เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 เวลา 13.00 น. นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig board) ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายบุญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ผู้แทนจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุม 123 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบโครงการรักษาเสถียรภาพราคาสุกร
ซึ่งเห็นควรจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลราคาสุกรอย่างจริงจัง และเห็นชอบโครงการชดเชยดอกเบี้ยเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ปี 2566 รวมถึงเสนอให้มีการต่อยอดระบบฐานข้อมูล Big Dataด้านปศุสัตว์ โดยขยายขอบเขตการใช้งานสู่สาธารณะเพื่อเป็นแพลตฟอร์มสำหรับผู้เลี้ยงสุกรในไทยสามารถใช้งานร่วมกันได้ทั้งระบบ และแนวทางกำหนดราคาขายสุกรมีชีวิต ตามโครงสร้างต้นทุนการผลิต ซึ่งจะหาแนวทางร่วมกันเพื่อประโยชน์สูงสุดของเกษตรกรต่อไป
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯยังได้มอบแนวทางสำหรับการขับเคลื่อนการรักษาเสถียรภาพราคาสุกรตามนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ประกอบไปด้วย 7 แนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
1) จัดทำ Big data ของอุตสาหกรรมการผลิตสุกร เช่นข้อมูลฟาร์ม/โรงฆ่า/จำนวนสุกร การขึ้นทะเบียนผู้เลี้ยง/พ่อค้าคนกลาง เป็นต้น 2) ดำเนินการปราบปรามสุกรเถื่อนทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง ทั้งการนำเข้า/ห้องเย็น/สถานที่จำหน่าย3)การขับเคลื่อนและผลักดันการส่งออกสุกรมีชีวิต ซากสุกร และอื่นๆ เพื่อระบายสุกรส่วนเกินออกจากระบบ
4) วิเคราะห์ข้อมูลและปรับสมดุลการผลิต ให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภค โดยยึดหลักตลาดนำการผลิต 5) การส่งเสริมการแปรรูป ดึงปริมาณเนื้อสุกรออกจากตลาด มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ 6) การรณรงค์และประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นการบริโภคผลผลิตจากสุกร และ 7) การจัดตั้งกองทุนพัฒนาสุกร เพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการผลิตสุกร
“มาตรการทำลายซากสุกรเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องเกษตรกร และผู้ประกอบการทุกภาคส่วน ซึ่งสังคมกำลังจับตามองอยู่ ต้องเข้มงวด และไม่ให้เกิดการเล็ดลอดออกสู่ตลาด โดยที่ผ่านมามีผลการดำเนินการยังคับใช้กฎหมายในการลักลอบนำเข้าซากสุกรเข้าราชอาณาจักร ประจำปีงบประมาณ 2565 – 2566 รวมทั้งหมด 238 ครั้ง มีการทำลายของกลางไปแล้วทั้งสิ้น 1,049,860 กิโลกรัม อยู่ระหว่างรอทำลาย ดำเนินคดี และรอคำสั่งศาล จำนวน 92,627 กิโลกรัม รวมซากของกลางทั้งหมด 1,142,487 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 190,426,840 บาท” รมช. ไชยา กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์การผลิตการตลาดสุกรในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) สถานการณ์การผลิตการตลาดสุกรของโลกโดยผลผลิตเนื้อสุกรอยู่ที่ 114.759 ล้านตัน ซึ่งมีการปรับเพิ่มจากที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจาก จีน แคนาดา และบราซิล มีการผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และเม็กซิโก มีการผลิตลดลง และ
2) สถานการณ์การผลิตการตลาดสุกรของไทย จากผลการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์การผลิต และการตลาดสุกรครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการทบทวนศักยภาพการผลิตสุกรในปัจจุบันภายหลังการฟื้นตัวจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) โดยเกษตรกรใช้สายพันธุ์สุกรที่ดีมีการป้องกันทางชีวภาพที่ดีขึ้น เพื่อให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค
คาดว่าผลผลิตสุกรออกสู่ตลาด ในปี 2566 อยู่ที่ 19.73 ล้านตัว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 25% ในส่วนผลผลิตของสุกรของเดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ที่ 1.81 ล้านตัว ซึ่งเป็นปริมาณที่มากที่สุดตั้งแต่มกราคม 2564 และช่วงปี 2566 มีสุกรเข้าฆ่าเฉลี่ย เดือนละ 1.61 ล้านตัว โดยเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตและราคาสุกรมีชีวิตในปี 2566 เกษตรกร มีต้นทุนการผลิต 92.77 บาท/กิโลกรัม และมีรายได้จากการจำหน่าย 79.48 บาท/กิโลกรัม
เนื่องจากการผลิตเพิ่งฟื้นตัวจาก ASF และยังคงมีปัญหาต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์แพง รวมถึงที่ประชุมมีการรับทราบความก้าวหน้าการป้องกัน ปราบปรามการลักลอบการนำเข้าเนื้อและเครื่องในสุกรที่ผิดกฎหมายโดยมีการสร้างความเข้าใจขั้นตอนการนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ที่ถูกต้อง และการตรวจสินค้าปศุสัตว์ของเจ้าหน้าที่
ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนปรามปราบการลักลอบเนื้อสุกรให้กับผู้ประกอบการห้องเย็นตลอดจนเพิ่มการตั้งด่านสกัดตรวจสินค้านำเข้าตามแนวชายแดน ด่านกักกันสัตว์ท่าเรือ ท่าอากาศยานอย่างเข้มงวด และมีมาตรการป้องกันการลับลอบเคลื่อนย้ายสัตว์-ซากสัตว์ในประเทศ 47 จุดและจัดมาตรการป้องกันการซื้อขายสุกรเถื่อนบนสื่อสังคมอิเล็กทรอนิกส์ด้วย