นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 รับทราบผลการดำเนินงาน ปตท. และได้อนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2562โดย ปตท. และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 2.2 ล้านล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 92,951 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.2 ของรายได้ ปรับลดลงร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ตามสภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เนื่องมาจากผลกระทบของสงครามทางการค้าโลก ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคชะลอตัวและส่งผลให้ส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปและราคาน้ำมันดิบ และส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับลดลง ประกอบกับปัจจัยภายในประเทศ เงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อการส่งออกและอุตสาหกรรมทั้งภาคการผลิตและภาคขนส่ง ส่งผลให้ปริมาณความต้องการพลังงานและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไม่เติบโตตามเป้าหมาย รวมถึงปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและการกลั่นที่ลดลงจากการหยุดซ่อมบำรุงขนาดใหญ่ประจำงวดตามแผนของกลุ่มปิโตรเคมีและการกลั่น และค่าใช้จ่ายชดเชยพนักงานเพิ่มเติมโดยเปลี่ยนการคิดค่าจ้างอัตราสุดท้ายจาก 300 วันเป็น 400 วันตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ส่งผลให้กลุ่ม ปตท. มีค่าใช้จ่าย 4,219 ล้านบาท
ท่ามกลางความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอกและภายในที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย กลุ่ม ปตท. ได้แสวงหาโอกาสในขยายการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติรองรับการเติบโตของการผลิตไฟฟ้า การขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านการร่วมลงทุนหรือการซื้อกิจการ รวมถึงการปรับพอร์ทการลงทุนโดยขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจต่างๆ ตลอดห่วงโซ่คุณค่าตามทิศทางกลยุทธ์การลงทุนที่สอดรับกับแนวโน้มอนาคตไปสู่พลังงานสะอาดและผลิตภัณฑ์เคมีมูลค่าสูง และช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาตลาดโลกต่อผลประกอบการของกลุ่ม ปตท. นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมาได้ผลักดันมาตรการปรับปรุงผลประกอบการอย่างต่อเนื่องด้วยการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด ส่งผลให้งบดำเนินการลดลงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับเป้าหมาย ลดต้นทุนการผลิตเพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไร เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานด้วยการนำระบบดิจิทัลมาใช้ บริหารความเสี่ยงราคา และบริหารทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนั้นผลประกอบการส่วนเพิ่มโดยหลัก มาจากการเข้าซื้อบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) (GLOW) ของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) รวมถึงธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นจากปริมาณขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากการเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนเพิ่มในโครงการบงกช และการเข้าซื้อกิจการของบริษัท Murphy Oil Corporation และบริษัท Partex Holding B.V. ของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP)
ในส่วนของกำไรสุทธิของ ปตท. 92,951 ล้านบาท โดยหลักมาจากกำไรของธุรกิจก๊าซธรรมชาติคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 33 ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสัดส่วนร้อยละ 34 และธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นสัดส่วนร้อยละ 9 ในขณะที่กำไรจากธุรกิจอื่นๆ รวมถึงธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศมีสัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 24 ทั้งนี้กำไรในส่วนของธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นปรับลดลง เนื่องจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ราคาขายอ้างอิงราคาปิโตรเคมีซึ่งปรับลดลงมาก ในขณะที่ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มปิโตรเคมีและการกลั่นปรับลดลงตามสถานการณ์โลกดังกล่าวข้างต้น
จากความพยายามของกลุ่ม ปตท. จึงทำให้ผลประกอบการใกล้เคียงกับที่ประมาณการไว้ ดังนั้นคณะกรรมการ ปตท. จึงได้มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลจำนวน 2 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผล (Payout ratio) ร้อยละ 62.5 ของกำไรสุทธิ และอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ที่ร้อยละ 4.5 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 57,126 ล้านบาทสำหรับผลประกอบการปี 2562 ซึ่ง ปตท. ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 0.9 บาทต่อหุ้นแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2562 และคงเหลือเงินปันผล 1.10 บาทต่อหุ้นที่คาดว่าจะจ่ายในเดือนเมษายน 2563 ซึ่งจะต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ ปตท. ในวันที่ 10 เมษายน 2563
การจ่ายเงินปันผลจากผลประกอบการปี 2562 ดังกล่าวส่งผลให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และกองทุนวายุภักษ์จะได้รับเงินปันผล รวมประมาณ 36,145 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินงบประมาณของประเทศนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ชุมชนให้แก่ประเทศ รวมทั้งสามารถสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านเงินปันผลจำนวน 20,981 ล้านบาท ให้นักลงทุนสถาบันและผู้ถือหุ้นรายย่อยกว่า 1.3 แสนราย
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ ปตท. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในการแบ่งเบาภาระต้นทุนด้านพลังงานและค่าครองชีพของประชาชนให้มีอาชีพที่มั่นคงขึ้น คณะกรรมการ ปตท. จึงได้อนุมัติการบริจาคเงินเข้ากองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ในรูปแบบส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจำนวน 50 บาท/คน/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึง 30 มิถุนายน 2563 โดยใช้งบดำเนินงาน 30 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นความร่วมมือของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และ ปตท.
การดำเนินงานในปี 2562 ที่ ปตท. มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามทิศทางกลยุทธ์การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนตามหลักการ 3 P – People Planet Prosperity ด้าน People ปตท. ได้พัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคต สร้าง “สังคมอุดมศึกษา” ด้วยการลงทุนระดับบัณฑิตศึกษาในสถาบันวิทยสิริเมธี และระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนกำเนิดวิทย์ โดยมีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท จำนวน 6 คน ระดับปริญญาเอก จำนวน 2 คน และนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ได้สำเร็จการศึกษาจำนวน 70 คน ซึ่งได้รับทุนศึกษาต่อต่างประเทศ 32 ทุน อีกทั้งยังได้ยกระดับศักยภาพบุคลากรทางการศึกษาพัฒนาครู 1,601 คน จากโรงเรียนประชารัฐและโรงเรียนเครือข่าย ให้พร้อมเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 นอกจากด้านการศึกษา ยังจุดประกายฝัน พัฒนาศักยภาพด้านกีฬาให้แก่เยาวชนและผู้ด้อยโอกาส โดยร่วมกับสมาคมและสโมสรกีฬาในการฝึกสอนกีฬาประเภทต่างๆ อาทิ โครงการว่ายน้ำเพื่อชีวิตลดความเสี่ยงของการสูญเสียชีวิตเยาวชน ทีมฟุตบอลเยาวชนในนาม พีทีที อะคาเดมี เพื่อให้เยาวชนได้รับการฝึกสอนที่ดี เตรียมความพร้อมให้เยาวชนเป็นนักฟุตบอลอาชีพ
ปตท. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ชุมชน เติบโตอย่างแข็งแรงและยั่งยืน ด้วยโครงการ Café Amazon for Chance ที่ส่งเสริมอาชีพให้กับผู้บกพร่องทางการได้ยินและกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 7 สาขา รวมทั้งโครงการ “ไทยเด็ด” ที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทยและส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ ในการกระจายสินค้าชุมชนและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากอีกด้วย รวมทั้งได้ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในการสร้าง “National Platform” โดย บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จํากัด เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการและวิสาหกิจเริ่มต้นด้านนวัตกรรมธุรกิจ สร้างระบบนิเวศและยกระดับสตาร์ตอัพไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว
ด้าน Planet ปตท. ยังมุ่งมั่นเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสร้างพลังความร่วมมือเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่เริ่มจากโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ 1 ล้านไร่ ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 25 ปี สู่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง ปตท. ได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วยหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เปิดเส้นทางจักรยานระยะทาง 10 กิโลเมตร พื้นที่แปลงปลูกป่า FPT 49 จ.นครราชสีมา เพื่อให้เป็นแหล่งเชื่อมโยงเรื่องราวการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และนำองค์ความรู้การปลูกป่ามาเป็นต้นแบบ ประยุกต์ใช้ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อบูรณาการทำงานร่วมกัน (Social Collaboration) พัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นเสมือนปอดของกรุงเทพฯ ทั้งยังได้ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย We Park และ Big Trees ประกาศเจตนารมณ์เพื่อผลักดันกรุงเทพสู่เมืองสีเขียว ภายใต้การดำเนินโครงการ Green Bangkok 2030 เพื่อปลูกจิตสำนึกรักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างหัวใจสีเขียว พร้อมเชิญชวนประชาชนในเขตเมืองร่วมกันปลูกต้นไม้พร้อม #ปลูกเพื่อเปลี่ยน แสดงพลังหัวใจสีเขียวเพื่อเมืองที่น่าอยู่ของเราทุกคนไปด้วยกัน
ด้าน Prosperity ได้ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด โดยขยายการใช้ก๊าซธรรมชาติและ LNG ในโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่นอกแนวท่อส่งก๊าซฯ เร่งเปิดสถานีบริการเพื่อจัดจำหน่ายน้ำมันพีทีที อัลตราฟอร์ซ ดีเซล บี 10 และ บี 20 เพื่อช่วยลดมลภาวะ PM 2.5 จากการเผาไหม้และช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศ นอกจากนี้เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว ปตท. ผลักดันให้เกิดการลงทุนของ ปตท. และบริษัทในกลุ่มอย่างต่อเนื่อง อาทิ การเริ่มก่อสร้างโครงการท่าเทียบเรือและสถานีรับ-จ่าย LNG แห่งที่ 2 การชนะการประมูลโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 (ช่วงที่ 1) โดยการร่วมทุนของบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด การลงทุนของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่ชนะประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชและเอราวัณ รวมถึงการเข้าซื้อกิจการของบริษัท Murphy Oil Corporation และบริษัท Partex Holding B.V. การขยายการลงทุนธุรกิจไฟฟ้า โดยบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
นอกจากนี้ ปตท. ได้เตรียมแผนการลงทุนในปี 2563 – 2567 วงเงินรวม 180,814 ล้านบาท และจัดเตรียมงบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปีข้างหน้า จำนวน 203,583 ล้านบาท โดยธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้น มีแผนขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานและมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจ LNG อาทิ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 โครงการ LNG Receiving Terminal หนองแฟบ และขยายการเติบโตด้วยการลงทุนธุรกิจก๊าซฯ สู่ไฟฟ้า (Gas to Power) โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการดำเนินธุรกิจ LNG แบบครบวงจรและการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขาย LNG ของภูมิภาคอาเซียน สำหรับธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย จะผลักดันกระบวนการผลิตด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามแนวทาง Circular Economy และขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีความชำนาญและได้เปรียบในการแข่งขันไปสู่การลงทุนในผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมูลค่าสูง นอกจากนี้ ในด้านนวัตกรรมและการลงทุนธุรกิจใหม่ ปตท. เตรียมพร้อมพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเมืองอัจฉริยะ (Smart City Development) โดยเน้นในด้านการบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่ที่มีศักยภาพ และจะขยายการเติบโตด้วยการร่วมทุนหรือซื้อกิจการในธุรกิจพลังงานใหม่ (New Energy) อาทิ ธุรกิจไฟฟ้าครบวงจร พลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงานและยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
เพื่อเป็นการแสวงหาโอกาสลงทุนในพลังงานรูปแบบใหม่และสร้างธุรกิจใหม่ ปตท. ได้พัฒนาพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) เพื่อสร้าง “วังจันทร์วัลเลย์” ให้เป็นเมืองนวัตกรรมแห่งอนาคตของประเทศไทย สนับสนุนแนวคิดทางด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ ผ่านการลงทุนประเภท Prototype เพื่อผลักดันงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การดำเนินการเชิงพาณิชย์มากขึ้น ได้แก่ การพัฒนาวัสดุปิดแผลจาก ไบโอเซลลูโลสคอมโพสิต เพื่อช่วยเร่งการรักษาบาดแผลด้วยเทคโนโลยีที่เป็นเอกสิทธิ์ของสถาบันนวัตกรรม ปตท. การวิจัยและพัฒนา EV Charger ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้านวัตกรรมของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ รวมถึงการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมรถสามล้อไฟฟ้าและจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเป็นต้นแบบยานพาหนะในอนาคต การสนับสนุนการวิจัย “VISBAT” แบตเตอรี่คุณภาพสูงโดย KVIS เพื่อเป็นอุปกรณ์กักเก็บพลังงานต้นแบบสำหรับรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า และการมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยโดยร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และองค์การเภสัชกรรม ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีววัตถุเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม ให้ต้นทุนยาลดลง และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านยาของรัฐ
“ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานของคนไทย ยังคงขับเคลื่อนองค์กรในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานของชาติ สร้างความแข็งแกร่ง และเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจภายใต้ความท้าทายที่เกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความยั่งยืน และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อก้าวสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0”