17 สิงหาคม 2566 ที่รัฐสภา นายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) แถลงคัดค้านการประกาศระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ที่ออกมาเมื่อวันที่ 11 ส.ค. และบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค.เป็นของขวัญวันแม่ ที่มอบให้กับผู้สูงอายุทั้งประเทศ ว่า
พรรคก้าวไกลเห็นว่าประกาศดังกล่าวเป็นการหมุนกงล้อระบบสวัสดิการย้อนกลับจากที่ไทยควร ก้าวไปสู่การมีระบบสวัสดิการถ้วนหน้ากลับไปสู่ระบบสงเคราะห์ ที่ต้องพิสูจน์ความจนเพื่อได้รับการช่วยเหลือ เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างไม่น่าให้อภัย และไม่น่าเกิดขึ้นในยุคโลกาภิวัฒน์ที่ให้คุณค่ากับสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม
และปัญหาที่ทางเรากังวลว่าจะมีเพิ่มตามมาคือเรื่องกฎเกณฑ์ที่จะต้องออกตามมาจากประกาศฉบับนี้ ซึ่งถ้าหากมีการใช้ฐานข้อมูลจากบัตรคนจนก็มีการประเมินกัน ว่าจะมีผู้สูงอายุที่หลุดออกจากระบบ ไม่ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุประมาณอีก 6 ล้านคน นอกจากนี้ ฐานข้อมูลของบัตรคนจนเองก็มีความไม่เที่ยงตรงอยู่พอสมควร เพราะมีการสำรวจว่ามีคนจนประมาณ 46% ที่ไม่ได้บัตร
“แปลว่าข้อมูลตกหล่นจากฐานข้อมูลไปเยอะมาก ฉะนั้นพรรคก้าวไกลเลยเห็นว่าเราจึงต้องมีการใหัสวัสดิการแบบถ้วนหน้า เพื่อไม่ต้องมาเสียเวลาพิสูจน์ความจนเพื่อจะรับเงิน 600 บาทหรือแค่ประมาณ 20 บาทต่อวันนี้ พรรคก้าวไกลขอคัดค้านการออกระเบียบดังกล่าวตามเหตุผลที่กล่าวมา
และเราขอยืนยันในสิ่งที่เราได้หาเสียงไว้คือการสร้างสวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่งได้พิสูจน์มาแล้วหลายที่ในโลกว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ พรรคก้าวไกลเชื่อว่าสวัสดิการถ้วนหน้าไม่ได้มีราคาแพง ไม่เป็นภาระด้านงบประมาณ เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่ ประชาชนจะได้โดยตรง เพราะเราเชื่อว่าสวัสดิการถ้วนหน้าคือสิ่งที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ”นายเซียกล่าว
นายเซียกล่าวต่อว่า เราจะเตรียมยื่นร่าง พ.ร.บ.บำนาญถ้วนหน้า เพื่อเป็นก้าวแรกที่จะทำให้ระบบสวัสดิการ ของเราก้าวไปข้างหน้า โดยมีสาระสำคัญ คือ
1 .มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ยืนยันว่าบุคคลทุกคนที่มีอายุหกสิบปีขึ้นไปต้องได้รับบำนาญแห่งชาติโดยไม่ตัดสิทธิ์ประโยชน์ของผู้สูงอายุที่ได้รับบำนาญตามกฎหมายอื่นหรือตามมติคณะรัฐมนตรี
2.จะต้องมีการกำหนดอัตราบำนาญแห่งชาติใหม่ทุกสามปี และ
3.ทุกคนต้องได้รับบำนาญต่อเดือนไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) หรือ ตามที่เราเคยหาเสียงไว้คือประมาณ 3,000 บาท
และถ้าหากมีการปรับเส้นความยากจน ตัวเงินบำนาญตัวนี้ก็ต้องปรับขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน