อไป สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เตรียมร่วมกับนักวิจัยเครือข่าย ถ่ายทอดประสบการณ์ และเทคนิคการตรวจวิเคราะห์ เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการให้ขยายผลออกไปในวงกว้าง โดยจัดทำเป็นชุดบทความ เพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติภายในปีหน้า
ซึ่งการจะทำให้ หน่วยวิจัยและฝึกอบรมร่วม มหาวิทยาลัยมหิดล – มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University and Mahidol University Research and Training Unit) ที่กำลังอยู่ระหว่างเตรียมพร้อมขยายศักยภาพ ก้าวสู่ความเป็นเลิศ และเกิดความยั่งยืน รองศาสตราจารย์ ดร.ชลัท ศานติวรางคณา มองว่าสำคัญที่การสร้าง “จุดแข็ง” ด้วยการสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งทั้งภายในและภายนอกประเทศมารองรับ จนมีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็น “แกนกลาง” (Core) หรือฟันเฟืองหลักของภูมิภาค และของโลกได้ต่อไปในที่สุด
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ www.mahidol.ac.th