11 สิงหาคม 2566 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีการโพสต์คลิปบนสื่อโซเชียลว่า มีผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 และพบภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงทั่วไป หรือเป็นโรคมะเร็ง
กรมควบคุมโรคได้ตรวจสอบข้อมูลและขอชี้แจงว่า ข่าวดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ โดยปัจจุบันยังไม่พบรายงาน การเกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือการเกิดมะเร็งที่เป็นผลมาจากการฉีดวัคซีนโควิด
และจากข้อมูลรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ จากคณะกรรมการเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน (AEFI) ที่ประกอบด้วย ทีมผู้ทรงคุณวุฒิร่วมพิจารณา พบว่า ผลข้างเคียงส่วนใหญ่ที่พบหลังการฉีดวัคซีน ได้แก่ ไข้ ปวดบริเวณที่ฉีด ปวดเมื่อยตัว เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปกติจะหายได้เองภายใน 2-3 วัน และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย ในระยะยาว
ส่วนอาการที่รุนแรง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ พบอุบัติการณ์ต่ำกว่า 1 ในล้านโดส ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำกว่าการติดเชื้อโควิดที่มีโอกาสป่วยหนักจนเสียชีวิตในผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน
นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายที่ไม่เคยฉีดวัคซีนจะมีอาการหลงเหลือในระยะยาว (Long COVID) เนื่องจากในขณะที่ติดเชื้อโควิด ร่างกายมีการสร้างแอนติบอดีบางตัวขึ้นมา ไปจับกับเซลล์ของอวัยวะบางส่วนในร่างกาย และเกิดการทำลายอวัยวะ
โดยอาการ Long COVID เป็นอาการเจ็บป่วยที่ไม่มีลักษณะตายตัว อาจเหมือนหรือต่างกันในแต่ละบุคคล ซึ่งเกิดผลกระทบขึ้นได้ทั่วร่างกาย ตั้งแต่ระบบหายใจ ระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด ทำให้ผู้ที่หายป่วยบางรายยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างเดิม
จะเห็นได้ว่าการติดเชื้อโควิดส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวมากกว่าผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลบิดเบือนดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่งต่อหรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ
ทั้งนี้หากมีปัญหาความปลอดภัยที่อาจเกิดจากวัคซีน กรมควบคุมโรคจะมีการประกาศแจ้งให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน
ด้านนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่องความครอบคลุมของการรับวัคซีนโควิดที่มีผลต่อสถานการณ์เจ็บป่วยและเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อ โดยพบว่าอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อโควิดมีแนวโน้มลดลงมากหลังจากที่ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศได้รับการฉีดวัคซีนโควิดครบ 2 เข็ม
ปัจจุบันมีผลงานการฉีดวัคซีนสะสมกว่า 147 ล้านโดส หรือมากกว่าร้อยละ 80 ของประชากรทั้งหมด ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดในประเทศไทยลดลงอย่างชัดเจน จากข้อมูลของคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลระบุว่าวัคซีนโควิดสามารถปกป้องชีวิตคนในประเทศไทยมากกว่า 490,000 คน
ดังนั้น ขอย้ำว่าวัคซีนโควิด ช่วยลดอาการป่วยรุนแรงและลดการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ เพิ่มความปลอดภัยให้ผู้รับวัคซีน สมาชิกครอบครัว และผู้คนในสังคม จนปัจจุบันแทบจะไม่มีผู้ฉีดวัคซีนครบโดสตามด้วยเข็มกระตุ้นติดโควิดเสียชีวิต ซึ่งประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากโควิดต่ำกว่าตัวเลขของประเทศทางตะวันตกอยู่หลายเท่า สะท้อนถึงการบริหารจัดการสถานการณ์โควิดที่มีประสิทธิภาพจากนโยบายและมาตรการที่ใช้จนเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศในด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ