เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กว่า ยอมรับ แต่ไม่ยอมแพ้ : เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลที่ชอบธรรมตามหลักการประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา
คงไม่มีอะไรที่สะท้อนให้เห็นถึงความผิดปกติของการเมืองไทย ได้ดีไปกว่าการที่การอภิปรายครั้งแรกในสภาของผมในฐานะผู้แทนราษฎร กลับต้องกลายเป็นการอภิปรายเพื่อยืนยันหลักการขั้นพื้นฐานที่สุดของระบอบประชาธิปไตย – หลักการที่ว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน และว่าประชาชนทุกคนมี 1 สิทธิ 1 เสียงเท่าเทียมกันในการกำหนดอนาคตประเทศผ่านการเลือกตั้ง
ผมเข้าใจว่าการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาหลายท่านเมื่อวาน อาจทำให้เราเข้าใจไปว่าแก่นสารของการพิจารณา คือการอภิปรายเกี่ยวกับความเหมาะสมของคุณพิธาในการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี หรือนโยบายของพรรคก้าวไกล
ผมจึงได้ลุกขึ้นอภิปรายเมื่อวาน เพื่อพยายามชวนให้ทุกคนคิด ว่าคำถามที่สำคัญสำหรับสมาชิกรัฐสภา ณ เวลานี้ ไม่ใช่คำถามว่าพวกสมาชิกรัฐสภา 750 คนคิดเห็นอย่างไรต่อคุณพิธาหรือนโยบายของพรรคก้าวไกล แต่คือคำถามว่าสมาชิกรัฐสภาพร้อมจะเคารพเสียงของประชาชนเกือบ 40 ล้านคน ที่ได้ออกมาให้คำตอบต่อคำถามดังกล่าวผ่านคูหาเลือกตั้งเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว หรือไม่
ผลการลงมติของรัฐสภาเมื่อวานในการไม่ให้ความเห็นชอบคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สะท้อนให้เห็นว่ารัฐสภา (โดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภา) ยังไม่พร้อมจะเคารพเสียงของประชาชนที่สะท้อนผ่านผลการเลือกตั้ง
ผมเข้าใจเป็นอย่างดีว่าการเคารพเสียงของประชาชน ไม่ได้หมายถึงการเคารพเสียงของประชาชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่หมายถึงการเคารพเสียงที่สนับสนุนทุกพรรคการเมืองหรือไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใด แต่การเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ได้เแปร 1 สิทธิ 1 เสียงของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ออกมาเป็นผู้แทนราษฎร 500 คน ที่เป็นตัวแทนชุดความคิดที่แตกต่างหลากหลายในสังคม และเหตุการณ์ตลอด 2 เดือนหลังจากนั้น ก็ได้แสดงให้เห็น ว่า แคนดิเดตนายกฯของพรรคการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจเป็นอันดับ 1 ในการเลือกตั้ง ได้สามารถรวบรวมเสียงจากพรรคการเมืองอื่นที่มีอุดมการณ์สอดคล้องกัน รวมกันเป็นจำนวน ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร
ตามกลไกรัฐสภาและครรลองประชาธิปไตยปกติ มันคงเป็นบทสรุปที่ชัดเจนแล้วครับ ว่าใครควรได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่กติกาการเมืองวันนี้ ยังไม่ได้อยู่ในสถานะที่ปกติ เนื่องจากมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ ที่ไปมอบอำนาจให้ สว ที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คน มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี และเปิดช่องให้เกิดการแทรกแซงกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล ให้ไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย
โจทย์สำคัญสำหรับการลงมติของสมาชิกรัฐสภาเมื่อวาน จึงเป็นโจทย์ว่าเราจะร่วมกันกำจัด ความผิดปกติ ที่สืบทอดมาจากอดีต เพื่อคืนความปกติให้ประเทศเดินไปสู่อนาคตได้อย่างไร
สำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในซีกที่ไม่สนับสนุนคุณพิธา (หรือซีกที่จะเป็นฝ่ายค้าน หากคุณพิธาเป็นนายกฯ) ผมได้พยายามสื่อสารว่าผมเคารพความเห็นต่างของเขาและผู้สนับสนุนของพวกเขาที่คงไม่ได้ไว้วางใจคุณพิธาหรือรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล และผมพร้อมจะปกป้องสิทธิของเขาในฐานะฝ่ายค้านที่จะทำหน้าที่อันสำคัญในการตรวจสอบการทำงานของพวกเราได้อย่างเต็มที่ตลอด 4 ปีข้างหน้า แต่ผมอยากให้เขาตระหนักด้วยเช่นกัน ว่าระบอบการปกครองเดียวที่อนุญาตให้มีฝ่ายค้าน คือระบอบประชาธิปไตย
ดังนั้น แม้ผมทราบดีว่าในกติกาประชาธิปไตยที่เป็นปกติ เราอาจไม่คาดหวังให้เขาต้องลงมติเห็นชอบให้กับนายกฯที่ถูกเสนอชื่อโดยผู้แทนราษฎรจากอีกซีกหนึ่ง แต่ภายใต้สภาวะการเมืองไทยที่ยังไม่เป็นปกติ การลงมติให้กับคุณพิธาจึงเป็นโอกาสของพวกเขา ที่จะแสดงให้สังคมเห็นว่าเหนือความเห็นต่างทางการเมืองระหว่างเรา คือจุดมุ่งหมายที่เรามีร่วมกันในการคืนความปกติให้กับการเมืองไทย และปกป้องระบอบประชาธิปไตยที่เคารพผลของการเลือกตั้งที่ทำให้ผู้แทนราษฎรทุกคนจากทุกพรรคได้มีสิทธิมาพูดและทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ต้น
สำหรับสมาชิกวุฒิสภา ที่หลายคนมีความเคลือบแคลงใจกับพรรคก้าวไกล ผมได้พยายามสื่อสารกับพวกเขา ว่าการดำรงความเป็นกลางทางการเมืองและการเคารพเสียงของประชาชนทุกฝ่ายนั้น ต้องไม่ใช่การงดออกเสียงหรือการไม่เข้าประชุม แต่คือการโหวตให้กับนายกฯ ที่ได้รับความไว้วางใจจากเสียงข้างมากของ ส.ส. ซึ่งมีชื่อว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”
เพราะคำว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ณ เวลานี้ ไม่ได้หมายความถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง
แต่คำว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ณ เวลานี้ หมายถึงการ “คืนความปกติ” ให้กับการเมืองไทย การให้โอกาสประชาธิปไตยได้ไปต่อ และการเคารพเสียงของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง อันเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ผมเห็นสมาชิกรัฐสภาทุกท่านกล่าวไว้ว่าทุกท่านยึดถือและหวงแหน
แม้ยังไม่สำเร็จวันนี้ แต่พรรคก้าวไกลขอยืนยันว่าเราจะเดินหน้าต่อ ในการพยายามรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่ชอบธรรมตามมติมหาชนให้ได้
เดินต่อไปด้วยกัน จนกว่าจะถึงวันที่เสียงของประชาชนได้กำหนดอนาคตของประเทศไทย
เพราะประชาชนคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในระบอบประชาธิปไตย