นายดำรงค์ ทองยืน ทนายความในคดีที่ นายปริเยศ อังกูรกิตติ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์ พรรคไทยสร้างไทย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เป็นจำเลยกับพวกรวม 4 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีค่าไฟฟ้าแพงให้สัมภาษณ์ว่า
ศาลฯได้ออกนั่งพิจารณาและตรวจคำฟ้องแล้ว เห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คำฟ้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 15 จึงได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีไว้ไต่สวนมูลฟ้องและได้นัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 24 มกราคม 2567 เวลา 9.30 น.
นายดำรงค์ กล่าวว่า นายปริเยศ เป็นโจทก์ฟ้องนายเสมอใจและพวก 4 คน ได้แก่ นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ ในฐานะเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน นายกุลิศ สมบัติศิริ ในฐานะประธานกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ในฐานะผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นจำเลย ต่อศาลอาญาคดีทุจริต ฯ ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา
โดยในคำฟ้องอ้างว่าจำเลยทั้ง 4 คนนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่กำกับดูแลและบริหารกิจการไฟฟ้า เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดหาไฟฟ้า ออกประกาศและเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้า รวมทั้งกำกับดูแลและเป็นผู้มีส่วนในการกำหนดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าและการแผนการลงทนในกิจการไฟฟ้า
นายดำรงค์ กล่าวว่า คำบรรยายฟ้อง ระบุว่าจำเลยให้ความเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ ช่วงปี 2563-2580 อยู่ที่ 56,431 เมกะวัตต์ สัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้า ใช้ก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนมากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 53 ประมาณการค่าไฟฟ้าขายปี ณ ปี 2580 อยู่ที่ 3.61 บาทต่อหน่วยหรือการขึ้นราคาค่าไฟฟ้าสูงเกิน ถือเป็นการกระทำที่มิชอบหรือละเลยปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
นายดำรงค์ กล่าวว่า ในคำฟ้องระบุจำเลยการทำสัญญาซื้อขายระหว่างเอกชนกับ กฟผ. จำนวนมากเกินความจำเป็นและมีข้อสัญญาทำให้รัฐเสียเปรียบ และทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลงต่ำกว่าร้อยละ 51 เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 56 ที่บัญญัติว่า
รัฐต้องจัดหรือดำเนินให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง และรัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 51 มิได้นอกจากนี้รัฐต้องดูแลมิให้เก็บค่าบริการจนเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร
นายดำรงค์ กล่าวถึงการไต่สวนมูลฟ้องว่า เป็นกระบวนการขอศาลเพื่อวินิจฉัยถึงมูลคดีซึ่งจำเลยทั้ง 4 ต้องหาตามบทบัญญัติ ป.วิ.อาญา มาตรา 2(12) ประกอบกับชั้นตรวจฟ้องคดีนี้ ศาลได้ข้อเท็จจริงในรายละเอียดตามเอกสารที่โจทก์ส่งต่อศาลประกอบการสั่งฟ้องด้วย ในการไต่สวนมูลฟ้อง ตามมาตรา 17 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พ.ศ.2559 ให้สิทธิแก่จำเลยทั้ง 4 ที่จะแถลงให้ศาลทราบในข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอันสำคัญ และให้นายปริเยศ นำพยานเข้าเบิกความตามกำหนดในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องต่อไป