คลิกฟังบทความ..⬇️
เปลว สีเงิน
บันทึกไว้เลย
พุธ ๑๓ กันยา.๖๖ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ ปีเถาะ
เข็มนาฬิกา “รัฐบาลเศรษฐา” ในระบบราชการ
กระดิก นับ ๑ เดินนนน!
ประชุมครม.นัดแรก “ทำทันที” ตามสัญญาเพื่อไทย ก็กระจุ๋มกระจิ๋มออกมาตามนั้น
ลดค่าไฟ ค่าดีเซล พอขำๆ ส่วนประเด็นน่าคุย มีซัก ๒-๓ ประเด็น เช่น
-แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ยึดเอาแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ โดยใช้ “เวทีรัฐสภา” หารือรูปแบบ-แนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วม “ออกแบบกฎกติกา” ที่เป็นประชาธิปไตยร่วมกัน
-ให้เปลี่ยนการจ่ายเงินข้าราชการจากเดือนละ ๑ รอบ เป็นเดือนละ ๒ รอบ คาดว่าจะเริ่มใช้ ๑ ม.ค.๖๗ เป็นต้นไป
เอาเรื่องเหี้ยนกระหือรือ เขียนรัฐธรรรมนูญ “ฉบับทักษิณาธิปไตย” กันก่อน
มติครม.เศรษฐา มอบ “นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ เป็น “แม่งานใหญ่”
ที่อยากรู้กันมาก แก้เพื่อเขียนใหม่ไปในแนวทางไหน?
ทำทั้งหมดในรัฐสภา โดยสส.-สว.เพื่อไม่ต้องเปลืองงบประมาณต่างหากโดยใช่เหตุ
หรือตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เปิดช่องให้คน “คอส้ม-คอแดง” เข้ามาเขียนตามแนวปฎิรูปคือปฎิวัติ ชนิด “ขุดรากถอนโคน”
ซึ่งใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า ๓ หมื่นล้านบาท ภายในระยะเวลาประมาณ ๓ ปี
ตามพิมพ์เขียว “เปลี่ยนประเทศ” ในแผนอำพรางผ่านรัฐธรรมนูญ “ฉบับทักษิณาธิปไตย”!
มติครม.เมื่อวาน มีออกมาว่า…….
“ให้ยึดแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญ” เป็นสำคัญ
“เป็นมวย” แฮะ!
เพราะถ้าจำกันได้ ในสมัยที่แล้ว การประชุมรัฐสภา เมื่อ ๙ กุมภา.๖๔
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐและนายสมชาย แสวงการ ส.ว.
เสนอรัฐสภาขอมติ ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ
เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ของสมาชิกรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๕๖(๑)
ประธานรัฐสภาชวน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย และศาลฯรับไว้พิจารณา พร้อมให้ผู้เกี่ยวข้อง คือ
-นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
-นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
-นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และ
-นายอุดม รัฐอมฤต อดีต กรธ.
ทำความเห็นเป็นหนังสือต่อกรณีปัญหาดังกล่าว เสนอศาลฯเพื่อนำไปประกอบการวินิจฉัย
และศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า
“รัฐสภา มีอำนาจหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชน ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ได้ลงประชามติเสียก่อน
ว่าประชาชน ประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่?
และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว
ต้องให้ประชาชน “ลงประชามติ” เห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”
นี่ เส้นทางเดินไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญ “ฉบับทักษิณาธิปไตย” ก็ต้องยึดตามขั้นตอนนี้
ก็จะเห็นว่า ศาลฯระบุเพียง “รัฐสภามีอำนาจหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้”
แต่ไม่ได้บอกว่า…
“ให้จัดทำโดยรัฐสภา” หรือ ตั้งสสร.จัดทำก็ได้หรือไม่ได้?
เพียงบอก ให้ต้องทำประชามติ ถามความต้องการประชาชนก่อนเท่านั้นว่า ต้องการมี หรือไม่ต้องการ
ตรงนี้ ครม.จึงให้ตั้ง “คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ” ขึ้น
และให้ทำในรัฐสภา หมายถึง “สส.-สว.” ๗๕๐ คน ต้องหารือตกลงกันใน ๒ ประเด็น
ประเด็นแรก เรื่องทำประชามติ ถามประชาชนก่อนว่า
“ต้องการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มั้ย?”
ประเด็นที่สอง สมมติว่า มติส่วนใหญ่ ต้องการให้มี
ที่ประชุมรัฐสภา ก็ต้องหารือตกลงกัน
จะเอารูปแบบ-แนวทางไหน ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ก.จัดทำกันเองในรัฐสภา หรือ
ข.ตั้งสสร.เขียนแทน?
สมมติ รัฐสภามีมติให้ตั้งสสร.เขียน ก็ร่าง “กฎ-กติกา” การได้มาซึ่งสสร.จากนั้น ก็ให้เขาเขียนกันไป
เรา-ชาวบ้าน ก็มีหน้าที่ก้มหน้า-ก้มตาเสียภาษีให้เขาเอาไปกิน-ไปนอนร่างกัน ไม่หนี ๒-๓ หมื่นล้านบาท
สมมติสสร.เขียนเสร็จแล้ว ก็ต้องนำร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับทักษิณาธิปไตย” นี้ ไปทำประชามติอีก
คือ เผยแพร่ให้ประชาชนอ่านทั่วๆ กัน อ่านแล้วถูกใจ-พอใจ หรือไม่ถูกใจ-ไม่พอใจ ก็ให้ปรชาชน “ลงประชามติ”
ว่า….จะเอาหรือไม่เอา?
นี่คือเส้นทาง, วิธีการไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญ “ฉบับทักษิณาธิปไตย” เพื่อนำมาใช้แทน รัฐธรรมนูญ “ฉบับปราบโกง” ณ ปัจจุบัน
ประเด็นที่อยากรู้กันมาก ว่าจะแก้ไขคือเขียนใหม่ในรัฐสภาหรือจะตั้งสสร.ขึ้นมาเขียน คำตอบก็เป็นดังนี้
จะให้ตั้งสสร.ผลาญอีก ๒-๓ หมื่นล้าน เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญ “ฉบับทักษิณาธิปไตย” หรือไม่?
คำตอบ จึงอยู่ที่ใจ สส.๕๐๐ และสว.๒๕๐ คนนั่นแล!
ทีนี้ มาถึงเรื่อง…….
ครม.เศรษฐา จะเปลี่ยนการจ่ายเงินข้าราชการจากเดือนละ ๑ รอบ เป็นเดือนละ ๒ รอบ ตั้งแต่ ๑ มค.๖๗ เป็นต้นไป
ผมไม่เคยอยู่ในระบบราชการ จึงไม่ทราบวงจร “ชีวิตเงิน-ชีวิตงาน” ของข้าราชการ
ทราบแต่ว่า “เงินเดือน” คือเงินที่ข้าราชการจะได้รับตอบแทนการทำงาน ตอนสิ้นเดือน เดือนละครั้ง
เมื่อต้องคุย…….
ก็จะใช้ประสบการณ์ “เสี่ยใหญ่ไทยโพสต์” ที่ต้องจ่ายเงินเดือนพนักงาน จนพอรู้ “วงจร” การใช้เงินของมนุษย์เงินเดือน
เข้าใจว่า คงไม่ต่างวงจรกันเท่าซักเท่าไหร่
จะต่างก็ตรง บริษัทที่มีคนไม่เกิน ๒๐๐ ซึ่งไม่ยาก แต่กับข้าราชการและคนในระบบราชการ ที่มีมากระดับ ๒-๓ ล้านคนนี่
การจะเปลี่ยนจาก “สิ้นเดือน-เงินเดือนออก” ที่ใช้กันมานานเป็นร้อยๆ ปี จนเป็น “วงจรชีวิต” ข้าราชการ เป็น “๑๕ วันครั้ง” ในหนึ่งเดือน นั้น
คนสั่ง “สั่งง่าย”
แต่คนทำใน “ระบบเงิน-ระบบบัญชี” พูดได้คำเดียว “ยุ่งตายห่ะ”!
ต้องเข้าใจว่า เงินแต่ละก้อนที่ใช้แต่ละกรณีในแต่ละเดือนนั้น มันมี”เทอม”ที่มา-ที่ไปของมัน
และมันมี “ต้นทุนที่ต้องจ่าย” เหมือนเพื่อไทยพูดนั่นแหละว่า “การตั้งรัฐบาลข้ามสายพันธุ์ มันเป็นต้นทุนที่ต้องจ่าย”!
กว่าค่อนของงบประมาณแต่ละปี จะเป็นเงินเดือน เงินก้อนนี้ มีเทอมจ่ายตอน “สิ้นเดือน” แต่ละเดือน
เมื่อเขยิบมาจ่าย ๑๕ วันครั้ง เขยื้อนทั้งระบบประเทศเลยหละ!
ที่เศรษฐาบอก เพื่อไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน ระหว่างรอสิ้นเดือน ก็เข้าใจว่าเจตนาดี
แต่อย่าลืม ไม่ว่าพนักงานเอกชน ไม่ว่าข้าราชการ ทุกวันนี้ พูดได้เลย ๕๐-๖๐%ขึ้นไป เป็น “มนุษย์เงินผ่อน”
เงินเดือนออกปุ๊บ ไม่ได้รับเต็มหรอก ถูกหักค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนแบงค์ เผลอๆ บางคนที่เบี้ยวเงินกู้ ถูกศาลสั่งให้หักเงินส่งศาลอีก
สมมติเงินเดือน ๑ หมื่น ได้รับสดๆ ซัก ๔-๕ พัน ก็เก่งแล้ว ฉะนั้น ที่เป็นจริง สมมติเดือนกันยา.นี้ เงินที่กิน-ที่ใช้ ส่วนมาก ดึงเงินอนาคตของเดือนตุลา.มาใช้ก่อนแล้ว
พอถึงตุลา.ก็โน่น….
ดึงเงิน “เดือนพฤศจิกา.” มาใช้ล่วงหน้า วงจรเป็นอย่างนี้
นายกฯ เศรษฐา สอบถามความต้องการข้าราชการดูก่อนดีมั้ย อย่าเพิ่งรีบ เดี๋ยวจะกลายเป็น “ทำคุณบูชาโทษ”
เอาละ…ขอแก้ข่าวหน่อย
เมื่อวาน ผมบอกไป “คุณเปรมชัย กรรณสูต” ที่ติดคุกอยู่ทองผาภูมิ พ้นโทษออกมาแล้ว เมื่อ มิย.๖๖
ทางญาติคุณเปรมชัยแจ้งมา ยังอยู่ในคุกขณะนี้ ยังไม่ได้ออกมาตามที่เป็นข่าว
โปรดทราบกันตามนี้นะ โทษท่าน ๒ ปี ๔ เดือน ท่านก็อยู่ในคุกมาร่วม ๒ ปีแล้ว ขณะนี้ โรคเบาหวานรุมเร้า เข้าขั้นเสี่ยงต่อการต้อง “ตัดขา”
แต่คุณเปรมชัยไม่เคยได้รับสิทธิ์ไปรักษาที่โรงพยาบาลไหนเลย ป่วยปานนั้น ท่านไม่ปริปากบ่น ญาติไปเยี่ยมก็ได้แต่แอบร้องไห้
ผมขออภัย ที่บอกว่าท่านพ้นโทษ ออกมาเมื่อมิ.ย.
ท่านยังอยู่ในคุก
ท่านเป็น “สุภาพบุรุษคนจริง” ของสังคมยุค “นิติธรรม-นิติรัฐ” ไทย
ในอุ้งมือเทวดา.!
เปลว สีเงิน
๑๔ กันยายน ๒๕๖๖