ภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) เป็นภาวะที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของผนังหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดชั้นในหนาตัวขึ้นเรื่อย ๆ มีไขมันไปสะสมระหว่างหลอดเลือดเป็นไขมัน จนในที่สุดทำให้เกิดหลอดเลือดตีบตัน เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการของอวัยวะต่าง ๆ ขาดเลือดเกิดขึ้น และเมื่อมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เสียความยืดหยุ่น ปัญหาที่ตามมาคือ ความดันโลหิตจะยิ่งสูงขึ้น หลอดเลือดเสื่อมมากขึ้น มีไขมันไปสะสมในผนังหลอดเลือด เกิดการตีบ หรือแตก ได้ง่ายขึ้น
เมื่อคนเราอายุมากขึ้นหลอดเลือดแดงจะเสื่อมตามวัย เสียความยืดหยุ่น มีหินปูนเกาะ รวมถึงมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งเสริมให้หลอดเลือดแดงเสื่อมมากขึ้น ได้แก่ การสูบบุหรี่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และ คอเลสเตอรอลในเลือดสูง ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง จึงเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไป มักเกิดร่วมกับเรื่องของอายุ โดยเฉพาะช่วงอายุมากกว่า 45 ปี ขึ้นไป
พญ.รับพร ทักษิณวราจาร อายุรแพทย์ระบบประสาทและสมอง ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพระรามเก้า เล่าว่า “ปัจจุบันคนไทยมีอัตราเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองสูงเป็นอันดับที่ 1 จากกสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด (ข้อมูลจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ปี 2562) และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แพทย์จึงมีแนวทางตรวจที่หลากหลาย เพื่อวินิจฉัยโรค โดยจะพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ของผู้ป่วยร่วมด้วย อาทิ การตรวจเลือด, การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง, การตรวจเอกซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้าสมอง, การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการตรวจหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ (carotid duplex ultrasonography) เป็นต้น”
การตรวจหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ (carotid duplex ultrasonography) เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อดูหลอดเลือดแดงใหญ่ carotid (หลอดเลือดแดงด้านหน้าคอ 2 ข้าง ซ้าย-ขวา ที่ส่งเลือดจากหัวใจไปเลี้ยงสมอง) เพื่อประเมินภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) ของหลอดเลือดเลี้ยงสมอง
โดยรังสีแพทย์สามารถดูผนังหลอดเลือด วัดความหนาของผนังหลอดเลือดจากไขมันสะสม ตรวจหาคราบหินปูน (calcified plaque) ที่อยู่ตามบริเวณหลอดเลือดที่คอ เพื่อดูภาวะตีบแคบของหลอดเลือด carotid และวัดความเร็วของการไหลเวียนของโลหิตในหลอดเลือด ว่ามีเลือดเลี้ยงสมองลดลงหรือไม่เพราะการที่มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง มีไขมันสะสม เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหลอดเลือดสมองตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต
การตรวจ carotid duplex ultrasonography ถือเป็นการตรวจที่ปลอดภัย ไม่เจ็บปวดและค่าใช้จ่ายไม่สูง ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหาร และเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะต่าง ๆ ต่อไปนี้
1. ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ หรือสงสัยว่ามีภาวะโรคหลอดเลือดสมองตีบ ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีอาการต่าง ๆ ต่อไปนี้
- วิงเวียนศีรษะ
- เดินเซ
- คิดคำพูดไม่ออก
- แขนขาอ่อนแรง
- การมองเห็นผิดปกติ
- ปวดศีรษะ
2. ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบชั่วคราว (transient ischemic attack หรือ TIA)
3. ผู้ป่วยที่มีภาวะมองเห็นผิดปกติชั่วคราว (transient visual loss)
4. ผู้ป่วยที่แพทย์ตรวจด้วยหูฟังได้ยินเสียงฟู่ผิดปกติที่หลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ (carotid bruit)
5. ผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) ได้แก่ โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
6. ผู้ป่วยที่ต้องติดตามหลังการผ่าตัดเส้นเลือดแดงใหญ่ที่คอ
7. ประเมินความเสี่ยงก่อนผ่าตัดโรคหัวใจบางชนิด เช่น ผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ
ทั้งนี้ภาวะหลอดเลือดแดงที่คอตีบแข็ง (carotid artery stenosis) หากตรวจพบช้าอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตได้
พญ.รับพร ทิ้งท้ายว่า “โรคหลอดเลือดสมองได้สามารถป้องกันได้ หากมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถปฏิบัติตามวิธีการ ดังต่อไปนี้
1. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไตวาย เป็นต้น ต้องรับประทานยา อย่างสม่ำเสมอ หมั่นสังเกตอาการตัวเอง ถ้ามีอาการแขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด
2. หมั่นสังเกตความผิดปกติต่างๆ ของร่างการ ตลอดจนตรวจเช็คสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
3. เลิกบุหรี่ ตลอดจนลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์
4. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสหวานจัด มันจัด เค็มจัด
5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
6. ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม
สามารถเจาะลึกถึงสาเหตุอื่นๆ และแนวทางการรักษาเพิ่มเติมได้ทาง www.praram9.com/carotid-duplex-ultrasonography/ ตลอดจนสามารถเข้ารับบริการและขอคำปรึกษาจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและทีมสหสาขาวิชาชีพเฉพาะด้าน ได้ที่ ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพระรามเก้า โทร. 1270 หรือ www.praram9.com / Line: lin.ee/vR9xrQs หรือ @praram9hospital และทาง Facebook: Praram9 Hospital โรงพยาบาลพระรามเก้า HEALTHCARE YOU CAN TRUST เรื่องสุขภาพ…ไว้ใจเรา #Praram9Hospital