องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำแนะนำว่าเด็กทารกควรได้กินนมแม่อย่างเดียว ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน และควรกินต่อเนื่องไปจนลูกอายุ 2 ปี ควบคู่กับอาหารตามวัยที่เหมาะสม
เนื่องจากนมแม่เป็นอาหารที่เหมาะสมที่สุดสำหรับลูก มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน สามารถเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน สารต่อต้านอนุมูลอิสระ และยังมีเซลล์สิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งจากเซลล์จากแม่ รวมถึงแบคทีเรียที่ดีต่อระบบทางเดินอาหารของลูก
เพราะเด็กทารกที่เกิดใหม่ยังมีภูมิคุ้มกันที่ไม่สมบูรณ์ น้ำนมแม่จึงเปรียบเสมือน “วัคซีนหยดแรก” ของชีวิต เพราะมีทั้งสารอาหารและภูมิคุ้มกันโรคจำนวนมากที่ส่งผ่านจากแม่ถึงลูกช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และในขณะที่แม่กำลังให้นมจะต้องโอบกอดลูกไว้ แม่และลูกได้สบตากัน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นวิธีสร้างสายใยความรักความผูกพันที่ดีที่สุดระหว่างแม่กับลูก
ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย จึงได้ดำเนิน โครงการสร้างสุขภาวะเด็กไทยด้วยนมแม่ ฝ่าวิกฤติโควิด-19 และสานพลังเครือข่ายสู่การขยายผล เพื่อร่วมกันในการขับเคลื่อนและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มีการปฏิบัติอย่างยั่งยืนในสังคมไทย โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
ผศ.พญ.อรภา สุธีโรจน์ตระกูล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประโยชน์และคุณค่าของนมแม่ว่า ช่วง 40 ปีที่ผ่านมาทุกคนต่างทราบดีว่านมแม่นั้นมีประโยชน์สำหรับการเจริญเติบโตของทารก ช่วยลดการติดเชื้อระบบทางเดินอาหารถึงร้อยละ 30 ลดความเสี่ยงอาการปอดอักเสบลงถึงร้อยละ 50-70 และเพิ่มระดับสติปัญญาหรือไอคิวได้สูงสุดถึง 3-10 จุด
“ช่วง 5-10ปีหลังยังค้นพบอีกว่า นมแม่นั้นเป็น Key Factor สำคัญที่สามารถสร้างความสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ของทารก นมแม่ยังเป็นอาหารชั้นดีของจุลินทรีย์สุขภาพเข้าไปฝังในลำไส้ทารก เรายังพบอีกว่า นมแม่นั้นถูกผลิตออกมาให้เหมาะสมกับเด็กคนนั้น หมายถึงแม่ผลิตนมออกมาเพื่อให้ลำไส้ของลูกตนเองมีความสมดุล ช่วยป้องกันและลดโอกาสการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน เบาหวาน หอบหืด หรือภูมิแพ้ต่างๆ”
จากการศึกษาของประเทศแคนาดาเปรียบเทียบระหว่างแม่ที่ให้นมลูกจากเต้ากับแม่ที่ให้นมแม่จากขวด โดยมีการติดตามเด็กเหล่านั้นจนถึงอายุ 3 ปี เพื่อดูว่าโอกาสของการเกิดโรคหอบหืดที่พบมาในเด็กช่วงวัยนี้มีความแตกต่างกันหรือไม่ พบว่าเด็กที่ได้รับนมแม่จากเต้าแล้วเสริมด้วยนมแม่ที่ปั๊มนมใส่ขวดมีโอกาสเกิดโรคหอบหืดเพิ่มขึ้นประมาณ 1.64 เท่า หรือคิดเป็นร้อยละ 60 อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ของนมแม่เมื่อยู่ในขวดนม ต่างจากการเข้าเต้าที่จะได้รับจุลินทรีย์จากผิวหนังและเต้านมของแม่ ซึ่งยืนยันได้ว่าการกินนมแม่จากเต้านั้นดีกว่าการกินด้วยขวดนม
“เรื่องออทิสติกซึ่งเป็นโรคที่พ่อแม่ยุคใหม่กังวลกันมาก มีการค้นพบว่าการเคยกินนมแม่โอกาสการเกิดโรคออทิสติกจะลดลงถึงร้อยละ 58 และยิ่งถ้าให้เด็กกินนมแม่โดยที่ไม่มีนมผสมเลยจะยิ่งลดโอกาสการเกิดโรคได้สูงถึงร้อยละ 76 ยิ่งกินนมแม่นานก็ยิ่งลดโอกาสมากยิ่งขึ้น ซึ่งการเกิดโรคออทิสติกส่วนหนึ่งนั้นอาจมาจากการเสียความสมดุลของจุลินทรีย์สุขภาพในลำไส้ ส่งผลทำให้สารสื่อประสาททำงานผิดปกติ น้ำนมแม่จึงเปรียบเสมือนการฝังชิฟข้อมูลสุขภาพลงไปในตัวลูก ในช่วง 1-2 เดือนแรกถ้าแม่ให้นมแม่ได้ดี ก็จะทำให้เด็กมีสุขภาพที่ดีในระยะยาว” พญ.อรภา กล่าวย้ำ
ปัจจุบันประเทศไทยมีโครงสร้างประชากรเป็นกราฟชนิดหัวกลับ คือมีเด็กเกิดน้อยลงคิดเป็นเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น และในจำนวนนี้ยังเป็นเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนดถึงร้อยละ 11 ซึ่งเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่มากที่สุดของอัตราการเกิดในเด็กทั่วไปที่อายุต่ำกว่า 5 ปี โดยร้อยละ 45 ของเด็กที่กลุ่มนี้จะเสียชีวิตในช่วงอายุไม่เกิน 1 เดือน
ผศ.พิเศษ พญ.มิรา โครานา ที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ร่วมกับ โรงพยาบาลราชวิถี เปิดเผยว่า เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนดกลุ่มนี้มีความสำคัญมาก ทำยังไงไม่ให้เด็กเหล่านี้เสียชีวิต คำตอบก็คือนมแม่ มีงานวิจัยยืนยันแล้วว่าเด็กที่คลอดก่อนกำหนดถ้าได้กินนมแม่ อัตราการเสียชีวิตจากภาวะลำไส้อักเสบเน่าตาย และการติดเชื้อในกระแสเลือดจะลดน้อยลง
“การให้เด็กที่เกิดก่อนกำหนดได้กินนมแม่จะลดอัตราการเกิดภาวะติดเชื้อในลำไส้และการติดเชื้อในกระแสเลือด ลดปัญหาเรื่องการเจริญของเส้นเลือดผิดปกติในจอประสาทตา และโรคปอดเรื้อรังจากการใช้เครื่องช่วยหายใจนานๆ และเด็กกลุ่มนี้มักจะต้องอยู่ในโรงพยาบาลนาน 1-6 เดือน แต่เด็กที่ได้กินนมแม่พบว่าจะสามารถกลับบ้านได้เร็วกว่า
เมื่อกลับบ้านไปแล้วมีการศึกษาต่อโดยพบว่า พัฒนาการของเด็กกลุ่มนี้จะดีกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ และยิ่งกินนมแม่นานมากขึ้นเท่าไหร่พัฒนาการก็จะดียิ่งขึ้นตามไปด้วย เพราะฉะนั้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับเด็กที่เกิดก่อนกำหนดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก นมแม่คือยาและวัคซีนสำหรับเด็กกลุ่มนี้ เพราะสามารถช่วยเด็กทารกได้ในทุกๆ ด้าน
เด็กเกิดก่อนกำหนดต้องการโปรตีนสูง น้ำนมของแม่ที่คลอดก่อนกำหนดจะมีความพิเศษโดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์แรก เพราะมีโปรตีนที่สูง และสารอาหารที่เหมาะสมกับเด็กเกิดก่อนกำหนด มากกว่านมที่ได้จากมารดาที่คลอดครบกำหนดหรือนมแม่บริจาคที่ผ่านการพาสเจอร์ไซด์ทำให้น้ำหนักตัวของทารกเพิ่มขึ้นได้ดีกว่า ลดค่าใช้จ่ายในการนอนในโรงพยาบาล ดังนั้นน้ำนมแม่จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด”
จากรายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย (MICs: Multi Indicator Cluster Survey) ล่าสุด MICs 6 พ.ศ.2565 ประเทศไทยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนอยู่ที่ร้อยละ 28.6 ในขณะที่ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งเป้าหมายว่าในปี 2568 เด็กทารกร้อยละ 50 จะต้องได้กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน ทาง มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
จึงขอเชิญชวนทุกภาคส่วนในสังคมไทยมาร่วมกันสร้างสังคมนมแม่ สนับสนุนให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ เพื่อสร้างเด็กไทยที่เกิดใหม่แต่เกิดน้อยให้มีคุณภาพ เพราะการที่เด็กทารกได้รับน้ำนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ได้รับอาหารตามวัยคุณภาพ ควบคู่กับการเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพ จะเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างทุนสุขภาพที่ดีพร้อมทักษะชีวิตให้กับคนรุ่นใหม่ซึ่งจะเติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในศตวรรษที่ 21
สำหรับแม่ที่กำลังตั้งครรภ์-หลังคลอด สามารถศึกษาหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพื่อเตรียมตัวอย่างถูกต้องได้ที่ www.thaibf.com หรือที่ Facebookเพจ : Thaibf และ นมแม่ หรือดาวน์โหลด Application : Everyday Doctor ของกรมอนามัยที่เปิดคลินิกนมแม่ออนไลน์ เพื่อให้คำปรึกษาแม่ที่มีปัญหาในการให้นมแม่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.