สมานฉันท์ “คนกับช้าง” นายสัตวแพทย์อลงกรณ์ มหรรณพ วอนสังคมเข้าใจและร่วมแก้ปัญหาตรงจุด ก่อนช้างไทยกลายเป็นเพียงความทรงจำ

นายสัตวแพทย์อลงกรณ์ มหรรณพ หรือ “หมอช้าง” ผู้อุทิศตัวดูแลสวัสดิภาพช้างไทยมาตลอด 48 ปี แจงสารพัดปัญหาของช้างบ้านและช้างป่าของไทย พร้อมชี้แนวทางแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ที่ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยวและประชาชนช่วยกันได้ ไม่เพียงเพื่อความอยู่รอดของช้างและระบบนิเวศ แต่เพื่อเศรษฐกิจชุมชนและมนุษยชาติ

ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 จนถึงเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา สื่อหลายสำนักรายงานข่าวโขลงช้างป่าจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ออกมากินอ้อย มันสำปะหลัง บุกยุ้งข้าว สร้างความเสียหายแก่พืชผลทางการเกษตรและทรัพย์สินของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้บริเวณรอยต่อเขต จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ปราจีนบุรี โดยล่าสุด รายงานข่าวเผยว่าเจ้าหน้าที่ได้ผลักดันช้างป่ากว่า 100 เชือก กลับเข้าป่าได้สำเร็จแล้ว

ครั้งนี้เป็นการยุติความขัดแย้งระหว่างช้างและมนุษย์เพียงชั่วคราวเท่านั้น เหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และจะยังไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ตราบเท่าที่ผืนป่ามีจำนวนลดลงและโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราอาจจะยังคงได้ยินข่าวในทำนองว่าช้างบุกรุกพื้นที่การเกษตร ช้างประสบอุบัติเหตุ ตกเหว ถูกไฟฟ้าดูด ถูกทารุณกรรม บาดเจ็บและเสียชีวิต

นายสัตวแพทย์อลงกรณ์ มหรรณพ สัตวแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาฯ ปี 2563 ผู้อุทิศตัวทำงานเพื่อสวัสดิภาพช้างไทยมาตลอด 48 ปี จนได้รับฉายาว่า “หมอช้าง” สะท้อนแนวคิดว่า “หากช้างป่าและช้างบ้านของไทยมีจำนวนลดลงหรือมีภาวะเสี่ยงเข้าใกล้สูญพันธุ์ จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อระบบนิเวศทั้งหมด รวมถึงมนุษย์ ซึ่งอยู่ปลายห่วงโซ่อาหารในท้ายที่สุด จึงต้องรักษาสมดุลประชากรช้างให้เหมาะสม”

ตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ เป็นหนึ่งในสัตวแพทย์ที่มักจะถูกเรียกตัวเสมอเมื่อมีข่าวช้างถูกทำร้าย ประสบอุบัติเหตุ หรือช้างอาละวาด การพบเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับช้างทำให้ น.สพ.อลงกรณ์ ริเริ่มและผลักดันโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาช้างป่าและช้างบ้าน (ช้างเลี้ยง) อย่างต่อเนื่องกว่า 48 ปี และยังได้ร่วมกับหลายหน่วยงานองค์กรผลักดันให้ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ได้สำเร็จ

ในวันนี้ สวัสดิภาพของช้างดีขึ้นบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่รอคอยการแก้ไขอย่างเป็นระบบและรอบด้านยิ่งขึ้น น.สพ.อลงกรณ์ ยังคงมุ่งมั่นทำหน้าที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตช้างไทย พร้อมวิงวอนให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วม ทำความเข้าใจธรรมชาติและทุก (ข์) ปัญหาของช้าง อันเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคม เศรษฐกิจ และสภาพอากาศ พร้อมทั้งแจงแนวทางแก้ไขปัญหา ที่ไม่เพียงจะเป็นทางรอดของช้างไทย แต่ยังหมายถึงทางรอดของระบบนิเวศ สัตว์ป่า และมนุษยชาติในการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล

ตอนที่ 1 : ช้างป่า

“ช้างป่า” ผู้ปลูกป่าและบำรุงระบบนิเวศ
เรามักเข้าใจว่าช้างพึ่งพิงป่าเป็นที่อยู่อาศัย แหล่งน้ำและอาหาร แต่จริง ๆ แล้ว ป่าเองก็อิงอาศัยการมีอยู่ของช้างเพื่อบำรุงความอุดมสมบูรณ์ให้ป่าด้วยเช่นกัน

“ช้างป่ามีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ ช้างเป็นผู้หว่านและกระจายเมล็ดพันธุ์พืชและให้ปุ๋ยบำรุงพันธุ์ไม้นานา” น.สพ.อลงกรณ์ กล่าว

“เมื่อช้างถ่าย อุจจาระของช้างเป็นปุ๋ยชั้นดี มักมีเมล็ดพืชพันธุ์ต่าง ๆ พร้อมงอกเป็นต้นอ่อนและเติบโตเป็นไม้ที่มีความแข็งแรงและอายุยืนตามธรรมชาติ เพิ่มความหลากหลายและความหนาแน่นของต้นไม้ในป่า เป็นแหล่งอาหารให้สัตว์ป่า และเป็นประโยชน์ต่อการดำรงอยู่ของวงจรสิ่งมีชีวิตโดยรวม”

เมื่อป่าอุดมสมบูรณ์ ระดับออกซิเจนก็เพิ่มขึ้น ตามมาด้วยปริมาณความชื้นและปริมาณน้ำฝน ซึ่งทั้งหมดหมายถึงระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ที่จะดูแลหล่อเลี้ยงทุกชีวิตบนโลก

จริงหรือ? ช้างป่ารุกทำลายพื้นที่การเกษตรและชุมชน

ปัจจุบัน ภาพของช้างป่าตามที่ปรากฏในข่าว ดูจะเป็น “ผู้ร้ายทำลายพืชไร่” มากกว่า “ผู้สร้างและบำรุงป่า”
น.สพ.อลงกรณ์ กล่าวว่าปรากฎการณ์นี้เป็นผลพวงของการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการบุกเบิกป่าเพื่อทำเป็นพื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสภาวะโลกร้อน ที่มีผลต่อปริมาณน้ำฝน ภูมิอากาศ ทำให้สภาพความอุดมสมบูรณ์ของป่าเปลี่ยนแปลง

“เมื่อป่าได้รับผลกระทบ ขาดความสมดุลและสมบูรณ์ ความเป็นอยู่ของช้างก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ช้างเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่ต้องการบริโภคอาหารและน้ำต่อวันเป็นจำนวนมาก เมื่ออาหารและน้ำในป่าลดลง ก็ทำให้ช้างต้องเดินทางไปหาอาหารและน้ำในพื้นที่ที่มีอาหาร ซึ่งก็ได้กลายเป็นพื้นที่การเกษตรของประชาชนไปแล้ว” น.สพ.อลงกรณ์ อธิบาย

ปมความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างจึงเกิดขึ้น พร้อมข้อหาช้างบุกรุกพื้นที่การเกษตร ทั้งนี้ น.สพ.อลงกรณ์ ยกตัวอย่างสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างช้างป่ากับมนุษย์ ที่เริ่มต้นขึ้นที่ อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อราว 30 ปีที่แล้ว

“ปกติสัตว์ป่าจะมีสัญชาตญาณในการออกหากินในช่วงเวลาประจำของแต่ละปี โดยเฉพาะหน้าแล้ง ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ป่าขาดแคลนแหล่งน้ำ ช้างป่าจะลงมาหาแหล่งน้ำในพื้นที่ด้านล่าง ซึ่งเป็นที่ประจำของช้างป่าอยู่เดิม แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นพื้นที่ทำไร่สับปะรดของประชาชนไปแล้ว ยิ่งเมื่อเกษตรกรทำไร่สับปะรด ผลไม้ที่มีรสชาติที่ช้างชอบ อีกทั้งที่ไร่ก็มีแหล่งน้ำ ทำให้เกิดเหตุการณ์ช้างป่าจำนวนมากลงมากินสับปะรดและน้ำ สร้างความเสียหายให้เกษตรกร และเกิดการหาวิธีล้มช้าง ทำให้ช้างตายเป็นจำนวนมาก”

แนวพระราชดำริ ร.9 สมานฉันท์ช้างป่าและมนุษย์

จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้างป่ากับเจ้าของไร่สับปะรด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณตั้งกรรมการเพื่อดูแลปัญหาดังกล่าว พร้อมทั้งพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์ ซื้อสับปะรดในไร่ของราษฎร เพื่อพระราชทานกลับไปให้ช้างป่ากิน

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสความว่า “ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก” คือ ปล่อยให้ต้นไม้ยืนต้นขึ้นเองโดยธรรมชาติ โดยไม่มีการรบกวนจากคน จนเป็นอาหารของช้างป่าและสัตว์ป่าชนิดอื่น และยังมีพระบรมราชกระแสรับสั่งให้ใช้เฮลิคอปเตอร์โปรยเมล็ดพันธุ์พืชในบริเวณที่จะเป็นป่าธรรมชาติในอนาคตด้วย” น.สพ.อลงกรณ์ เล่าเหตุการณ์ในช่วงที่ถวายงานสนองใต้เบื้องพระยุคลบาทในหลวงรัชกาลที่ 9

จากแนวพระราชดำริ ราษฎรในเวลานั้นร่วมใจถวายคืนที่ดินสำหรับปลูกสับปะรดให้กับทางราชการ นอกจากนี้ ทางโครงการยังจัดการอบรมให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ป่ากุยบุรีได้เห็นคุณค่าระหว่างช้างป่าและสัตว์ป่าชนิดอื่น ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ เพื่อฟื้นฟูสภาพป่า และพิทักษ์รักษาสัตว์ป่าจากการถูกล่าด้วย

“จากเดิม เราสำรวจและพบช้างป่าราว 33 ตัวเท่านั้น แต่ในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ได้ดำเนินงานตามโครงการพระราชดำริ จำนวนช้างป่ากุยบุรีเพิ่มขึ้นเกิน 200 ตัว”

การเพิ่มจำนวนขึ้นของประชากรช้างป่าไม่ได้มีผลต่อคุณภาพชีวิตของช้างและความอุดมสมบุรณ์ของป่าเท่านั้น หากประชาชนในพื้นที่ก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วย

“การทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างคนกับช้างลดลง ประชาชนพึ่งพาตัวเองได้ จากรายได้ประจำที่มาจากการท่องเที่ยวธรรมชาติ เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่น”

น.สพ.อลงกรณ์ สรุปบทเรียนว่าการทำให้คนเข้าใจและตระหนักถึงความเชื่อมโยงของระบบนิเวศ ป่า สัตว์ป่า และมนุษย์ จะทำให้พวกเขาเห็นคุณค่า คุณประโยชน์ของธรรมชาติ เกิดความรู้สึกหวงแหนและอยากดูแลรักษาทรัพยากรทั้งป่าไม้และสัตว์ป่า ที่สำคัญ ทุกวันนี้ ไม่มีช้างที่ตายโดยผิดธรรมชาติที่กุยบุรีแล้ว

คืนบ้านให้ช้าง

จากประสบการณ์ในการทำงานในโครงการตามแนวพระราชดำริ และอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศ น.สพ.อลงกรณ์ แนะว่าการคืนพื้นที่ป่าให้ช้างควรคำนึงถึงการสร้างแหล่งน้ำและแหล่งอาหารคู่กันไป

“ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ ค่อนข้างขี้ร้อน ต้องอยู่ใต้ร่มเงาของตันไม้หรือใกล้แหล่งน้ำ เพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย การทำแหล่งน้ำไม่จำเป็นต้องเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ วิธีที่ดีที่สุดคือขุดบ่อดินเล็ก ๆ กระจายไปทั่วทั้งป่าเพื่อให้สัตว์ป่าทั้งหลายมาดื่มกินน้ำจากแหล่งน้ำเพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย”

ส่วนแหล่งอาหาร น.สพ.อลงกรณ์ กล่าวว่า “ช้างชอบกินไผ่ ไม้ยืนต้นและเถาวัลย์ชนิดต่าง ๆ ดังนั้น ควรปลูกพืชเหล่านี้กระจายให้ทั่วป่าก็จะเป็นแหล่งอาหารที่สามารถที่อยู่กับป่าไปได้ค่อนข้างนาน หากมีชนิดที่หลากหลายและจำนวนมาก ช้างก็สามารถใช้เป็นอาหารเพียงพอได้ตลอดทั้งปี” น.สพ.อลงกรณ์ ย้ำหัวใจของการดูแลและสร้างแหล่งอาหารและน้ำให้ช้างป่าและสัตว์ป่าว่าไม่จำเป็นต้องริเริ่มโครงการขนาดใหญ่ ใช้ทุนหรือพลังมาก “แค่ทำสิ่งเล็ก ๆ แต่ให้กระจายไปทั่วทั้งป่าก็ช่วยได้มาก”

บริหารความสัมพันธ์ช้างป่าและมนุษย์

เพราะป่าคือบ้านของช้าง การรักษาป่าจึงสำคัญต่อการอนุรักษ์ช้าง ซึ่งในปัจจุบัน จำเป็นต้องอาศัยการบริหารจัดการความสัมพันธ์ของป่า ช้างและมนุษย์ ซึ่ง น.สพ.อลงกรณ์ เสนอแนวทางไว้ ดังนี้

• หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลช้างป่า อย่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ควรมีการประเมินจำนวนช้างป่าในแต่ละพื้นที่ว่ามีกี่ตัว หากพื้นที่ใดมีจำนวนช้างมากเกินไป ก็ควรจัดสรรให้ปริมาณช้างอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมและสมดุล

• สำหรับช้างที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวและอาจเป็นอันตราย เจ้าหน้าที่ควรดูแลและผลักดัน หรือย้ายช้างป่านั้น ๆ ให้ไปอยู่ในพื้นที่ที่จะไม่เป็นอันตรายต่อผู้คน

• จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า โดยมีเกณฑ์อัตราค่าชดเชยที่เหมาะสม

• จำกัดจำนวนคนที่จะเข้าอุทยานฯ ในแต่ละวันและช่วงเวลา โดยพิจารณาให้เหมาะสมตามสถานการณ์ในแต่ละวัน เช่น หากช่วงใด มีสัตว์ป่าอันตราย จำนวนผู้เข้าอุทยานในช่วงวันนั้น ๆ อาจต้องลดลง เพื่อที่เจ้าหน้าที่อุทยานจะสามารถเข้าไปแก้ไขหรือช่วยเหลือได้ทันท่วงทีในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน

• ระดมความร่วมมือจากประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อจัดหาทุน ทรัพยากร ในการจัดสรรพื้นที่ สร้างแหล่งน้ำและอาหาร สำหรับช้างและสัตว์ป่า

ตอนที่ 2 : ช้างบ้าน

ช้างบ้าน สายสัมพันธ์ที่เสี่ยงสูญ

ประเทศไทยมีช้าง 2 แบบ คือ ช้างป่า และช้างบ้าน หรือช้างที่อยู่ในวิถีวัฒนธรรมมาแต่โบราณ ช้างบ้านผูกพันกับชนชาวสยามมายาวนาน เป็นเพื่อนร่วมรบ กอบกู้บ้านเมือง เป็นเพื่อนขับเคลื่อนเศรษฐกิจสมัยที่มีการให้สัมปทานตัดไม้ ช้างก็เป็นแรงงานชั้นดีช่วยลากจูงไม้ซุงออกจากป่า จนปัจจุบัน ในโลกสมัยใหม่ ช้างถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนแบรนด์ที่เชื่อมโยงกับความเป็นไทย หรือมาจากประเทศไทย และเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินในภาคบริการและการท่องเที่ยว

“สมัยที่หมอจบใหม่ ๆ เมืองไทยมีช้างบ้านประมาณ 800 – 1000 เชือก ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญในสมัยนั้นต้องระดมสมองว่าจะทำอย่างไรที่จะเพิ่มจำนวนช้างบ้าน เพราะช่วงนั้นอัตราการตายของช้างบ้านสูงถึง 10% ต่อปี” น.สพ.อลงกรณ์ กล่าว

อัตราการตายของช้างเลี้ยงจำนวนมากเกิดมาจากโรคระบาด เช่น โรคคอบวมจากเชื้อแบคทีเรีย หรือ ในปัจจุบันโรคระบาดที่อันตรายมากคือโรคไวรัสลำไส้อักเสบติดต่อเฉียบพลันในช้าง (Elephant Endotheliotropic Herpesvirus – EEHV) ซึ่งทำให้ช้างที่ติดเชื้อ เส้นเลือดฝอยแตกทั้งตัว อุจจาระเป็นเลือดและตายภายใน 48 ชั่วโมง โดยเฉพาะช้างเด็กมีโอกาสตายสูงมาก

“ในปี 2554 เราสูญเสียช้างบ้านไปด้วยโรคระบาดค่อนข้างมาก โดยเฉพาะลูกช้าง กว่าจะหาตัวยามารักษาและช่วยชีวิตช้างได้ ต้องใช้เวลา 5 – 6 ปี”

ความสำเร็จจากการหายารักษาโรคระบาดร้ายแรงในช้างทำให้ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตของช้างลดลง ในปี 2564 ช้างบ้านเสียชีวิตจากโรคระบาดเพียง 2 เชือกเท่านั้น แต่ น.สพ.อลงกรณ์ มีเป้าหมายมากกว่านั้น “เราหวังให้อัตราการเสียชีวิตของช้างบ้านจากโรคระบาดเป็น 0% ในอนาคต”

ไม่เพียงลดอัตราการตายในช้าง แต่ต้องเพิ่มอัตราการเกิดของช้างให้ได้ด้วย เพื่อจะเพิ่มประชากรช้างก่อนสูญพันธุ์ น.สพ.อลงกรณ์ กล่าวว่าถ้าช้างอยู่ในสภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง มีอาหารการกินพร้อม ช้างเพศเมียจะสามารถผสมพันธุ์และออกลูกได้ถึง 3 – 5 เชือก ในช่วงอายุขัยเฉลี่ยของช้าง 60 ถึง 70 ปี

“หากเราสูญเสียช้างเพศเมีย 1 เชือก เราจะเสียโอกาสที่จะมีช้างเพิ่ม 3 – 5 เชือก และจะเป็นความเสี่ยงต่อการลดลงหรือสูญพันธุ์ของประชากรช้างได้”

ตลอดระยะเวลา 40 กว่าปีที่ผ่านมา ทีมสัตวแพทย์ช่วยกันลดอัตราการเสียชีวิตของช้าง และเพิ่มอัตราการเกิด รวมถึงขึ้นทะเบียนช้างเลี้ยง (บ้าน) โดยในปัจจุบัน มีช้างบ้านขึ้นทะเบียนและติดไมโครชิพแล้วประมาณ 4,500 เชือก

“แต่ในอนาคต เราก็ต้องดูกันว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการดูแลเฉพาะช้างบ้านประมาณกี่เชือก เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ รวมทั้งเฝ้าระวังการการทารุณกรรม การปล่อยละเลยสวัสดิภาพ การหาประโยชน์จากช้างอย่างไม่เป็นธรรม และโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต” น.สพ.อลงกรณ์ กล่าวถึงพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ให้ “นำช้างกลับบ้าน” โดยปัจจุบัน มีการตั้ง “ศูนย์คชศึกษา” ที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อป้องกันไม่ให้ควาญช้างนำช้างออกมาเร่ร่อน

ควาญช้าง ผู้ช่วยสัตวแพทย์คนสำคัญ

เมื่อกล่าวถึงการดูแลคุณภาพชีวิตและสวัสดิภาพของช้าง จะมีใครดูแลช้างได้ดีเท่าผู้ที่อยู่ใกล้ชิดช้างที่สุด? สิ่งสำคัญที่ น.สพ.อลงกรณ์ ทำมาตลอดคือสร้าง “ควาญช้าง” ให้เป็นเสมือนผู้ช่วยสัตวแพทย์

“ควาญช้างควรเป็นคนที่รู้นิสัยใจคอของช้าง ใช้อุปกรณ์ควบคุมช้างได้ดี และอยู่ไปตลอดชีวิตของช้าง”

ที่ผ่านมา น.สพ.อลงกรณ์ ถ่ายทอดความรู้ให้ควาญช้าง ทั้งในเรื่องเชื้อโรคและสุขอนามัย ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคสัตว์ที่สัตวแพทย์จะสั่งยาหรือฉีดยาให้เป็นประจำทุกปี

“ช้างควรได้รับการดูแลแบบ 1:1 คือ ช้าง 1 เชือกต่อควาญ 1 คน และไม่ควรเปลี่ยนควาญ แต่ในปัจจุบันควาญหนึ่งคนอาจจะต้องดูแลช้างถึง 6 – 7 เชือก เพราะปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานหลักในการดูแลเรื่องช้างโดยตรง”

การเปลี่ยนควาญช้างหรือให้ควาญเลี้ยงช้างจำนวนมาก อาจก่อให้เกิดอันตรายกับควาญได้ โดยเฉพาะเมื่อช้างเพศผู้ตกมัน นอกจากนี้ น.สพ.อลงกรณ์ กล่าวถึงข่าวช้างเลี้ยงทำร้ายควาญช้างจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตว่า ส่วนมากมีเหตุมาจากความประมาทและการดื่มแอลกอฮอล์

“ช้างมีประสาทสัมผัสรับกลิ่นทางงวงที่ไวมาก ถ้าควาญช้างมีกลิ่นกายที่ผิดแปลกไปแม้เพียงเล็กน้อย ช้างจะประเมินเลยว่าควาญมีคุณสมบัติพอที่จะทำให้เขาเชื่อใจได้ไหม จะต่อสู้กับเขาได้ไหม ช้างจะทดลองสลัดควาญตกลงมา ถ้าควาญไม่ระวังหรือประคองสติไม่อยู่ แล้วพลัดตกลงมา ก็อาจโดนขาหน้ากระทืบ งวงฟาด หรือถ้าเป็นช้างพลาย ก็อาจจะใช้งาแทง ซึ่งโดยมากแล้ว ควาญจะเสียชีวิต”

ด้วยเหตุนี้ หนึ่งในความพยายามรักษาชีวิตควาญและช้างคือการรณรงค์ให้ควาญเลิกดื่มสุราและเครื่องดื่มมืนเมาแบบเด็ดขาด

“คนเป็นควาญต้องมีร่างกายที่แข็งแรง และที่สำคัญคือต้องมีสติอยู่เสมอ ก็จะปลอดภัย ไม่เกิดอันตราย บาดเจ็บสาหัส พิการหรือถึงแก่ชีวิต และก็จะทำให้ช้างอยู่ในความสงบตามนิสัยธรรมชาติของเขา”

ตั้งแต่ปี 2525-2550 น.สพ.อลงกรณ์ รณรงค์และให้เวลาพูดคุยทำความเข้าใจกับควาญเพื่อเปลี่ยนความคิด (mindset) และปรับพฤติกรรม อย่างการเลิกดื่มเหล้า ปัจจุบัน มีควาญช้างเพียง 5% เท่านั้นที่ยังคงดื่มอยู่ จากเดิม ควาญมีภาวะติดเหล้าถึง 80%”

สิ้นสุดช้างเร่ร่อนในป่าคอนกรีต

น.สพ.อลงกรณ์ ย้อนเหตุการณ์ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นของช้างเร่ร่อนในประเทศไทยว่า “ในปี 2532 รัฐบาลประกาศปิดป่าทั่วประเทศ ทำให้ช้างตกงาน เกิดปัญหาช้างเร่ร่อนในหลายจังหวัด โดยเฉพาะกรุงเทพและปริมณฑล ที่มีช้างเข้ามาเร่ร่อนขออาหารมากถึง 70 เชือก”

หลายคนอาจจะยังจำภาพช้างเดินเร่ร่อนไปตามท้องถนนท่ามกลางการจราจรที่คับคั่งในเมือง บ้างก็อาจจะเห็นช้างอยู่กับควาญตามพื้นที่รกร้างในเมือง กินอาหารตามกองขยะบ้าง และอาจจะยังจำข่าวในสื่อที่รายงานถึงช้างที่ประสบอุบัติเหตุรถชนบ้าง ตกท่อบ้าง โดนไฟฟาดูดบ้าง ฯลฯ

น.สพ.อลงกรณ์ เล่าว่าช่วงเวลานั้น ทีมสัตวแพทย์ต้องทำงานอย่างหนัก ทั้งวันทั้งคืน เนื่องจากช้างจำนวนมากประสบอุบัติเหตุและเป็นโรค

“ช้างเร่ร่อนมักจะอยู่ในพื้นที่รกร้างของเมืองซึ่งค่อนข้างสกปรก ควาญจะพาช้างออกทำงานหาเลี้ยงอาชีพด้วยการให้คนซื้อกล้วย-อ้อยให้ช้างกินตอนกลางคืน ทำให้ช่วงเวลากลางวัน ช้างจะต้องอดอาหาร เมื่อช้างหิว ก็จะกินทุกอย่างที่ขวางหน้า ทั้งขยะ แหล่งน้ำที่สกปรกมีสารเคมีปนเปื้อน ทำให้ท้องเสีย ท้องร่วง”

จากสภาพปัญหาดังกล่าว ทีมสัตวแพทย์ประกาศขอความร่วมมือจากประชาชนให้รายงานทีมสัตวแพทย์เมื่อพบเห็นช้างเร่ร่อน เพื่อที่ทีมแพทย์จะได้เข้าไปช่วยเหลือและป้องกันสวัสดิภาพและสุขภาพช้าง น.สพ.อลงกรณ์ กล่าวถึงกรณีศึกษาที่ระบุว่าหากมีเหตุที่ช้างได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่ากรณีใด “จะต้องแจ้งตำรวจ” เพื่อกันพื้นที่ไม่ให้ประชาชนเข้ามามุง หรือกระทำการใด ๆ ก่อนที่สัตวแพทย์จะมาถึงพื้นที่ “เพราะเคยมีอุบัติเหตุช้างเสียชีวิตที่ จ.สมุทรปราการ จากการตกท่อลึกแล้วคนเข้าไปช่วยโดยการนำเครนยกช้างขึ้นอย่างไม่ถูกวิธี”

ในขณะเดียวกัน น.สพ.อลงกรณ์ และทีมสัตวแพทย์ องค์กรพิทักษ์สัตว์ทั้งหลาย ก็พยายามผลักดันให้เกิดกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์

“เราใช้เวลาประมาณ 20 ปี ในการพยายามร่างและเสนอร่างกฏหมายนี้เข้าสภา จนในที่สุดก็ได้พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557” น.สพ.อลงกรณ์ หนึ่งในกรรมการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) กล่าว

พ.ร.บ.ฉบับนี้ส่งผลให้จำนวนช้างเร่ร่อนลดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งอาจเพราะบทลงโทษในกฎหมาย เช่น มาตรา 31 ที่ระบุว่าหากพบเห็นการทารุณกรรมสัตว์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ก็เป็นเพราะความร่วมมือจากประชาชนที่ช่วยเฝ้าระวังและรายงานเหตุการทารุณกรรมสัตว์ในพื้นที่ต่าง ๆ นำไปสู่การแจ้งจับและดำเนินคดีในศาล

“ปัจจุบัน เราจึงไม่เห็นช้างเร่ร่อน ที่ไม่ถูกผลักดันให้กลับถิ่นฐานเดิมที่จังหวัดสุรินทร์และจังหวัดบุรีรัมย์เหลืออยู่เลยในทุกจังหวัด” น.สพ.อลงกรณ์ กล่าวด้วยความภูมิใจ

ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และรับผิดชอบ (Ethical Tourism)

ช้างเป็นหนึ่งในแม่เหล็กของการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ จึงอาจกล่าวได้ว่าช้างเป็นสัตว์ที่ร่วมสร้างสรรค์เศรษฐกิจให้ประเทศ ดังนั้น เราจำเป็นต้องเข้าใจแนวทางการดูแลสวัสดิภาพของช้าง เพื่อความสุขและความปลอดภัยของทั้งช้างและนักท่องเที่ยว น.สพ.อลงกรณ์ ให้ข้อแนะนำนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว โดยสังเขป ดังนี้

สำหรับผู้ประกอบการ

ควรดูแลให้ช้างได้รับสวัสดิภาพที่เหมาะสมและเพียงพอ เช่น ได้รับอาหาร 10% ของน้ำหนักตัว และดื่มน้ำสะอาดวันละ 200 ลิตร เพื่อควบคุมอุณหภูมิร่างกาย ทั้งนี้ ควรจัดสรรให้มีแหล่งน้ำที่ช้างจะลงไปแช่หรือใช้เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายได้ และควรให้เวลาช้างได้เล่นน้ำเองประมาณ 15-20 นาที เป็นระยะ ๆ เนื่องจากช่วงเวลาที่ให้บริการนักท่องเที่ยว อาจทำให้อุณหภูมิของช้างสูงขึ้น เกิดความเครียดได้ง่าย และนอกจากแหล่งน้ำแล้ว ก็ควรจัดสถานที่สร้างร่มเงาหรือปลูกต้นไม้เพื่อให้ช้างหลบคลายร้อนและพักผ่อน

จัดให้มีการตรวจสุขภาพช้างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันโรคติดต่อต่าง ๆ และป้องกันแมลงรบกวน เช่น ยุง แมลงวันดูดเลือด และเหลือบ เพราะจะทำให้ช้างเกิดความเครียดและทำให้เสียเลือดตลอดเวลา อาจจะทำให้เกิดเป็นภาวะโลหิตจางได้ หากช้างใกล้ที่จะเกิดภาวะโลหิตจางหรือเกิดเป็นภาวะนี้ขึ้นมาโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ จะเข้ารุมเร้าทันที

ดูแลสวัสดิภาพของควาญช้างเพื่อที่เขาจะได้เลี้ยงช้างได้อย่างมีคุณภาพ และควบคุมความประพฤติของควาญ โดยเฉพาะการดื่มของมึนเมา เพื่อให้ควาญอยู่ในสภาพที่พร้อมในการดูแลช้างและให้บริการนักท่องเที่ยว

สำหรับนักท่องเที่ยว

จำเป็นต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจธรรมชาติของช้าง ไม่ทำให้ช้างเครียด ไม่รังแกหรือแหย่ช้าง หรือปล่อยให้เกิดการรังแก หรือทารุณช้าง หากอยากสัมผัสช้าง ก็อาจลูบไล้เบา ๆ บนตัวช้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรถามควาญช้างก่อนเพื่อรู้จักอุปนิสัยของช้าง

สำหรับนักท่องเที่ยวในเขตอุทยานฯ ไม่ว่านักท่องเที่ยวทั่วไปหรือนักท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติ น.สพ.อลงกรณ์ ให้แนวทางพื้นฐานในการท่องเที่ยว ดังนี้

• ขับรถยนต์ด้วยความเร็วไม่เกิน 30 – 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

• เมื่อเจอช้างป่า ให้หยุดการเคลื่อนไหว ปล่อยให้ช้างเดินผ่านไปโดยสวัสดิภาพ ไม่ใช้เสียงแตร ไม่เปิดไฟหน้าเป็นการรบกวน ไม่ใช้กล้องถ่ายรูปหรือโทรศัพท์มือถือถ่ายภาพโดยใช้แฟลช ไม่ส่งเสียงเพื่อให้ช้างชะงัก

• หากเป็นนักท่องเที่ยวที่จะศึกษาด้านธรรมชาติวิทยา ควรเข้าพื้นที่ป่าพร้อมกับเจ้าหน้าที่ผู้มีประสบการณ์ความรู้เพื่อได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องปฏิบัติได้อย่างปลอดภัย และจะต้องเดินตามไปในเส้นทางเดียวกัน

• งดการบริโภคสัตว์ป่า นอกจากผิดกฎหมายแล้ว ที่สำคัญคือผู้บริโภคอาจติดโรคและแพร่เชื้อโรคที่อยุ่ในสัตว์ป่าไปสู่คนในครอบครัวและคนใกล้ชิดได้ เช่น วัณโรค โรคพยาธิต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษาหรือรักษายาก และอาจจะทำให้ถึงแก่ชีวิต

• ไม่ทำร้ายสัตว์ป่าและไม่ตัดไม้ทำลายป่า และปฏิบัติตัวตามกฏหมายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าปี พ.ศ. 2562 (ฉบับปรับปรุง) อย่างเคร่งครัด

• ส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ในการพิทักษ์สัตว์ป่า ไม่ว่าบริจาคสนับสนุนกิจกรรมหรือสนับสนุนองค์กรที่มีแนวคิดเพื่อการรับผิดชอบต่อสังคม หรือมีนโยบายมุ่งสู่เป้าหมายความยั่งยืน (SDGs Goal ที่ 15 ชีวิตบนบก และ 13 แก้ปัญหาโลกร้อน) อาทิ กิจกรรมการทำโป่งเทียม ปลูกพืช และทำแหล่งน้ำสะอาดให้สัตว์ป่า

น.สพ.อลงกรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่าหากคนในสังคมมีความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมกับสัตว์ป่า เช่น ช้าง ไม่ว่าช้างป่า ช้างบ้าน และช่วยกันขยายความเข้าใจกระจายข่าวสารออกไปกว้างขวางเรื่อย ๆ รวมถึงเป็นหูเป็นตารายงานเหตุการทารุณกรรมสัตว์ และสนับสนุนกิจกรรมอนุรักษ์ระบบนิเวศตามกำลัง เพียงเท่านี้ ชะตากรรมของช้างไทยก็มีหวังรอด อยู่คู่ระบบนิเวศและทุกชีวิตบนโลกต่อไป

ช่องทางติดตามข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับช้างและสัตว์ป่า
• กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช http://portal.dnp.go.th/ หรือ https://www.facebook.com/prhotnews02
• สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) https://www.facebook.com/thai.spca.3/
• ผลงานของคณาจารณ์ นิสิต และนิสิตเก่า และความคืบหน้าทางนวัตกรรมการแพทย์เกี่ยวกับสัตว์ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ https://www.facebook.com/vetchulalongkorn/

Written By
More from pp
“ไทยสร้างไทย” เปิดตัว “สุพันธุ์ มงคลสุธี” เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค
16 พฤษภาคม 2565- “ไทยสร้างไทย” เปิดตัว “สุพันธุ์ มงคลสุธี” เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค ยินดีได้คนมีวิสัยทัศน์ไกล เป็นคนเก่งมีความรู้ความสามารถ เข้าใจคนตัวเล็ก เข้าใจเศรษฐกิจไทย...
Read More
0 replies on “สมานฉันท์ “คนกับช้าง” นายสัตวแพทย์อลงกรณ์ มหรรณพ วอนสังคมเข้าใจและร่วมแก้ปัญหาตรงจุด ก่อนช้างไทยกลายเป็นเพียงความทรงจำ”