เปลว สีเงิน
ช่วง ๘ ปี ช่วงพลเอกประยุทธ์เป็นรัฐบาลซ่อมสร้างและวางรากฐานประเทศสู่ยุคนวัตกรรม
นิสิต-นักศึกษา “จุฬา-ธรรมศาสตร์” สายสามนิ้ว
ทั้งในขบวนพาเหรด ขบวนชุมนุม จะชูป้ายข้อความหนึ่ง
“ผนงรจตกม”
ความหมายของเขาคือ “ผู้นำโง่เราจะตายกันหมด”
มาถึงวันนี้
ถึงช่วงรัฐบาลประยุทธ์ส่งถ่ายอำนาจบริหารให้ขบวนการสามนิ้วที่ชนะเลือกตั้งเข้าไปเป็นรัฐบาล
“หยก” คือ “พรีเซนเตอร์” ของนักเรียน ตามโนบาย “รัฐบาลก้าวไกล” ที่จะเข้าไปปฎิวัติระบบรูปแบบการเรียน-การสอนใหม่หมด ภายใน ๑๐๐ วัน ที่เข้าบริหาร
ภายใต้หลักการ “สิทธิเสรีภาพ” ร่างกายเป็นของเรา พอใจทำแบบไหนก็ได้
และครู/อาจารย์ ต้องถามนักเรียนว่า “อยากเรียนอะไร/แบบไหน” ก่อน ไม่ใช่สอนตามที่ครู/อาจารย์อยากสอน
ไม่ต้องเครื่องแบบ “เสื้อผ้า-หน้า-ผม” อย่างใดก็ได้มาเรียน,
ไม่ต้องเข้าแถว,ไม่ต้องร้องเพลงชาติ,ไม่ต้องเรียนศีลธรรม
ไม่ต้องเคารพครู/อาจารย์ เพราะจ่ายค่าเทอมให้เป็นเงินเดือนแล้ว,จะเรียน-ไม่เรียนวิชาไหน เลือกได้ตามใจชอบ เป็นต้น
เรื่องนี้ กำลังกลายเป็นขยะก้อนใหญ่ที่สะดุดตีนสังคมให้คะมำไปคนละทาง-สองทาง
ในทางที่ระเนนระนาดกันไปนั้น
ที่ยืนหยัดกลางกระแสอยู่ คือโรงเรียน “เตรียมพัฒน์”
“โรงเรียน” คือ สถานอบรมบ่มเพาะหน่ออ่อนคือนักเรียนให้มีจิตสำนึก,มีระเบียบ,มีวิชาความรู้ “คู่คุณธรรม”
เติบใหญ่เป็น “ผู้มีใจฝึกแล้วประเสริฐ” สมกับคำว่า “มนุษย์”
ครู/อาจารย์ ไม่ใช่ลูกจ้างนักเรียน,ครู/อาจารย์ คือ พ่อ-แม่ คนที่ ๒ ของนักเรียน ที่เรียก “แม่พิมพ์”
ความหมายของแม่พิมพ์ คืออะไร?
คือ สิ่งจัด “ระบบ-ระเบียบ” อะไรที่มันลื่นไหล เหลวเป๋ว ให้มีรูปลักษณ์เป็น “เอกลักษณ์” เพิ่มมูลค่าคน นั่นคือ “แม่พิมพ์”
ไม่ต้องดูอะไรมาก ที่เป็นไวรัลตอนนี้ “ไอติม” วัดอรุณฯ นั่นปะไร
จากแท่งละบาท/สองบาท
เมื่อนำไอติมธรรมดาๆ ไปปรุงรส แต่งสี อัดลงแม่พิมพ์เป็นลายกระเบื้องพระปรางค์วัดอรุณฯ แล้วติดแบรนด์ ‘Pop Icon ไอติม 3 มิติ’ เท่านั้นแหละ
จากแท่งละบาท/สองบาท พรวดเป็นแท่งละ ๘๙ บาท
แย่งกันซื้อ ตอนนี้ผลิตไม่ทัน!
นี่คือมุม “สะท้อนให้คิด”……..
แค่วิชาความรู้ ไม่ได้ทำให้เป็นมนุษย์ จิตฝึกระเบียบแล้วจิตย้อมด้วยรู้กาลเทศะแล้ว จิตมีหิริ-โอตตัปปะแล้ว
นั้นตะหาก ที่ครู/อาจารย์ จะต้องทำหน้าที่ อบรม/บ่มเพาะ/ดัดนิสัย “ไม้อ่อน” ลงแม่พิมพ์ ให้ออกมามีรูปลักษณ์เป็นเด็กที่โตด้วยมีระเบียบแบบแผน
เห็นมีอาจารย์ระดับดอกเตอร์ออกมาให้ความเห็นสนับสนุนพฤติกรรม “หยก” กันหลายราย
ฟังแล้วหดหู่ ยิ่งสูงปริญญา ยิ่งทรามคิด
พ่นน้ำลายเป็นฟอง แล้ววางไข่เชื้อชั่ว หลอกให้เด็กแหงนหน้าฝันตาม บอกว่า นั่นโลกของรุ่นใหม่ อนาคต ต้องไปทางนี้
อย่าง “ดอกเตอร์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล”
รู้แหละ ว่าเจ้าคิดอะไรอยู่ ทำอะไรอยู่ แต่ช่างเถอะ เก่งนัก ช่วยเก่งเรื่อง “หยก” ให้อีกซักเรื่องซิ
อยากเห็นจัง ว่ากูรูธรรมศาสตร์สามารถทำให้ “หยก” เป็นเด็กเหมือนเด็กทั่วไปได้อย่างไร?
ดอกเตอร์ทางกฎหมายมิใช่เรอะ รู้ใช่มั้ย ว่าหยกอายุ ๑๕ เป็นผู้เยาว์ แล้วปริญญาไม่ลองมองและวิเคราะห์ดูบ้างหรือว่า
ขณะนี้ ขบวนการสามนิ้ว “ล่อลวง-ชักจูงเด็ก” ไปเป็นเครื่องมือในทางชั่วร้าย ใช่หรือไม่?
พฤติกรรมมันไม่ต่างกับแก๊งลักเด็กไปขอทานหรือบังคับให้ล้วงกระเป๋า ลักขโมย ประมาณนั้น
ฟังข่าวเที่ยงวาน มีอาจารย์มช.คนหนึ่ง โพสต์เรื่องหยก เขาเอามาอ่านเป็นข่าว
ไปเปิดเฟซอ่าน ทราบว่าชื่อ “ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี” ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ว่า
………………………
“Pinkaew Laungaramsri”
มหาวิทยาลัยนั้นก็มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับเครื่องแบบนักศึกษา เรื่องนี้ทุกคนย่อมทราบดี
แต่ในทางปฏิบัติ การใส่หรือไม่ใส่เครื่องแบบนักศึกษา อย่างน้อยในมหาวิทยาลัย และในคณะที่ดิฉันสอนอยู่ เป็นเรื่องของ choice มากกว่าการบังคับกันอย่างคอขาดบาดตาย
สิ่งที่เกิดขึ้นในคลาสเรียนปกติของทุกวัน จึงมีทั้งนักศึกษาที่เลือกที่จะใส่เครื่องแบบ กับนักศึกษาที่ใส่ชุดไปรเวท
ที่เห็นจนชินตา คือ นักศึกษาหญิงบางคน เลือกที่จะใส่เสื้อที่เป็นเครื่องแบบร่วมกับกางเกงยีนส์
มีบางปี ที่นักศึกษาบางคนใส่กางเกงนอนมาเรียนตลอดเทอมก็มี นัยว่าอยู่หอใน ตื่นแล้วรีบมาเรียนเลย กลัวไม่ทันคลาส
ส่วนเรื่องทรงผมนั้น ไม่ต้องพูดถึง เพราะย้อมกันมาทุกสี
ข้ออ้างเรื่องเครื่องแบบเป็นสิ่งที่สร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อย จึงเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น
เพราะหากระเบียบหมายถึงการจัดเรียงผู้คน สิ่งของ ให้เป็นไปตามลำดับและแบบแผนเดียวกันแล้ว
คำถามสำคัญจึงได้แก่
อะไรล่ะ ควรเป็นสิ่งที่เรียกว่า “แบบแผน” ที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยควรยึดถือในเรื่องการแต่งกาย?
สำหรับดิฉันแล้ว หลักใหญ่ใจความของเครื่องแต่งกายในสถานการศึกษา ควรเป็นเรื่อง ความสุภาพ เหมาะสม และเป็นเครื่องแต่งกายที่ไม่นำไปสู่การรบกวนการเรียนของผู้อื่น
หลักการของเครื่องแต่งกายนักเรียนประเภทนี้ เป็นหลักการที่ประเทศที่เจริญแล้วทั่วไปเขาใช้กัน
ซึ่งเปิดให้กับทั้งโรงเรียนและนักเรียนใช้วิจารณญาณร่วมๆ กัน ไม่ใช่ท็อปดาวน์ โดยไม่เปิดให้มีการฟังเหตุผล
พ.ศ.นี้แล้ว เรายังมาพูดเรื่องเครื่องแบบกับความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยไม่เคยให้ถกเถียงกันว่า
คำว่า “ระเบียบ” ควรจะมีความหมายอย่างไรที่มีเหตุมีผล
แต่กลับเอาไปผูกติดกับเครื่องแบบบางประเภท มันช่างถอยหลังตกคลองเสียจริงๆ ฯฯฯฯลฯฯฯฯ
กรณีหยกเป็นกรณีท้าทายและทดสอบแนวทางเรื่อง Child-centered education เป็นอย่างดี
หยกปฏิเสธที่จะเข้าแถวเคารพธงชาติ เข้าเรียนวิชาจริยธรรม และกิจกรรมกลุ่ม
คำถามคือ มีนักเรียนอีกกี่คนที่รู้สึกเช่นเดียวกับหยก? โรงเรียนเคยได้สอบถาม หรือเปิดให้มีการ voice ความเห็นต่อกิจกรรมและวิชาที่เป็นปัญหานี้ หรือไม่ อย่างไร
ที่สำคัญโรงเรียนได้เคยรับฟังเหตุผลของหยก ที่มีต่อวิชาที่เป็นปัญหานี้หรือไม่?
ในระดับมหาวิทยาลัย กระบวนวิชาต่างๆ ที่มีการเรียนการสอน ในท้ายเทอม นักศึกษาจะสามารถประเมินกระบวนวิชาทุกวิชา
การประเมินนั้น รวมไปถึงการประเมินตัวอาจารย์ผู้สอนด้วย ระบบการประเมินนี้ เป็นเครื่องมือสำคัญในการรับฟังทรรศนะของผู้เรียน
เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน
และเป็นหนึ่งในกระบวนการที่พยายามย้ายศูนย์กลางของการเรียนการสอนมายังตัวผู้เรียนและทำให้การเรียนการสอนมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
ระบบประเมินการเรียนการสอนโดยผู้เรียนที่ว่า เป็นส่วนสำคัญของการประเมินคุณภาพการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
ดิฉันไม่แน่ใจว่า ปัจจุบันในระบบโรงเรียน เสียงของนักเรียน ถูกนับในการประเมินคุณภาพการเรียนการสอนหรือไม่ อย่างไร และมีช่องทางการ feed back แบบที่ว่าได้ที่ไหน
แน่นอนที่ว่า ในยุคสมัยของดิฉันนั้น ไม่เคยมีกระบวนการอย่างที่ว่า การศึกษานั้น เป็นระบบ top down
อย่างที่ทราบกัน บ่อยครั้งเราจึงต้องทนเรียนในวิชาที่ไม่ได้เรื่อง กับครูที่ยอดแย่ โดยไม่สามารถพูดอะไร กับใครที่ไหนได้ เสียเวลาชีวิตไปในแต่ละวันโดยไม่ได้อะไร
ไม่ต้องพูดถึงช่วงเวลาหน้าเสาธง ที่มักเอามาใช้ตรวจจับคอซองที่สั้นเกิน หรือผมที่ยาวเกินติ่งหู พวกเราได้แต่ทนๆเรียนให้มันจบเทอม เพื่อรอไปเอนทรานซ์อย่างเดียว
น่าแปลกใจที่โลกของการศึกษาเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ยังอยู่ดีไม่ขยับไปไหนในยุคดิจิทัล 5.0 ปัจจุบัน
และเมื่อมีเยาวชนที่ไม่ทนกับระบบการศึกษาในโลกเก่า สิ่งที่เกิดขึ้นกลับได้แก่ การถูกปฏิเสธสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา
ยังมีอะไรที่น่าเศร้าใจมากไปกว่านี้อีกหรือสำหรับสังคมไทย…ฯฯฯฯฯลฯฯฯฯ
………………………….
อาจารย์คงทราบ ทฤษฏี Noam Chomsky ใช่มั้ย ที่บอกว่า “มนุษย์” กับ “สัตว์” มีวัฒนธรรม
แต่สิ่งที่สัตว์แตกต่างไปจากมนุษย์ คือ
“สัตว์ไม่มีกฏหมาย, ไม่มีศีลธรรม, และไม่มีศาสนา”
อาจารย์ใช้มาตรฐานเด็กมหา’ลัย มาใช้เป็นมาตรฐานเด็กปฐม-มัธยม ไม่น่าใช่
ถ้าอาจารย์มีลูกแรกคลอด อาจารย์คงไม่ถามลูกก่อนกระมังว่า อยากกินนม หรือ อยากกินชานมไข่มุกกระมัง?
ฉันใด ก็ ฉันนั้น
มันใช่มั้ย มันถูกต้องตามวัยมั้ย ที่ครู/อาจารย์ต้องตามใจเด็ก ต้องถามนักเรียนก่อนว่า อยากเรียน/ไม่อยากเรียนอะไร?
และอ้อ….
หวังว่าอาจารย์คงไม่สวมชุดนอนหรือชุดชั้นในไปสอนนะ
“อจงจพพรงตปม”!
เปลว สีเงิน
๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๖