31 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.00 น. นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าจากการติดตามสถานการณ์การค้าในต่างประเทศ ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มาโดยต่อเนื่องนั้น
ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสาวเนตรนภิศ จุลกนิษฐ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงเทรนด์ตลาดรักสุขภาพในจีน
โดยทูตพาณิชย์รายงานว่า ปัจจุบันผู้บริโภคชาวจีนที่มีความตระหนักในเรื่องสุขภาพมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ความต้องการในการลดน้ำตาลจึงมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ดังนั้น จึงเกิดการส่งเสริมและพัฒนาตลาดอาหาร GI ต่ำของจีนอย่างรวดเร็ว
ซึ่งค่าดัชนีน้ำตาล (GI : Glycemic Index) เป็นตัวเลขที่บ่งชี้ถึงระดับน้ำตาลในเลือด หลังจากรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลในกระแสเลือด หากรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง เช่น ข้าวเหนียว อาหารทอด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และของหวาน จะส่งผลให้น้ำตาลกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ผู้ที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมน้ำหนัก ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน และกลุ่มคนที่มีภาวะบกพร่องด้านสุขภาพ จึงให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
โดยผู้บริโภคชาวจีนไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญในเรื่อง “อาหารปราศจากน้ำตาลหรือไม่” แต่ยังกังวลถึงเรื่อง “หลังจากการรับประทานอาหารแล้ว จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหรือไม่”
โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนที่เป็นโรคเบาหวานและโรคอ้วน ซึ่งปัจจุบันชาวจีนที่เป็นโรคเบาหวานที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีจำนวนเกือบ 140 ล้านคน ส่วนชาวจีนที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน คิดเป็นประมาณร้อยละ 50 ของประชากรทั้งหมด
ก่อนหน้านี้ ผลิตภัณฑ์ที่มี GI ต่ำ จะกระจุกตัวอยู่ในวงการยาและแพทย์เป็นหลักเท่านั้น แต่ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ที่มี GI ต่ำกำลังขยายไปสู่ตลาดอาหารฟังก์ชั่นเพิ่มขึ้น และผลิตภัณฑ์อาหาร GI ต่ำชนิดต่าง ๆ กำลังเปิดตัวในตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมอาหารชนิดต่าง ๆ เช่น เบเกอรี่ เครื่องดื่ม โยเกิร์ต อาหารทดแทน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำตาล ควบคุมน้ำหนัก และอิ่มท้อง
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์อาหาร GI ต่ำที่จำหน่ายในตลาดจีนมีทั้งแบรนด์จีนและแบรนด์ต่างชาติ เช่น บะหมี่ black highland barley , โยเกิร์ตปราศจากน้ำตาลซูโครส แบรนด์ Yili, ขนมปังที่เพิ่มสารสกัดจากใบหม่อน แบรนด์ Slowgar, น้ำผึ้ง GI ต่ำ แบรนด์ Capilano (ออสเตรเลีย), พาสต้า GI ต่ำ แบรนด์ Carboff (ญี่ปุ่น), Coconut Palm Sugar แบรนด์ Natnat (ฟิลิปปินส์) เป็นต้น
“อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ประเภทและชนิดของผลิตภัณฑ์ GI ต่ำในตลาดจีนยังมีไม่มากหรือยังไม่หลากหลายเท่าใดนัก แต่เป็นที่คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์อาหาร GI ต่ำจะเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนมากขึ้นเรื่อยๆ และจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและคุณภาพสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน
ดังนั้น ตลาดผลิตภัณฑ์อาหาร GI ต่ำ จึงเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการสินค้าอาหารของไทยที่สนใจเจาะเข้าสู่ตลาดจีน” นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว