คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตอกย้ำความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น โดย ผศ.ดร.ภัทรพร โปสกนิษฐกุล รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และกิจการพิเศษ พร้อมด้วย ดร.สรชา เดชะอำไพ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา
ต้อนรับ ศ.ฮิโรชิ อูมาโกชิ (Hiroshi Umakoshi) ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยโอซาก้า (Osaka University) และ คุณอากิระ โยโกตะ (Akira Yokota) ประธาน บริษัท ซูมิโตโม เฮฟวี่ อินดัสทรีส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ในการประชุมหารือความร่วมมือทางวิชาการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และร่วมแสดงความยินดีกับ นางสาวพรพินันท์ สุนทรนภาลักษณ์ นักศึกษาวิศวะมหิดลระดับบัณฑิตศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรสองปริญญา Double Degree Program ในสาขาวิศวกรรมวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรจากความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ มหาวิทยาลัยโอซาก้า
นอกจากนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกิจกรรมบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “Environmental Engineering” โดย ศ.เชง ยี ยู (Sheng-Jie You) และ รศ.เจง ยี เจียง (Jheng-Jie Jiang) จากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยคริสเตียนชุงหยวน (Chung Yuan Christian University) แห่งไต้หวัน เดินทางมาถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ในหัวข้อ “ความก้าวหน้าของวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Engineering 2023)” ซึ่งภายในงานมีการอภิปรายและบรรยายพิเศษถึงสองเทคโนโลยีที่ท้าทายและน่าสนใจยิ่ง คือ การใช้เมมเบรนในงานวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (Membrane Application in Environmental Engineering) และ ไมโครพลาสติกและการปนเปื้อนที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อม: ชะตากรรม แหล่งที่มา และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น (Microplastics and Emerging Contaminants in the Environment: Fate, Source, and Potential Risk)
รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การพัฒนาวิศวศึกษายุคใหม่ นอกจากการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์ผู้เรียนและธุรกิจอุตสาหกรรมแล้ว ความร่วมมือทางวิชาการกับภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยโอซาก้าซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของญี่ปุ่น และการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในรูปของการบรรยายหรือเวิร์กชอป โดยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยคริสเตียนชุงหยวน จากไต้หวัน ช่วยเปิดโลกทัศน์กว้างให้นักศึกษาวิศวะมหิดลได้ก้าวสู่เทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆ มีโอกาสได้ฝึกฝนความคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเรียนยุคใหม่ และหล่อหลอมการเป็นวิศวกรที่ดีสู่อาชีพในอนาคตอีกด้วย