5 กรกฎาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อัปเดตอาการ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ว่า
ช้างอารมณ์ดี และคุ้นชินกับสภาพรอบด้านมากขึ้น ทานอาหาร น้ำ และขับถ่ายเป็นปกติ ซึ่งเร็ว ๆ นี้ แพทย์จะเริ่มรักษาและตรวจสอบสภาพร่างกายภายในอย่างละเอียด
และเป็นข่าวดี ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ รับพลายศักดิ์สุรินทร์ ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ นับเป็นบุญของช้าง และคนไทย ที่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงให้ความสำคัญกับทุกชีวิต
โดยเฉพาะพลายศักดิ์สุรินทร์ ที่ไปอยู่ต่างประเทศ มา 22 ปี และเชื่อว่าจะแฟนคลับของ “พลายศักดิ์สุรินทร์” คลายความกังวลเรื่องการส่งกลับลงไปได้
นายวราวุธ ยังขอบคุณ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรฯ และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งส่วนตัวก็รู้สึกดีใจที่สามารถพาช้างกลับมาได้สำเร็จ
ส่วนความห่วงใยช้างอีก 2 เชือก คือ “พลายประตูผา” และ “พลายศรีณรงค์” ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยต้นเดือนกันยายน 2566 นี้ น.ส.กัญจนา และทีมสัตวแพทย์ จะเดินทางไปแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับหน่วยงานของศรีลังกา ในการถ่ายทอดความรู้ และเทคนิคการดูแลรักษาพยาบาลช้าง เพราะศรีลังกา เป็นประเทศที่มีช้างเลี้ยง และช้างป่าจำนวนมาก
“สอดคล้องกับการที่ คณะสัตวแพทย์ ของมหาวิทยาลัยเมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นเมืองที่ พลายประตูผา อาศัยอยู่ ได้ติดต่อมายังกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แสดงเจตจำนงว่ามีความพร้อมที่จะช่วยดูแล และแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเรื่องการรักษาพยาบาลช้าง ดังนั้นจากนี้ไปการทำงานด้านสุขภาพช้างระหว่างไทยกับศรีลังกาจะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น” นายวราวุธ กล่าว
นายวราวุธ ยังระบุว่า สำหรับ “พลายประตูผา” มีความแตกต่างจาก “พลายศักดิ์สุรินทร์” เพราะมีอายุมากเกือบ 50 ปี การเคลื่อนย้ายอาจมีความเสี่ยงและเป็นอันตรายกับช้างได้ ดังนั้นการทำโครงการร่วมมือถ่ายทอดความรู้ การรักษาพยาบาลช้าง จะทำให้พลายประตูผา ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน
ส่วนพลายศรีณรงค์ จากการที่ น.ส.กัญจนา ไปเยี่ยมมาด้วยตัวเอง ยังเห็นว่ามีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี สุขภาพปกติดี และการเดินทางไปศรีลังกาในต้นเดือนกันยายนนี้ น.ส.กัญจนาก็จะไปเยี่ยมพลายศรีณรงค์อีกครั้ง