สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ หรือ สทบ.ร่วมมือกับกรมบัญชีกลาง และ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ชูโครงการ “ถุงเงินประชารัฐ” แบบ One Stop Service ในการขับเคลื่อนร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง พร้อมจัดกิจกรรมและประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ร้านค้าประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองได้ใช้แอปพลิเคชั่น “ถุงเงินประชารัฐ” ภายใต้แนวคิด “ร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รายได้สู่ชุมชน พัฒนาอย่างยั่งยืน”นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองตามแนวทาง ประชารัฐเป็นมาตรการที่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อเนื่อง โดยให้ชุมชนเป็นผู้กำหนดอนาคตและจัดการหมู่บ้านและชุมชนด้วยคุณค่า และภูมิปัญญาของตนเอง โดยคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม อีกทั้งยังเป็นแหล่งพัฒนาองค์ความรู้ คุณภาพชีวิต และสวัสดิการของสมาชิกในชุมชน ซึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนหรือเศรษฐกิจฐานรากของประเทศนับเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ซึ่งเป็นการส่งเสริมสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน การกำหนดนโยบายและการดำเนินงานของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.)ตลอด 19 ปี มีการดำเนินโครงการมากมาย เพื่อให้สมาชิกกองทุนฯ และชุมชนมีความแข็งแกร่ง โดยล่าสุดทาง สทบ. ได้ร่วมกับกรมบัญชีกลาง และธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ขับเคลื่อนโครงการ “ถุงเงินประชารัฐ” แบบ One Stop Service เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองต่อเนื่อง
“สำหรับโครงการร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เป็นหนึ่งในโครงการที่รัฐบาลให้การสนับสนุนและให้งบประมาณในการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการซื้อ-ขายสินค้า และเป็นการลดรายจ่ายของประชาชนในชุมชน ซึ่งการดำเนินงานของร้านค้าประชารัฐกองทุนฯ จากการสอบถามและติดตามทำให้ทราบว่ากองทุนบางแห่งทำยอดขายได้ถึง 20 ล้านบาท บางกองทุนได้ 1 ล้านบาท และบางกองทุนก็มีรายได้หลักแสนบาท แต่ทุกกองทุนเป็นหัวใจสำคัญของชุมชน โดยที่เราไม่ต้องไปพึ่งเครือข่ายร้านค้าอื่นๆ ทั้งนี้มีโจทย์ที่จะทำอย่างไรให้ประชาชนที่ได้รับสวัสดิการแห่งรัฐ มีความสะดวกในการซื้อสินค้าจากร้านค้าประชารัฐกองทุนฯ ที่ผ่านมาเราใช้เครื่องชำระเงินฯ หรือ EDC และในวันนี้ได้นำแอปพลิเคชั่น “ถุงเงินประชารัฐ” เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนและร้านค้า ได้มีช่องทางในการชำระเงินในพื้นที่ของแต่ละชุมชน นอกจากนี้อีกหนึ่งโจทย์ที่ทาง สทบ. เตรียมดำเนินการก็คือ การนำเครือข่ายร้านค้าประชารัฐกองทุนฯ ที่มีราว 20,000 ร้านค้า ในการเข้าไปต่อรองราคาสินค้าที่จะนำมาจำหน่ายให้กับประชาชนในชุมชนจากผู้ผลิตโดยตรง ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ เพื่อจะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น รวมทั้งยังจะทำให้ร้านค้าประชารัฐกองทุนฯ เป็นศูนย์กลางการจำหน่ายสินค้าประจำถิ่น ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นแผนการดำเนินงานต่อหลังจากนี้ อย่างไรก็ตามผมเชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้เข้มแข็งอย่างแท้จริง” นายกอบศักดิ์ กล่าว
สำหรับการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ในวันที่ 30 มกราคม2563 ซึ่งเป็นการครั้งที่ 5 เป็นการจัดงานเพื่อให้ร้านค้าประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองได้ใช้แอพพลิเคชั่น “ถุงเงินประชารัฐ” แบบ One Stop Service โดยมีผู้แทนร้านค้าประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองร่วมประชุมจำนวน 600 ร้านค้า โดยการจัดกิจกรรมมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงานการขับเคลื่อนการดำเนินงานร้านค้าประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมถึงการสร้างเครือข่ายร้านค้าประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองและแนวทางการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายร้านค้าประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และเพื่อให้ร้านค้าประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองสามารถเข้าร่วมโครงการประชารัฐสวัสดิการของรัฐบาล พร้อมติดตั้งแอพพลิเคชั่น “ถุงเงินประชารัฐ” แบบ One Stop Serviceเพื่อให้ความช่วยเหลือกับมีรายได้น้อยผ่าน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ภายใต้โครงการธงฟ้าประชารัฐรวมถึงโครงการร้านค้าประชารัฐเคลื่อนที่ของกองทุนหมู่บ้านฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(สทบ.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานของ สทบ.ทางรัฐบาลให้ความสำคัญกับการดำเนินงานของร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งปัจจุบันมีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ดำเนินโครงการร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่ออุปโภคบริโภคจำนวน 17,275 โครงการ เพื่อการเกษตรจำนวน 12,144 โครงการ และโครงการร้านค้าอื่นๆ อีกประมาณ 702 โครงการ ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(สทบ.) ได้สนับสนุนการขับเคลื่อนร้านค้าประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านฯ ในหลายด้าน อาทิ การสนับสนุนทุนให้ร้านค้าเพื่อจำหน่ายสินค้าให้กับประชาชน การจัดอบรมให้ความรู้และส่งเสริมด้านศักยภาพร้านค้า พร้อมการสนับสนุนเครื่องชำระเงินฯ หรือ EDC ให้กับร้านค้าประชารัฐกองทุนฯ กว่า 4,000 ร้านค้า เป็นต้น
“แอปพลิเคชัน “ถุงเงินประชารัฐ” เป็นการพัฒนาของ บมจ.ธนาคารกรุงไทยที่ใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อรับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากเดิมที่ใช้จ่ายซื้อสินค้าที่มีเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) เท่านั้นวันนี้ทาง สทบ. ได้นำแอปพลิเคชั่น “ถุงเงินประชารัฐ” มาให้ร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านฯ เพื่อให้นำไปใช้ในการชำระค่าสินค้า เพิ่มความสะดวกให้ร้านค้าและผู้ซื้อสินค้า ภายใต้แนวคิด “ร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รายได้สู่ชุมชน พัฒนาอย่างยั่งยืน” ทั้งนี้การใช้แอปพลิเคชั่นนี้จะเปิดให้ทั้งร้านค้าประชารัฐกองทุนฯ ทั้งที่ยังไม่ได้รับเครื่องชำระเงินฯ และที่เคยได้รับเครื่องชำระเงินฯ สามารถลงทะเบียนในการใช้บริการชำระเงินทางแอปพลิเคชั่นได้ ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานของร้านค้าประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านฯ ได้สร้างประโยชน์ให้กับชุมชน ก่อให้เกิดมีสวัสดิการในชุมชน สมาชิก กทบ. มีงาน มีอาชีพ มีรายได้และสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศได้มากยิ่งขึ้น” นายนที กล่าวเสริมตอนท้าย
ทั้งนี้เชื่อมั่นว่า “ถุงเงินประชารัฐ” จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับร้านค้าประชารัฐ กทบ. และตอบโจทย์การใช้งาน พร้อมเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน เป็นกลไกสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากตามความมุ่งหวังของรัฐบาลอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
ขั้นตอนการรับสมัครร้านค้าประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อทาการติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงินประชารัฐ”
เอกสารที่ร้านค้าจะต้องจัดเตรียมสำหรับการสมัครติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงินประชารัฐ”
กรณีนิติบุคคล
1) แบบฟอร์มการสมัคร
2) บัตรประจำตัวประชาชนผู้สมัคร
3) สำเนาหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนนิติบุคคล
4) สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย ประเภทออมทรัพย์หรือกระแสรายวัน ขอให้กองทุนปรับสมุดบัญชีเงินฝาก (Update Book) ให้เป็นปัจจุบัน
5) สำเนาบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน/ชุมชนเมือง
6) รูปถ่ายสถานที่ตั้งร้าน จำนวน 1 รูป พร้อมแผนที่ประกอบ
กรณีบุคคลธรรมดา (รวมถึงรถเร่)
1) แบบฟอร์มการสมัคร
2) บัตรประจำตัวประชาชนผู้สมัคร
3) สำเนาทะเบียนรถ (กรณีรถเร่)
4) สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย ประเภทออมทรัพย์หรือกระแสรายวัน ขอให้กองทุนปรับสมุดบัญชีเงินฝาก (Update Book) ให้เป็นปัจจุบัน
5) รูปถ่ายสถานที่ตั้งร้าน จำนวน 1 รูป พร้อมแผนที่ประกอบ กรณีรถเร่ใช้รูปถ่ายรถเร่ จำนวน 1 รูป
เอกสารหลักฐานประกอบการเปิดบัญชี ถุงเงินประชารัฐ
1.สำเนาหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของกองทุนหมู่บ้านฯ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือสำนักงานพัฒนาชุมชน หรือสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องลงนามรับรองความถูกต้องไว้ ไม่เกินกว่า 6 เดือน
หากการออกเอกสารหรือการรับรองนั้นกระทำ ไว้เกินกว่า 6 เดือน ธนาคารจะตรวจสอบจากรายชื่อกองทุนหมู่บ้าน/ชุมชนเมือง ตาม Excel File ที่ สทบ.ส่งมาให้กับธนาคาร ซึ่งกองทุนหมู่บ้านฯ ต้องมีรายชื่อปรากฎใน Excel File หากไม่มีรายชื่อดังกล่าว กองทุนหมู่บ้านต้องนำหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนฯ ไปให้ สทบ.รับรอง
2. บัญชีรายชื่อคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน/ชุมชนเมือง (ชุดปัจจุบัน) จะต้องมีรายชื่อกรรมการหมู่บ้านฯ ไม่น้อยกว่า 9 คน ซึ่งจะต้องลงนามรับรองด้วยตัวอักษรบรรจง (ห้ามลงนามรับรองเป็นลายเช็น) จากสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ,สทบ.ศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด, หรือประธานเครือข่ายตำบล
3. ระเบียบหรือข้อบังคับของกองทุนหมู่บ้าน/ชุมชนเมือง
4. แบบบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน/ชุมชนเมือง และรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน/ชุมชนเมือง ไม่เกิน 6 เดือน ตามแบบฟอร์มที่แนบ (ต้องกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มให้ครบทุกหัวข้อ)
5. บัตรประจำตัวประชาชน และทะเบียนบ้านของบุคคล ดังต่อไปนี้
5.1 ประธานกองทุนหมู่บ้าน/ชุมชนเมือง
5.2 คณะผู้รับผิดชอบการเบิกจ่ายเงิน และการจัดทำบัญชี
5.3 ผู้มีอำนาจลงนามแทนนิติบุคคลทุกราย (กรรมการฯทุกคน)